ในช่วงที่ผ่านมานี้ ทุกคนอาจจะคุ้นชินกับคำว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะ ผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบา ส่งผลต่อราคาของสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก
แทบจะเป็นปัจจัยหลักเวลาที่ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกขึ้นหรือลงในเวลานี้ ฉะนั้น ใคร ๆ ต่างก็พากันจับตาดูการประขุมของ Fed หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ในแต่ละเดือนนั่นเอง แล้วมันคืออะไร และมีความสำคัญยังไงในแต่ล่ะประเทศ
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร?
อัตราดอกเบี้ย คือ ต้นทุนที่ผู้กู้ต้องจ่ายเมื่อกู้เงิน หรือ ผลตอบแทนที่ผู้ฝากได้รับเมื่อฝากเงิน ซึ่ง “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” นั้นจะกำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ หรือ พูดให้เห็นภาพก็คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำของประเทศนั่นเอง
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอัตราที่ธนาคารกลาง จ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อไปยังอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไปนั่นเอง
การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลอย่างไร
โดยปกติเมื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ก็ปรับขึ้นตาม และ เมื่อปรับลด ก็จะปรับลดตามเช่นกัน
แต่การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้แต่ละครั้งไม่เท่ากับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เช่น ความต้องการเงินกู้, ปริมาณเงินฝาก, อัตราเงินเฟ้อ และ ต้นทุนดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น
การปรับอัตราดอกเบี้ยกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ผ่านการการใช้จ่ายของประชาชน ที่รับผลกระทบจากราคาของสินค้าหรือบริการ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลอย่างไรกับเรานั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็น “ผู้กู้เงิน” หรือ ”ผู้ฝากเงิน”
ถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น หากเราเป็นผู้กู้เงิน ดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้น แต่หากเราเป็นผู้ฝากเงิน เราจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากมากขึ้น
ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น เรามีแนวโน้มจะกู้เงินลดลง เพราะอัตราดอกเบี้ยแพงขึ้น นอกจากนี้ เรามีแนวโน้มจะฝากเงินมากขึ้น และจะนำเงินไปใช้จ่าย หรือลงทุนน้อยลง หากเราเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สิน เช่น หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้ความมั่งคั่งของเราลดลง เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นจะทำให้ประชาชนนำเงินบางส่วน กลับมามาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ดังนั้น อาจจะทำให้ราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ปรับลดลง ผู้ที่ถือครองสินทรัพย์จึงมีความมั่งคั่งลดลง และมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายลดลงด้วย
แต่ก็ไม่เสมอไปนะ เพราะ การปรับลดของราคาหุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ก็มีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณความต้องการ (Demand) และผลประกอบการของบริษัทมหาชนต่าง ๆ เป็นต้น
เมื่อคนต้องการใช้จ่ายลดลง ความต้องการสินค้าและะบริการก็จะลดลง ราคาสินค้าและบริการจะลดลงตาม นี่จึงเป็นการใช้นโยบายทางการเงินเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้
แต่ต้องอย่าลืมว่าถ้าจะใช้วิธีนี้ลดเงินเฟ้อ ต้นเหตุของเงินเฟ้อจะต้องมาจากความต้องการที่มากจนอุปทานมีไม่เพียงพอ หรือ Demand-Pull Inflation นั่นเอง
เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลงคนจะใช้จ่ายมากขึ้น ในทางกลับกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นคนจะใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งการใช้จ่ายของประชาชนจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ สะท้อนไปยังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ อัตราเงินเฟ้อ ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน
ดังนั้น หากเราต้องการให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย เราต้องประเมินว่าคนมีแนวโน้มจะใช้จ่ายเท่าไร การผลิตสินค้าและบริการมีแนวโน้มมากหรือน้อยกว่ากำลังการผลิต แล้วจึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสม
หากคนใช้จ่ายน้อยเกินไป ราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นน้อยหรือลดลง เศรษฐกิจจะชะลอตัวและการจ้างงานลดลง ในกรณีนี้ ธนาคารกลางอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
หากคนใช้จ่ายมากเกินไป ราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นสูงมาก เศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วและร้อนแรงเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เงินเฟ้อสูงขึ้นมากจนมูลค่าของเงินลดลง หรือเกิดวิกฤตฟองสบู่แตกทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็ว ในกรณีนี้ ธนาคารกลางอาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการใช้จ่าย ช่วยให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรงเกินไปได้
ประเทศมหาอำนาจปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีผลอย่างไร ?
กรณีที่อัตราเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง เป็นกรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักรเองก็ตาม
เมื่อประเทศพัฒนาแล้วปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากวิกฤตเงินเฟ้อ เงินทุนส่วนหนึ่ง ที่เคยไหลเข้ามายังประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เช่น ไทย ในช่วงโควิด-19 ที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะไหลกลับไปยังประเทศต้นทางอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็อาจจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP และตลาดทุนของประเทศนั้น ๆ พอสมควร หากประเทศนั้น ๆ ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้เป็นไปไปตามเทรด์เดียวกัน
แต่การปรับขึ้นนโยบายก็ใช่ว่าจะปรับขึ้นกันได้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะ การจะปรับดอกเบี้ยนโยบายก็ต้องดูด้วยว่าประเทศอยู่ในบริบทที่พร้อมหรือไม่ เพราะ หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นั่นหมายถึงการเพิ่มต้นทุนด้านการเงินให้กับทุกภาคส่วน
เพราะ ส่วนมากแล้ว ธุรกิจจะลงทุนก็คงมาลงทุนด้วยเงินกู้ นั่นจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นฟูไม่เต็มที่ และเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจที่เราต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจจะถูกดูดซับออกมาเนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร และเกิดความเสียหายจากตรงนี้ได้ หากเกิดการใช้นโยบายที่ไม่รอบคอบนั่นเอง
อ่านคำศัพท์การเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก!