ก่อนทำประกันชีวิตทุกครั้งสิ่งแรกที่เราควรรู้ก่อนคือ ประกันชีวิตมีกี่แบบ กันแน่? เพราะถ้าเราเลือกประกันชีวิตผิดแบบ พี่ทุยบอกได้เลยว่าโอกาสที่เราจะทำให้เป้าหมายการเงินของเราให้สำเร็จจะเป็นได้ยากมากขึ้น หรืออาจจะเสียเงินไปเปล่า ๆ เลย เรามาดูกันดีกว่าประกันชีวิตจริง ๆ มีกี่แบบ
ประกันชีวิตมีกี่แบบ ?
ประกันชีวิตมีหลากหลายแบบให้เลือก และก่อนซื้อประกันชีวิตต้องสำรวจตัวเราก่อนด้วย ว่าเราเหมาะกับประกันชีวิตประเภทไหน
1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
ประกันชีวิตแบบนี้จะเป็นแบบที่เหมือนกับประกันภัย ก็คือเป็นเบี้ยจ่ายทิ้ง สมมติว่าเราต้องการความคุ้มครอง 1,000,000 บาท 3 ปี เราก็จ่ายเบี้ยประกันครั้งเดียว แล้วถ้าเราเป็นอะไรไปในชั่วระยะเวลา 3 ปีนั้น คนข้างหลังเราจะได้เงินสดไปเลย 1,000,000 บาท แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นอะไรไปในช่วง 3 ปี เราก็จะไม่ได้เงินคืนใด ๆ ประกันชีวิตแบบนี้จะเป็นแบบที่เอาไว้บริหารความเสี่ยงเท่านั้น เพราะเป็นเบี้ยจ่ายทิ้ง จะจ่ายเฉพาะส่วนความคุ้มครอง ทำให้เบี้ยประกันจะค่อนข้างถูกกว่าแบบอื่น ๆ
2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
ประกันชีวิตแบบนี้จะเป็นแบบที่เราจ่ายเบี้ยไปสักระยะหนึ่ง เช่น 10 ปี 20 ปี แล้วเราจะได้ทุนประกันไปตลอดชีวิตของเราเลย บางแบบอาจจะจบเมื่อเราอายุ 85 ปี หรือ 99 ปี เราก็จะได้ทุนประกันกลับมาใช้เลย แต่พี่ทุยว่าจุดประสงค์ของการทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ มีไว้เพื่อเป็นมรดก หรือ เอาไว้สำหรับคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เอาไว้บริหารความเสี่ยงและไม่อยากรู้สึกว่าจ่ายเงินทิ้งเปล่า เบี้ยแพงกว่าแบบชั่วระยะเวลาเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่าถูก ทำให้ประกันชีวิตแบบตลอดชีพก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะคุ้มครองได้ยาวเท่าชีวิตเราเลย
3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์น่าจะเป็นแบบประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นแบบประกันชีวิตที่จ่ายเบี้ยประกันแล้วจะได้รับเงินคืนมากกว่าเบี้ยที่จ่ายไป ประกันชีวิตแบบนี้ถึงได้ชื่อว่าแบบสะสมทรัพย์ โดยทั่วไปแบบประกันแบบนี้เราจะรู้ล่วงหน้าชัดเจนเลยว่าเราต้องจ่ายเบี้ยทั้งหมดกี่ปี แล้วเราจะได้เงินสดปีไหนบ้าง
แต่พี่ทุยจะเตือนว่าผลตอบแทนจากประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้นจะอยู่แถวๆประมาณ 2-4% ต่อปีเท่านั้น ถ้าเกิดถูกใครเสนอขายหรือชักชวนทำประกันด้วยผลตอบแทนที่มากกว่านี้ พี่ทุยว่าเราต้องตรวจสอบให้ดีก่อนทำทุกครั้งเพื่อความมั่นใจ
4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ
ประกันชีวิตแบบบำนาญถูกออกแบบมาเพื่อบริหารความเสี่ยงเรื่องเงินไม่พอใช้ยามเกษียณ ประกันชีวิตแบบบำนาญจะให้เราจ่ายเบี้ยไปจนถึงอายุเกษียณ เช่น 55 ปี หรือ 60 ปี แล้วหลังจากนั้นเราก็จะได้เงินใช้ในแต่ปีไปเรื่อย ๆ จนเสียชีวิต หรือ ตามอายุที่ตกลงกัน พี่ทุยต้องบอกก่อนว่าแม้ประกันชีวิตแบบบำนาญเมื่อดูเรื่องของผลตอบแทนก็ไม่ได้เยอะอะไรมากมาย แต่ว่าประกันชีวิตแบบบำนาญเป็นเครื่องมือการเงินตัวหนึ่งที่ใช้ในยามเกษียณได้ดี เพราะว่าเราไม่ได้ถอนเงินออกมาก่อนได้ นั่นคือประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของคนที่ทำประกันชีวิตแบบบำนาญ
แต่จริง ๆ แล้วนอกจากประกันชีวิต 4 แบบนี้ยังมีประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซล (Universal) กับ ประกันชีวิตแบบยูนิตลิ้งค์ (United linked) ด้วย นอกจากประเภทของประกันที่เราต้องรู้ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นสิ่งที่ต้องรู้การก่อนซื้อประกันอีกเช่นกันที่พี่ทุยเคยเขียนแนะนำกันเอาไว้ บทความถัด ๆ ไปพี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังว่า ประกันชีวิตสองแบบนี้เป็นอย่างไรแล้วต่างจากประกันชีวิตแบบทั่วไปยังไง พี่ทุยบอกได้เลยว่าน่าสนใจและไม่ธรรมดาแน่นอน
5. ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit Linked)
ประกันชีวิตควบการลงทุน เป็นรูปแบบกรมธรรม์แบบใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันสามารถนำเงินจ่ายประกัน ไปใช้บริหารความเสี่ยง พร้อมๆ กับการสร้างโอกาสในการลงทุน เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ
กลไกของ Unit Linked สามารถตอบโจทย์ความต้องการสะสมความมั่งคั่งผ่านทางการเลือกลงทุนในกองทุนรวม ที่ดูแลโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อหาผลตอบแทนเพิ่มเติมตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ และยังสามารถตอบโจทย์ในด้านการคุ้มครองชีวิตของบุคคลที่อยู่ในความดูแลของเรา ผ่านทางสินไหมทดแทนที่จะได้รับในกรณีเสียชีวิตได้ด้วย
อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ เช่น เพิ่มหรือลดทุนประกัน ให้สอดคล้องกับความจำเป็นในชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม กรมธรรม์แบบนี้ไม่มีการรับประกันมูลค่ากรมธรรม์ (ไม่การันตีผลตอบแทน) เนื่องจากมูลค่ากรมธรรม์ขึ้นอยู่กับมูลค่าหน่วยลงทุน โดยอาจสูงขึ้นหรือต่ำลงตามผลประกอบการของกองทุนรวม
พี่ทุยต้องบอกตรงนี้ก่อนว่า ประกันแบบนี้เหมาะกับคนที่มีความเข้าใจในการลงทุน ที่ต้องการจะสะสมความมั่งคั่ง และในขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะจัดเตรียมเงินสำรองไว้ให้ผู้ที่อยู่ในความดูแลหากเสียชีวิตไปพร้อม ๆ กัน ฉะนั้นการทำประกันในลักษณะนี้ จะต้องศึกษาข้อมูลกองทุนก่อนที่จะซื้อประกันด้วย เพราะ เราต้องรู้ว่าเงินของเรากำลังจะไปลงทุนที่ไหน ลักษณะกองทุนเป็นอย่างไหร และมีความเสี่ยงระดับไหนนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า ประกันชีวิตแต่ละแบบมีข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละคนก็มีความต้องการประกันในแบบที่ต่างกัน ดังนั้นจึงควรพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตให้เหมาะสมกับตัวเองทั้งในแง่ความจำเป็น ความเสี่ยงภัย และความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน
เงื่อนไขลดหย่อนภาษี
ต้องย้ำว่าไม่ใช่ประกันทุกประเภท จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ โดยประกันที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ก็คือ
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพและประกันแบบสะสมทรัพย์ สามารถลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง สูงสุด 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพตัวเอง สามารถลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุด 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพบิดามารดา สามารถลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง สูงสุด 15,000 บาท
- ประกันชีวิตชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมลดหย่อนภาษีหมวดการเกษียณอายุทั้งหมด (กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน / กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF / กองทุนการออมแห่งชาติ กอช. และกองทุนรวมเพื่อการออม SSF) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
อ่านเพิ่มเติม