เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี 2567 ? พร้อมวิธีคำนวณภาษี

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • มนุษย์เงินเดือนที่เพิ่งจบใหม่นั้นอาจจะยังไม่มีโอกาสในการยื่นภาษี ทำให้หลายคนยังคงไม่เข้าใจว่าการยื่นภาษีต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่รู้ว่าควรเสียภาษีหรือยัง หรือว่าวิธีการคิดควรเริ่มต้นยังไง
  • วิธีการคำนวณเงินได้ขั้นต้น ตัวช่วยสำหรับมือใหม่ที่จะทำให้เข้าใจการคิดมากขึ้น เพราะการคำนวณเงินได้ คือ จุดเริ่มต้นในการวางแผนทุกอย่าง
  • บางคนรู้ว่าเรามีสิทธิในการลดหย่อนภาษี ก็รีบร้อนและพยายามจะใช้สิทธิประโยชน์เหล่านั้นทันที โดยที่จริง ๆ แล้วพวกเขายังไม่จำเป็นต้องใช้มันเลยด้วยซ้ำ เพราะเงินได้สุทธิยังไม่ถึงเกณฑ์

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ช่วงปลายปีแบบนี้ คำถามว่า  “เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี ?” คงเป็นคำถามยอดฮิตสำหรับใครหลายคน

“การวางแผนภาษี” หรือการเตรียมการเพื่อเสียภาษี ให้ถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับมือใหม่โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนจบใหม่ที่ต้องการวางแผนภาษีที่ดีนั้น พี่ทุยว่า เราควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้ และรู้จักใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่า

พี่ทุยเข้าใจดีว่า คนที่เพิ่งจะเริ่มต้นของการใช้ชีวิตการทำงานและแน่นอนว่ายังไม่เคยมีประสบการณ์การยื่นแบบเพื่อจ่ายภาษีมาก่อน อาจจะไม่เข้าใจถึงลักษณะและสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อน

แต่อาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าทำอันนั้นสิลดหย่อนภาษีได้นะ ทำอันนู้นสิช่วยให้ประหยัดภาษีได้ ซึ่งพี่ทุยเข้าใจว่าด้วยความที่ไม่รู้และได้ยินถึงการบอกเล่ามาทำให้บางคนตัดสินใจจ่ายเงินเพื่อให้ได้สิทธิในการลดหย่อน ทั้งที่จริง ๆ เมื่อคำนวณเงินได้สุทธิยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องใช้การลดหย่อนด้วยซ้ำไป

เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี ? 

เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษีเงินได้ เป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่ยังงุนงงสงสัย เพราะไม่เคยยื่นภาษีหรือทำความเข้าใจอย่างจริงจังมาก่อน เอาเป็นว่าไม่เป็นไร พี่ทุยอยู่ตรงนี้แล้ว จะช่วยสร้างความกระจ่างให้กับทุกคนเอง

พี่ทุยขออธิบายก่อนว่า “เงินได้” กับ “เงินได้สุทธิ” ไม่เหมือนกันนะ เพราะเงินได้ คือ ส่วนของรายได้ทั้งหมดที่เราได้รับตลอดปีที่ผ่านมา เช่น เงินเดือน เงินโบนัส เงินปันผลต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเรานั้นจะต้องทำการยื่นภาษีในช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคมของปีถัดไป เช่น เราต้องยื่นแบบแสดงภาษีภายในเดือนมีนาคม 2568 นั่นหมายความว่าเราจะคิดจากรายได้ทั้งหมดในปี 2567 แล้วค่อยนำมาหักค่าใช้จ่ายรวมถึงค่าลดหย่อนทีหลังจึงกลายเป็น “เงินได้สุทธิ”

ซึ่งบางคนคงอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า ถ้าเงินเดือนไม่ถึง 26,000 บาท ไม่เสียภาษีหรอก แล้วทำไมถึงต้อง 26,000 บาท จริง ๆ แล้วมันหมายถึงแค่ส่วนของเงินเดือนแค่นั้นใช่มั้ย ตามพี่ทุยมาพี่ทุยจะเล่าให้ฟังเอง

วิธีการคำนวณเงินได้ขั้นต้นสำหรับมือใหม่

ก่อนอื่นที่ต้องรู้เลย ก็คือ ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ใช้ในการคำนวณภาษีกำหนดว่า บุคคลที่มีเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี นั่นหมายความว่า บุคคลที่มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษี

สมการภาษี คือ “เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ”

พี่ทุยจะมาอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ

จากเงินได้สุทธิส่วนที่เกินมา 150,001 บาท ที่มาจากเงินได้ (เงินเดือน+เงินโบนัส+เงินได้อื่น ๆ)
นั้นถูกหักในส่วนของค่าใช้จ่ายส่วนตัวมา            100,000  บาท
หักค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก                                     60,000   บาท
และหักเงินสะสมกองทุนประกันสังคมอีก              9,000     บาท

นั่นคือรายได้จริงจำนวน 150,001+100,000+60,000+9,000 = 319,001 บาท เอา 319,001 หาร 12 เดือนได้ประมาณ 26,583 บาท

ซึ่งหมายความว่า คนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 26,583 บาท (ไม่รวมโบนัส) จะไม่ต้องเสียภาษี เพราะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ (แต่ยังต้องยื่นภาษีนะ!)

แต่ถ้าหากเรามีรายได้จากส่วนอื่นร่วมด้วย ทั้งเดือนเงิน เงินโบนัส และเงินได้อื่น ๆ รวม 319,001 บาทขึ้นไปถึงจะต้องเสียภาษีนะ เพราะสิ่งที่เราต้องยื่นภาษีและเสียภาษี ไม่ใช่แค่เฉพาะเงินเดือนประจำ แต่เป็นรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีนั้นนั่นเอง

ซึ่งการเป็นมนุษย์เงินเดือน ฝ่ายบุคคลจะช่วยอำนวยความสะดวกในการกรอกข้อมูลรายได้ในเบื้องต้น การจัดการกับเงินได้จากบริษัทจึงไม่ยากนัก เพียงแต่เราต้องมีหน้าที่ในการเพิ่มเติมในรายละเอียดอื่น ๆ เช่น เงินได้จากช่องทางอื่นที่บริษัทไม่ได้รับรู้ หรือการลดหย่อนอื่น ๆ นอกจากเงินประกันสังคมที่ถูกหักไปในแต่ละเดือน

สรุปแล้ว เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี ? 

สรุปแล้ว หากมีเงินเดือนเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 26,583 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องยื่นภาษีนะ

เมื่อไหร่ ต้องยื่นเสียภาษี

สรรพากรกำหนดไว้ว่า หากบุคคลใดมีรายได้ ตามมาตรา 40(1) รวมทั้งหมดไม่เกิน 120,000 บาทต่อปี ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ เท่ากับว่าถ้าเงินเดือนเราไม่ถึง 10,000 บาท ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นแบบภาษีเลย แต่ต้องเช็กดี ๆ ว่าเราไม่ได้มีรายได้จากทางอื่นด้วยนะ

ส่วนพวกเงินปันผล เงินจากดอกเบี้ย ถ้าเราเสียภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องนำเงินส่วนนั้นมาแสดงในรายการภาษีอีก

อย่ารีบร้อนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีทันที

อย่างที่พี่ทุยบอกไปแล้วว่าเงินได้ต่อปี 319,001 บาทขึ้นไปค่อยคิดถึงเรื่องการลดหย่อนอื่น ๆ แต่บางคนมักจะสนใจสิทธิการลดหย่อนภาษี ทั้งที่ไม่รู้ว่าต้องใช้หรือเปล่า แม้ว่าจะมีสิทธิในการลดหย่อนเพื่อช่วยลดภาระทางภาษีต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน

แต่ที่พี่ทุยจะพูดถึงในที่นี้จะเป็นการลดหย่อนอื่น ๆ ที่เพิ่มเติมตามนโยบายของรัฐ เช่น โครงการช้อปดีมีคืน รวมทั้งการลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษี SSF และการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือน้องใหม่อย่าง ThaiESG เพราะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้ลดหย่อนกัน

พี่ทุยว่าของบางอย่างถ้าทำแล้วช่วยให้เราได้ประโยชน์มากขึ้นก็ควรทำ เช่น การใช้จ่ายที่ช่วยลดหย่อน พี่ทุยแนะนำนะ แต่ถ้าเรายังไม่ได้สิทธิประโยชน์จากมันจริง ๆ พี่ทุยว่าอาจจะทำให้เราเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์มากกว่า แถมยังพ่วงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เราไม่ได้วางแผนเอาไว้ด้วย เช่น ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืนนั้น สิทธิประโยชน์นี้ไม่ได้รวมถึงค่าเดินทาง เช่น ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าเครื่องบิน ที่เราต้องจ่ายเพิ่มแต่อย่างใด เห็นไหมล่ะ ถ้ายิ่งเราไม่ได้ใช้ลดหย่อนด้วยแล้วยิ่งมีแต่จ่ายกับจ่ายนะ

สำหรับการลงทุนในกองทุน SSF และ RMF พี่ทุยว่าดีนะ ถ้าไม่ใช่แค่การเพิ่มสิทธิในการลดหย่อนเพียงอย่างเดียวแต่เพื่อสร้างเงินออมสำหรับใช้ยามเกษียณอายุ แต่พี่ทุยว่าถ้าจริง ๆ แล้วเงินได้ยังไม่ถึง 319,001 บาท ก็ยังไม่ต้องใช้การลดหย่อนเพื่อลดภาระภาษี ดังนั้นพี่ทุยแนะนำว่าควรที่จะนำเงินในส่วนนั้นไปลงทุนอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่งอกเงยเพื่อใช้ประโยชน์จากเงินก้อนนั้นมากที่สุด

ภาษีเป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้นพี่ทุยว่าเราควรทำความเข้าใจในเบื้องต้นเพื่อจะรู้ว่าเราถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีหรือยังตั้งแต่ต้นปี แล้วถึงค่อยคิดถึงการลดหย่อนภาษี พี่ทุยว่าเราควรจะพิจารณาให้ดีก่อนนะ ไม่ใช่ว่าเอะอะรีบใช้เงินเพื่อจะรับสิทธิในการลดหย่อนภาษี ทั้งที่จริงแล้วเราอาจจะยังไม่ต้องใช้และไม่ได้ช่วยให้เราประหยัดภาษีมากขึ้นเลย กลับกลายเป็นว่าเรานั้นสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้และผลตอบแทนที่มากขึ้นซะมากกว่า

อ่านเพิ่มเติม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile