GDP คืออะไร

GDP คืออะไร ? มีผลอะไรกับเศรษฐกิจประเทศไทย ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • GDP เป็นตัววัดภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ว่ามีการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่เท่าไหร่ ประเทศเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต
  • การที่ GDP เพิ่มขึ้นอาจจะมาจากการที่เราเป็นหนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน เมื่อเรากู้เงินมาบริโภคหรือลงทุนเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าก็จะทำให้ตัว C (Consumption) และ I (Investment) ที่เป็นส่วนประกอบหลักของ GDP ปรับตัวเพิ่มขึ้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ตัวเลข GDP เป็นคำที่พี่ทุยว่าเราต้องได้ยินผ่านหูกันมาบ้างล่ะ เพราะ เป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกใช้ และยอมรับกันมากที่สุด แล้วรู้กันหรือเปล่าว่า GDP คืออะไร ? ย่อมาจากอะไร แล้วทำไมเราต้องไปสนใจมันด้วย?

GDP คืออะไร ?

GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product หมายถึง ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ เป็นมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของประเทศนั้น ๆ ส่วนประกอบหลักประกอบมาจาก 5 ส่วน ก็คือ

(+) C (Consumption) คือ การบริโภคของภาคเอกชน เช่น การจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน
(+) I (Investment) คือ การลงทุนจากภาคเอกชนต่าง ๆ เช่น การสร้างอสังหาริมทรัพย์
(+) G (Government Spending) คือ การใช้จ่ายของรัฐบาลหรือการลงทุนจากภาครัฐ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
(+) X (Export) คือ การส่งออก เช่น การที่คนไทยส่งออกข้าวไปขายต่างประเทศ
(-) M (Import) คือ การนำเข้า เช่น การที่คนไทยนำเข้าสินค้าจีนมาขาย

"GDP" คืออะไร ?

สูตรคิดยังไง ?

นี่คือสมการของที่มาจากส่วนประกอบ 5 ส่วนด้านบนนั่นเอง

GDP = C + I +G + (X-M)

GDP มีผลอะไรกับเศรษฐกิจ ?

ความสัมพันธ์ของทั้ง 5 ตัวก็ตามเครื่องหมายด้านหน้าเลย ถ้ามีการบริโภคมากขึ้นก็จะทำให้ Gross Domestic Product ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ การลงทุนจากภาคเอกชน รวมไปถึงการใช้จ่ายจากภาครัฐและการส่งออก แต่ถ้ามีการนำเข้าที่เยอะก็จะทำให้ Gross Domestic Product ติดลบ

ซึ่งโดยทั่วไปถ้าเป็นบวก ก็คือการที่ GDP มีการเติบโตจากช่วงที่แล้วก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี หมายความว่าเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตมากขึ้น อย่างที่เรารู้กันว่าเวลาจะดูว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี พี่ทุยว่าเราจะดูแค่อย่างเดียวไม่ได้ มันจะเป็นแค่การดูแค่มิติเดียวมากเกินไป

เพราะการที่ GDP เพิ่มขึ้นอาจจะมาจากการที่เราเป็นหนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน เมื่อเรากู้เงินมาบริโภคหรือลงทุนเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าก็จะทำให้ตัว C (Consumption) และ I (Investment) ที่เป็นส่วนประกอบหลักของ GDP ปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาพที่เราเห็นก็จะเป็นภาพที่เศรษฐกิจโตขึ้นเพราะว่า GDP เป็นบวก

หรือถ้า GDP เป็นลบ แสดงถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวเลง มีเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศลดลง

Real GDP vs Nominal GDP

Nominal GDP และ Real GDP ทั้งคู่เป็นตัวเลขระบุมูลค่ารวมของสินค้าทั้งหมดที่ผลิตในประเทศในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม GDP ที่แท้จริง จะไม่รวมการเปลี่ยนแปลงของราคาเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ Nominal GDP จะรวมผลของเงินเฟ้อเข้าไปด้วย

ดังนั้น GDP ที่แท้จริง จึงต่ำกว่าตัวเลขที่ระบุเล็กน้อยเกือบทุกครั้ง ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ GDP ที่แท้จริง (และ GDP ที่แท้จริงต่อหัว) จะแสดงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่แม่นยำยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถเปรียบเทียบได้ง่ายกว่ากับตัวเลขในอดีต ดังนั้นเราจึงสามารถอนุมานได้ว่าประเทศจะดีขึ้นหรือแย่ลงทุกปี โดยปกติเมื่อจะใช้ตัวเลขแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลง GDP ต่อปี นักเศรษฐศาสตร์จึงมักใช้ Real GDP มากกว่า

GDP กับประเทศไทยเป็นอย่างไร ?

แต่ถ้าหันมามองในประเทศไทย ปัจจุบันการเก็บข้อมูลหลัก ๆ นั้นมาจากข้อมูลของสรรพากรเท่านั้น หรือการเรียกเก็บภาษีจากธุรกรรมต่าง ๆ ก็อย่างที่เรารู้กันว่าตอนนี้ระบบภาษีบ้านเรายังเก็บได้ไม่ทั่วถึงสักเท่าไหร่ อย่างพวกที่เป็นธุรกรรมเงินสดต่าง ๆ ก็ยังไม่มีการตรวจสอบแน่นอน ทำให้มูลค่าการซื้อเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกมาคำนวณรวม

ส่วนตัวพี่ทุยเชื่อว่าในอนาคตก็จะมีการพัฒนาระบบการเก็บภาษีไปมากขึ้นเรื่อย ๆ และข้อมูลของ GDP ก็จะสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้นเอง ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าประเทศเราจะมีวิวัฒนาการการเก็บภาษีเป็นอย่างไรบ้าง และถ้าเราถูกเรียกเก็บมากขึ้น พี่ทุยว่าก็อย่าโวยวายอะไรเพราะเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ดีที่ต้องทำ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่านักการเมืองหรือผู้มีอำนาจในบ้านเรานี่แหละ ที่จะเอาภาษีของเราไปใช้กับอะไรมากกว่า นั่นคือสิ่งที่เราควรจะตั้งคำถามและช่วยกันตรวจสอบนั่นเอง

ติดตามคำศัพท์การเงินอื่น ๆ ได้ที่นี่

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย