ก่อนที่พี่ทุยจะพาไปรู้จักกับ “Block Trade” พี่ทุยเชื่อว่านักลงทุนหุ้นน่าจะพอรู้อยู่แล้วว่า ตลาดหุ้นบ้านเรายังมีเครื่องไม้เครื่องมือทางการเงินอีกมากมาย ให้นักลงทุนได้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น การยืมและการให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) ซึ่งทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ในทุกสภาวะตลาด ไม่ว่าตลาดจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง http://mirziamov.ru/zaym-bez-otkaza/
หรือสำหรับนักลงทุนบางคน ที่อาจจะชอบความท้าทาย และต้องการได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในหุ้น ก็อาจตัดสินใจเลือกลงทุนในตลาด “อนุพันธ์” ประเภทต่าง ๆ อย่าง Single Stock Future (SSF) แทน เนื่องจากเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นด้วยจำนวนเงินเท่ากัน สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าหลายเท่าตัว
ซึ่งการลงทุนใน Single Stock Future ในปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดหลักเรื่อง “สภาพคล่องที่ต่ำ” ทำให้นักลงทุนที่มีเงินเยอะหน่อยใช้สินค้าตัวนี้ไม่ถนัดมือมากนัก เหล่าบริษัทหลักทรัพย์จึงมองเห็นปัญหา และได้มีเริ่มมีการให้บริการที่เรียกว่า “Block Trade” (บล็อกเทรด) ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสภาพคล่องดังกล่าวให้กับลูกค้า
วันนี้พี่ทุยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับธุรกรรม บล็อกเทรด ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน ว่ามันคืออะไร และมีความสัมพันธ์อย่างไรกับตลาดหุ้นโดยภาพรวมบ้าง
“Block Trade” คืออะไร ?
บล็อกเทรด เป็นหนึ่งในบริการที่บริษัทหลักทรัพย์จัดทำให้กับลูกค้าที่มีความต้องการลงทุนใน Single Stock Future (SSF) ซึ่งมีสภาพคล่องต่ำในตลาด โดยเข้ามาเป็นคู่สัญญาอีกฝั่งให้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดมากขึ้น
สำหรับใครที่สงสัยว่า Single Stock Future หรือที่พี่ทุยวงเล็บไว้ด้านหลังว่า SSF ตัวนี้เป็นอันเดียวกันกับ SSF ที่ใช้ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีหรือเปล่า พี่ทุยขอบอกก่อนเลยนะว่าเป็นคนละตัวกัน
พี่ทุยขอยกตัวอย่าง สมมติว่าถ้ามีคนต้อง เปิดสถานะซื้อ Long Position Single Stock Future สัก 100 สัญญาในตลาด TFEX แต่ในวันนั้น มีคนเปิดขายเพียง 2 สัญญา แปลว่าธุรกรรมนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ในแง่นักลงทุนก็ไม่สามารถลงทุนได้ตามที่ตัวเองต้องการ และทางโบรกเกอร์ทั้งหลายก็จะไม่ได้ “ค่าธรรมเนียม” ในการซื้อขาย
ทางโบรกเกอร์ก็เลยทำการขาย 100 สัญญาตามที่นักลงทุนต้องการ ซึ่งตรงนี้พี่ทุยต้องบอกก่อนว่าโดยปกติแล้ว โบรกเกอร์จะได้รับเงินจาก “ค่าธรรมเนียม” เป็นหลัก ไม่ใช่การเก็งกำไรหรือลงทุนเพื่อให้มีรายได้ อย่างกรณีนี้ถ้าหุ้นตัวที่อ้างอิงราคากับ Single Stock Future ขึ้นโบรกเกอร์จะขาดทุนทันที แต่ถ้าหุ้นราคาลงโบรกก็จะกำไร ดังนั้น โบรกเกอร์จึงทำการเข้าซื้อหุ้นในกระดานจริง ๆ ในปริมาณเดียวกับจำนวนหุ้นที่ Single Stock Future อ้างอิง
ในกรณีที่หุ้นขึ้น โบรกเกอร์จะ “ขาดทุน” จาก Single Stock Future แต่จะได้ “กำไร” จากหุ้นที่เข้าซื้อจะชดเชยกันพอดี
ในทางกลับกันกรณีที่หุ้นลงโบรกเกอร์จะ “กำไร” จาก Single Stock Future แต่จะได้ “ขาดทุน” จากหุ้นที่เข้าซื้อแทน การทำในรูปแบบจะถูกเรียกว่า บล็อกเทรด
Block Trade มีข้อดีอย่างไร ?
จุดเด่นที่ทำให้บล็อกเทรดถูกคิดค้นขึ้นมา เพราะเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับการซื้อขาย Single Stock Future (SSF) ที่ปกติจะมีสภาพคล่องที่ต่ำ ซึ่งทำให้เกิดการซื้อขายในตลาดได้ดีมากขึ้น นักลงทุนก็สามารถวางกลยุทธ์การลงทุนได้ง่ายขึ้น
ทำไมนักลงทุนจึงหันมาลงทุนผ่าน บล็อกเทรด มากขึ้น ?
1. บล็อกเทรด คือ การลงทุนใน Futures อย่างหนึ่ง
จึงทำให้มีเรื่องของ “อัตราทด (Leverage Ratio)” ก็คือ เครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการลงทุนให้สูงขึ้น ช่วยทำให้เราได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น (ซึ่งก็รวมถึงผลขาดทุนที่อาจมากขึ้นด้วยเช่นกัน) จึงดึงดูดให้นักลงทุนที่ชื่นชอบในความเสี่ยง หันมาลงทุนมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม
2. บล็อกเทรดสามารถทำกำไรในช่วงที่ราคาสินทรัพย์อ้างอิงอยู่ในขาลงได้ง่าย
ไม่เหมือนกับธุรกรรมการยืมและให้ยืมหุ้น (SBL) ซึ่งจะค่อนข้างยุ่งยากกว่า เพียงแค่นักลงทุนเปิดสถานะฝั่งขาย (Short Position) ก็สามารถทำกำไรได้ หากหุ้นที่นักลงทุนคาดการณ์เอาไว้ปรับตัวลง
3. บล็อกเทรดช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาด
ในกรณีลงทุนในหุ้นด้วยเงินจำนวนมาก เนื่องจากราคาจะไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ได้ต้นทุนจากการลงทุนที่สูงขึ้น แต่ถ้าลงทุนใน Single Stock Futures (SSF) ผ่านบล็อกเทรดจะทำให้ได้ต้นทุนตามที่คาดหวัง เนื่องจากโบรกเกอร์จะเป็นผู้คำนวนต้นทุนก่อนทำธุรกรรม และทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ตามความต้องการอย่างครบถ้วน
“บล็อกเทรด” กับ “ตลาดหุ้น” มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ?
อันนี้พี่ทุยตอบได้เลยว่ามีผลอย่างแน่นอน เพราะอย่างที่เราเห็นเลยว่าการทำบล็อกเทรดจะทำให้เกิดความต้องการซื้อหรือขายในกระดานหุ้นจริง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าหากมีนักลงทุนต้องการเก็งกำไรในตลาด SSF มากขึ้น (คนละ SSF กับตัวที่ไว้ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีนะ พี่ทุยขอย้ำอีกทีนึง) ก็ย่อมต้องมีความต้องซื้อและขายหุ้นตัวนั้น ๆ ผ่าน Block Trade มากขึ้น ทำให้เกิดความผันผวนด้านราคาอย่างชัดเจน
แต่ด้วย Single Stock Future มีอายุของสัญญาที่จำกัด แปลว่าเมื่อถึงเวลานึงสัญญาหมดอายุ นักลงทุนก็จำเป็นจะต้องปิดสัญญา และเมื่อปิดสัญญาก็จะมีแรงซื้อหรือขายกลับเข้ามาที่ตลาดอีกครั้ง
พี่ทุยเลยลองเอาข้อมูลในอดีต 3 ปีย้อนหลังของปริมาณการซื้อขายหุ้นใน SET100 เนื่องจากเป็นดัชนีที่มี Single Stock Future อยู่มาก มาเปรียบเทียบกับปริมาณการทำบล็อกเทรด 3 ปี ย้อนหลัง เนื่องจาก 1 สัญญาที่เกิดขึ้นในบล็อกเทรดจะประมาณการณ์ได้ว่าโบรกเกอร์จะเข้าทำการซื้อขายหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น ซึ่งจะสามารถสรุปเป็นตารางด้านบน
เราจะเห็นเลยว่ามูลค่าการซื้อขายหุ้นที่เราเห็นอยู่ในแต่ละปีนั้น เป็นคำสั่งซื้อจากบล็อกเทรดอยู่เฉลี่ยประมาณ 8% จากปริมาณการซื้อขายโดยรวมในแต่ละวัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่พี่ทุยมองว่าค่อนข้างมีผลกระทบอยู่พอสมควร
สรุปแล้วบล็อกเทรดเป็นเสมือนเครื่องมือที่ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการลงทุนให้มีความสะดวก และเพิ่มช่องทางในการบริหารพอร์ตการลงทุนที่สำคัญต่อนักลงทุนในยุคสมัยนี้ แต่ด้วยความยอดเยี่ยมของมันในฐานะของ “เครื่องมือ” ก็ย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดตามมาเช่นกัน
ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจลงทุนในบล็อกเทรดหรือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในตลาดทุน ควรที่จะทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นหนึ่งในทางเลือกในการกำหนดกลยุทธ์และตัดสินใจลงทุนได้แม่นยำมากขึ้น