รู้หรือไม่ เกลือ เคยเป็น สินทรัพย์ทางการเงินมาก่อน

รู้หรือไม่ เกลือ เคยเป็น สินทรัพย์ทางการเงินมาก่อน

4 min read  

ฉบับย่อ

  • มนุษย์รู้จักเกลือมาแล้วกว่า 6,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์โบราณเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่เริ่มนำเกลือมาใช้ในชีวิตประจำวัน
  • ในยุคโบราณเกลือไม่ใช่เพียงแต่เป็นเครื่องปรุงพื้นฐานเท่านั้น  แต่ยังเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนแรงงานทาสอีกด้วย
  • ทหารของกองทัพโรมันได้รับเกลือเป็นค้าจ้างรายเดือน ซึ่งเรียกว่า “salarium” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า “Salt” และเป็นกลายเป็นที่มาของคำว่า “Salary” ที่แปลว่า เงินเดือน
  • ช่วงศตวรรษที่ 16-19 เกลือจึงเป็นสินค้ามีมูลค่ามาก เพราะภาษีเกลือเป็นสิ่งที่สร้างความมั่งคั่งของรัฐในยุคล่าอาณานิคม 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

พี่ทุยขอกล่าวว่า เกลือ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของประวัติศาสตร์โลก มนุษยชาติรู้จักเกลือมาแล้วกว่า 6,000 ปีก่อนคริสตกาล และเกลือได้ผสมผสานเข้ากับเรื่องราวของอารยธรรมของโลกตั้งแต่ยุคโบราณ และเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนของสังคมอยู่ช่วงหนึ่ง ประวัติศาสตร์ของเกลือกับมนุษย์จะเป็นอย่างไร น่าตื่นเต้นเพียงไหน พี่ทุยจะนำมาเล่าในฟัง

เกลือ กับชีวิตมนุษย์อียิปต์ยุคโบราณ

บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมอียิปต์โบราณนั้น แวดล้อมไปด้วยเกลือจำนวนมาก ทำให้ชาวอียิปต์โบราณอาจค้นพบเกลือบริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำไนล์ไหลลงทะเลและเป็นแหล่งชุมชนของชาวอียิปโบราณ เกลือเกิดจากการที่น้ำทะเลระเหยแล้วแร่ธาตุโซเดียมตกผลึกเป็นก้อนเกลือ 

ชาวอียิปต์โบราณบริโภคเกลือโดยใช้เกลือเป็นเครื่องปรุงในการปรุงรสอาหารให้มีรสเค็ม นอกจากนี้ยังใช้เกลือจำนวนมากในการถนอมอาหารอย่างปลาอีกด้วย เพราะในอดีตไม่มีตู้เย็น หรือตู้แช่สำหรับเก็บอาหารสดเหมือนในปัจจุบัน ชาวอียิปต์ไม่เพียงแต่ใช้เกลือในการปรุงอาหาร และถนอมอาหาร เกลือยังถูกใช้สำหรับเป็นผงซักฟอกในการซักผ้าและใช้เป็นยาสีฟันอีกด้วย 

เกลือยังมีความสำคัญแม้กระทั่งในเรื่องศาสนาและความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณ พี่ทุยว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักมัมมี่ ซึ่งมัมมี่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ที่ชาวอียิปต์เชื่อและถ่ายทอดหลายต่อหลายรุ่น 

ในหลุมศพของชาวอียิปต์หลายหลุมสพมีการค้นพบเกลืออยู่ด้วย ซึ่งมีการสัญนิษฐานว่า เกลือน่าจะเป็นเครื่องเซ่นไหว้หรือไม่ก็เป็นสิ่งของจำเป็นสำหรับให้คนตายได้ใช้ในโลกหน้าที่เรียกว่า โลกหลังความตายของชาวอียิปต์

2500 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนการสร้างมหาพีระมิดแห่งกิซ่า ชาวอียิปต์นำความรู้ การถนอมอาหารด้วยเกลือ มาประยุกต์ใช้ในการทำมัมมี่อีกด้วย ขั้นตอนในการทำมัมมี่ ต้องใช้เกลือจำนวนมากในการล้างศพให้สะอาดพอที่จะไม่ให้เชื้อแบคทีเรียกัดกินศพจนเปื่อยเน่าได้และหลังจากนั้นก็ใช้เกลืออีกจำนวนมากในการหมักแห้ง ซึ่งเป็นการถนอมสภาพของศพ

ซึ่งตรงนี้พี่ทุยคิดเล่น ๆ ว่าตระกูลที่มีการทำมัมมี่ต้องเป็นตระกูลที่ร่ำรวยมาก ๆ ไม่ก็เป็นตระกูลที่สำคัญมาก ๆ เพราะการทำมัมมี่ต้องใช้เกลือมาก และการที่จะหาเกลือมาได้เยอะ ๆ นั้นคนธรรมดาไม่สามารถที่จะทำได้ในยุคนั้น และนี่เป็นเหตุให้เราพบเห็นแต่มัมมี่ของฟาโรห์ในสุสานใหญ่ ๆ มากกว่ามัมมี่ของคนธรรมดา

ชาวกรีกโบราณกับ เกลือ

1,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกรีกบริโภคเกลือเป็นเครื่องปรุงพื้นฐานเหมือนกับชาวอียิปต์ ส่วนบริเวณที่ชาวกรีกค้นพบเกลือนั้นคาดว่าเป็นบริเวณรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ชาวกรีกนิยมใช้เกลือเป็นวัตุดิบกันบูดสำหรับเนื้อสัตว์และสิ่งที่น่าสนใจคือชาวกรีกซื้อขายปลาเกลือและเกลือเป็นจำนวนมากกับชาวฟินีเซียนและชาวอียิปต์มีเส้นทางการค้าสำคัญบริเวณเส้นทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

เฮโรโดัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกกล่าวถึงเส้นทางการค้าเกลือที่สำคัญ เส้นทางหนึ่ง ที่รวมเอาพื้นที่ผลิตเกลือกลางทะเลทรายลิเบียเข้าด้วยกัน (โอเอซิสเกลือ) ทำให้เกลือแถบทะเลทรายลิเบียนั้นหายากขึ้นเพราะมีเจ้าเดียวจึงมีมูลค่าของเกลือเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้พ่อค้าทาสชาวกรีกนิยมใช้เกลือแลกกับทาส ซึ่งทาสที่มีร่างกายกำยำแข็งแรงก็จะแลกกับเกลือได้ปริมาณมาก ส่วนทาสที่ร่างกายซูบผอมมีเรี่ยวแรงน้อยก็แลกกับเกลือได้ ในปริมาณน้อย จนทำให้เกิดสำนวนที่ว่า “worth his salt ซึ่งหมายถึง คุ้มค่าเกลือที่เสียไป” และนอกจากนี้เกลือยังเป็นค่าจ้างของทหารอีกด้วย

เกลือ ที่มาของคำว่า Salary

ในสมัยโรมันและจนถึงยุคกลาง เกลือเป็นสินค้าที่มีค่าและถูกเรียกอีกอย่างว่า “ทองคำขาว” เกลือได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเพื่อใช้เก็บรักษาอาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และปลา เรียกได้ว่าอุปสงค์ของเกลือนั้นมีมากกว่าอุปทานจนทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น

600 ปีก่อนคริสตกาล ช่วงกองทัพโรมัน บางครั้งทหารในกองทัพโรมันก็ได้รับเกลือ แทนเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงรายเดือนของพวกเขา เรียกว่า “salarium” ซึ่งเป็นคำภาษาละตินมีรากศัพท์ จากคำว่า salt ที่แปลว่า เกลือ นั่นเอง ข้อมูลตรงนี้ที่พี่ทุยไปศึกษามาบอกได้เลยว่าทึ่งมาก ๆ ไม่น่าเชื่อว่าก่อนหน้านี้มนุษย์เคยได้เกลือแกงเป็นค่าจ้าง ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นเงินจริง ๆ 

อย่างไรก็ดียังมีนักวิชาการส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เชื่อว่าทหารโรมันนั้นได้รับเบี้ยเลี้ยงเป็นเกลือจริง ๆ หรอกนะ แต่น่าจะได้รับเงินแล้วนำไปซื้อเกลืออีกที

และสิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างของเกลือ คือในอิตาลี มีถนนที่ชื่อว่า Via Salaria ที่ทอดยาวจากกรุงโรม จากประตู Porta Salaria ถึง Castrum Truentinum ไปยังชายฝั่ง Adriatic จะเห็นว่ามีคำว่าเกลืออยู่ในชื่อของถนนด้วย เกลือจึงมีความสำคัญกับโรมันมากถึงกับมีการนำเอามาตั้งเป็นชื่อถนนเส้นด้วย

สงสัยเหมือนกับพี่ทุยไหมว่าเมื่อเราความต้องการที่จะใช้เกลือมีมากขึ้นเรื่อย ๆ มนุษย์จะผลิตเกลืออย่างไรให้เพียงพอต่อความต้องการ 

การผลิตเกลือโดยการต้มน้ำทะเลให้ระเหยแล้วรอผลึกเกลือเป็นวิธีแบบเดิมนั้นผลิตได้ช้าและได้ปริมาณน้อย เมื่อความต้องการเกลือมีมากแต่การผลิตทำได้น้อยทำให้เกลือขาดตลาด และราคาของเกลือสูงขึ้น เพื่อให้การผลิตเกลือเพียงพอจึงได้มีการขุดบ่อน้ำเกลือขึ้นแห่งแรกเมื่อ 200 ปีก่อนคริสตกาล

ต่อมาในปีคริสต์ศักราช 200 บ่อเกลือที่ถูกขุดขึ้นนั้นกลับมีก๊าซธรรมชาติออกมาด้วยและก๊าซธรรมชาตินั้นถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ทำทำความร้อนให้กะทะสำหรับต้มน้ำทะเลให้ระเหยเร็วขึ้นซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ผลิตเกลือได้เร็วขึ้น ทำให้เกลือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่รายได้ดี

ภาษีเกลือที่รัฐบาลต่างแย่งชิง

100 ก่อนคริสต์ศักราช เกลือกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ร้อนแรงในจีนแผ่นดินใหญ่ จนกระทั่งผู้นำของจีนได้เข้าควบคุมการค้าเกลือด้วยตนเอง เกลือมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของจีนมาก ในประวัติศาสตร์ของจีนมีจักรพรรดิพระองค์หนึ่งได้เรียกประชุมสภาเพื่อหารือ เกี่ยวกับการผูกขาดสินค้าเกลือ

การประชุมถูกบันทึกไว้ใน Discourse on Salt and Iron ซึ่งมีชื่อเสียงในช่วงราชวงศ์ถัง รายละเอียดในบันทึกกล่าวถึงรายได้ครึ่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนเก็บได้นั้นมาจากภาษีเกลือ และหลักฐานจากบันทึกนั้นนับเป็นหลักฐานที่ระบุบถึงการเก็บภาษีเกลือครั้งแรกของโลกอีกด้วย รายได้จากเกลืออย่างมหาศาลเช่นนี้ทำให้เกลือถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในฐานะสินทรัพย์สร้างรายได้

แม้แต่ในยุโรปเหนือเองเช่นกันเกลือผลิตได้จำนวนมากขึ้นและรวดเร็วขึ้นเพียงพอต่อ ความต้องการของมนุษย์ ด้วยการผลิตระบบเหมืองเกลือ ซึ่งเหมืองเกลือในยุโรปตั้งอยู่นอกเมือง ซอลเบอร์ก (Salzburg) บริเวณภูเขาของประเทศออสเตรียมีชาวพื้นเมืองเชื้อสายเซลติก เป็นแรงงานของเหมืองเกลือ

นักขุดเหมืองชาวเซลติกในออสเตรีย ทำการค้าเกลือทั่วจักรวรรดิโรมันและที่อื่น ๆ รวมถึงในอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน แอฟริกาเหนือ และตุรกี ความสำคัญของเกลือทำให้ชาวเซลติก ตั้งชื่อเมืองว่า Salzburg ซึ่ง Salz แปลว่า เกลือ และ Burg แปลว่า เมือง

ในยุคกลางของฝรั่งเศสอุปทานเกลือในสมัยนั้นเป็นปัญหามากและเร่งด่วนที่รัฐจะต้องจัดการ เมื่อเกลือขาดแคลนเป็นจำนวนมากแต่มีการค้าขายอย่างคึกคัก ซึ่งหมายถึงอุปสงค์ของเกลือ มีมากเมื่อเทียบกับอุปทาน

การเก็บภาษีเกลือเป็นนโยบายที่รัฐบาลสามารถทำได้เพื่อจัดการให้ อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลกัน ภาษีเกลือที่เพิ่มมากขึ้นจึงเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงให้รัฐบาล กาเบลล์ซึ่งเป็นภาษีเกลือถูกกล่าวถึงครั้งแรกอยู่ในพระราชกฤษฎีกาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ของฝรั่งเศส

ศตวรรษที่ 13 ภาษีเกลือถูกนำมาใช้เป็นเงินสมทบชั่วคราวทางทหารกองทัพฝรั่งเศส จนชนชั้นปกครองชาวฝรั่งศสมองเห็นประโยชน์จากภาษีเกลือและนำมาซึ่งการครอบครองเกลือด้วยตนเองของรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางการเงินของรัฐ เกลือจึงเป็นสินทรัพย์มีค่า อีกอย่างหนึ่งในยุคล่าอาณานิคมช่วงศตวรรษที่ 16-19

ภาษีเกลือกับยุคล่าอาณานิคม

ศตวรรษที่ 18 อังกฤษก้าวผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นประเทศแรกของโลก เครื่องจักรและถ่านหิน ถูกนำมาใช้ในระบบอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการทอผ้า ฝ้ายเป็นวัสดุที่สำคัญอย่างยิ่งในระบบอุตสาหกรรม

เช่นเดียวกันกับเกลือที่เป็นสินค้าสำคัญ ในระบบอุตสาหกรรม เนื่องจากเกลือถูกใช้เป็นวัตุดิบหลักในการ ผลิตโซดาและส่วนผสม สำหรับสารฟอกขาวในฝ้าย อังกฤษจึงได้ออกตามล่าเกลือเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้า และพบกับอินเดียแหล่งผลิตเกลือขนาดใหญ่ในเอเชีย

ศตวรรษที่ 19 อังกฤษได้เข้ามาปกครองอินเดียและได้ผูกขาดสินค้าเกลือกับชาวอินเดีย นอกจากนี้แล้วอังกฤษยังได้เก็บภาษาีเกลือกับชาวอินเดียอีกด้วย พี่ทุยว่ามีแต่ได้กับได้เลยนะ

และอังกฤษเองมีการคิดค้นระบบการเก็บภาษีแบบ “2 รูปี Maund” ซึ่งคิดอัตราจัดเก็บที่ 1.1-1.5 รูปี ระบบภาษาดังกล่าวเป็นระบบภาษีที่ประสบความสำเร็จมากจนอังกฤษสามารถเก็บภาษีเกลือ มากถึง 2.9 ล้านยูปี ในช่วงปี 1782 และเก็บได้มาถึง 6 ล้านรูปี ในปี 1785 ตามลำดับ

สหราชอาณาจักรได้เข้ามาตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกในอินเดียและให้บริษัทอินเดียตะวันออกเข้ามาบีบทบาทในการปกครองอินเดีย ในปี 1788 บริษัทอินเดียตะวันออกได้แก้ไข ระบบการเก็บภาษีจาก “2 รูปี Maund” เป็น “4 รูปปี Maund”

ซึ่งทำให้อัตราการจัดเก็บภาษีเพิ่มเท่าตัวและมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถจ่ายภาษีให้กับอังกฤษได้เพราะเป็นอัตราภาษีเกลือที่สูงเกินไปสำหรับชาวอินเดีย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวอินเดียไม่พอใจการปกครองโดยบริษัทอินเดียตะวันออกภายใต้การดูแลของอังกฤษ

ปี 1930 ช่วงปลายการปกครองของอังกฤษในอินเดีย อังกฤษมีรายได้จากการเก็บ ภาษีเกลือมาถึง 67 ล้านรูปีหรือ 5 ล้านปอนด์ ปี 1931 มีรายได้ 68 ล้านรูปีหรือ 5.1 ล้านปอนด์ ปี 1932 มีรายได้ 87 ล้านรูปีหรือ 6.5 ล้านปอนด์ และปี 1933 มีรายได้มาถึง 107 ล้านรูปีหรือ 7.65 ล้านปอนด์ เป็นช่วงเวลาทองแค่เพียง 3 ปี ที่อังกฤษกำลังกอบโกยผลประโยชน์และสร้าง ความมั่งคั่งจากเกลือในอินเดีย

ปี 1930 ช่วงเวลาก่อนที่อังกฤษเริ่มขูดรีดภาษีเกลือจากชาวอินเดีย มหาตมะ คานธี ผู้นำการประท้วงเพื่อคืนอิสระภาพการผลิตเกลือด้วยตนเองของชาวอินเดียได้เริ่มเดินขบวนประท้วงอังกฤษอย่างสันติ ซึ่งเดินขบวนจากเหนือสู่ใต้ของอินเดียเป็นระยะทางกว่า 390 กม. การประท้วงของมหาตะมะ คานธี เป็นจุดเริ่มต้นเรียกร้องอิสระภาพด้านการประกอบอาชีพ และรวมถึงด้านอื่น ๆ จากอังกฤษด้วย

จนกระทั่งปี 1947 อินเดียก็ ได้ประกาศอิสระภาพ เป็นเอกราชจากอังกฤษและตั้งเป็นประเทศอินเดียขึ้น ประวัติศาสตร์ของอังกฤษและอินเดียนั้น มีเกลือเป็นจุดเชื่อมโยงและเกลือเองก็ช่วยปรุงรสชาติ เรื่องราวการเมืองระหว่างยุโรป และเอเชียให้มีรสชาติมากขึ้น

จะเห็นว่าเกลือในยุคการล่าอาณานิคมนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมาก เพราะเป็นส่วนประกอบ ในสำคัญในระบบอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการสร้างสินค้าอื่น ๆ และการค้าขายเกลือก็ยังสร้าง รายได้ให้กับรัฐเจ้าอาณานิคมอย่างมหาศาล ซึ่งดูจากที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดียและ ผูกขาดการค้า การเก็บภาษีเกลือกับชาวอินเดีย

คุณค่าของเกลือในศตวรรษที่ 21

ในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่าเกลือนั้นมีบทบาทและมีอิทธิพลกับมนุษย์มาก ๆ ทั้งเป็นเครื่องปรุงรสชาติอาหาร เป็นส่วนผสมในการถนอมอาหาร รวมถึงเป็นสินค้าส่งออก ที่สร้างรายได้และความมั่งคั่งในประเทศ

แต่ในปัจจุบันนั้นเกลือไม่ใช่ตัวกลางที่ใช้แลกเปลี่ยน สินค้าอีกต่อไปทำให้บทบาทสำคัญของเกลือลดลง นอกจากนี้ยังมีระบบมาตรฐานทองคำเกิดขึ้น ในคริสต์ทศวรรษ 19 โดยสหราชอาณาจักรอังกฤษเป็นประเทศแรกที่กำหนดและเริ่มใช้ระบบ มาตรฐานทองคำ 

ระบบมาตรฐานทองคำเป็นการเทียบค่าเงินสกุลปอนด์สเตอร์ลิงไว้กับน้ำหนักทองคำ จากนั้นมีโปรตุเกสและ เยอรมนีที่ร่วมใช้มาตรฐานทองคำตามสหราชอาณาจักรในช่วงเริ่มแรก จึงเป็นการเริ่มต้นการใช้มาตรฐานทองคำอย่างเป็นสากลในศตวรรษที่ 20 

ปัจจุบันเกลือถูกใช้เป็นจำนวนมากแต่ใช้เป็นเพียงเป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมเท่านั้น อย่างอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องปรุงรส อุตสาหกรรมผลิตเกลือบำรุงสุขภาพของสัตว์ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มและระบบการบำบัดน้ำ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมน้ำแข็ง รวมถึงอุตสาหกรรมยา เป็นต้น

จะเห็นว่าเกลือถูกใช้อย่างมากมายในหลายอุตสาหกรรมทำให้การผลิตเกลือในปัจจุบัน มีความทันสมัยและผลิตได้มากโดยที่ใช้ต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับอดีต การผลิตเกลือที่ใช้ต้นทุนที่ต่ำ เป็นเหตุผลหนึ่งที่พี่ทุยมองว่าทำให้มูลค่าของเกลือลดลงอย่างมาก หรือจะให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เป็นสินค้าที่ไม่มีมูลค่าแล้วนั่นเอง

นอกจากนี้เกลือในปัจจุบันยังสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ง่ายและให้ประโยชน์ไม่แตกต่างจากเกลือธรรมชาติ เกลือจึงมีค่าเพียงเครื่องปรุงพื้นฐานในการปรุงรส ในขณะที่ระบบเงินตรา และทองคำเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น

เกลือจึงเป็นสินค้าราคาถูกและใช้ในระบบอุตสาหกรรมเป็นหลัก ส่วนประเทศผู้ผลิตเกลือ รายใหญ่ของโลกยังคงเป็น จีน สหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี แคนาดา และออสเตรเลีย

และในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดระบบเงินตราถูกพัฒนาเป็นระบบเงิน ที่ต้องเข้ารหัสสัญญาอัจฉะริยะ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “คริปโต” สกุลเงินดิจิทัลที่ถูกกล่าวถึงกัน จนเป็นกระแสโด่งดัง อย่างสกุลเงิน บิตคอยน์ อีธีเรียม เป็นต้น ทำให้ระบบเงินตราเดิม ๆ หรือสินทรัพย์ดั้งเดิม ของมนุษย์เริ่มเปลี่ยนไป

บทสรุป

บทสรุปของเกลือสินทรัพย์มีค่าของมนุษยชาติมีที่ถูกใช้ตั้งแต่การใช้ปรุงรสชาติอาหาร การหมักดองถนอมอาหาร การใช้ในพิธีกรรมทางความเชื่อ การผสมเป็นผงซักฟอกและยาสีฟัน ในยุคโบราณ

ต่อเนื่องมาจนได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นสื่อกลางในแลกเปลี่ยนสินค้าชนิดอื่น ๆ รวมถึงการค้าทาส และใช้เป็นเบี้ยเลี้ยงตอบแทนรายเดือนของทหาร จนทำให้คำว่า Salt ที่แปลว่าเกลือ กลายมา เป็นรากศัพท์ ของคำว่า Salary ที่แปลว่าเงินเดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นแห่งยุคของเกลือ

ความต้องการของเกลือเริ่มเพิ่มสูงมากขึ้นจนทำให้เกิดเหมืองเกลือขนาดใหญ่ และมีการ ตั้งชื่อเมืองที่เกี่ยวกับเกลือขึ้นอย่างซอลต์เบิร์กในออสเตรีย รวมถึงตั้งชื่อเส้นทางค้าเกลือในอิตาลี ว่า Via Salaria

ปริมาณเกลือจำนวนมากที่ค้าขายทำให้รัฐมองเห็นโอกาสจากการสร้างประโยชน์ จากเกลือและนำมาสู่ยุคล่าอาณานิคมเพื่อค้าขาย ผูกขาด ครอบครอง และเก็บภาษีเกลือในที่สุด ช่วงเวลานี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่เกลือมีความเฟื่องฟูมากที่สุด “เกลือถูกว่าเป็นทองคำขาว”

สุดท้ายแล้วเกลือมีค่าเพียงแค่วัตถุดิบในระบบอุตสาหกรรมเท่านั้น เนื่องจากเกลือ ในปัจจุบันผลิตได้ง่ายโดยที่ใช้ต้นทุนต่ำ ทำให้มูลค่าของเกลือนั้นตกต่ำตามไปด้วย และเกลือก็ไม่มีคุณสมบัติมากพอที่จะเป็นสินทรัพย์ระยะยาวของมนุษย์ได้ เพราะคุณสมบัติทางกายภาพของเกลือหากโดนน้ำก็สามารถละลายได้ในเพียงไม่กี่วินาที 

ซึ่งแตกต่างกับธนบัตร เหรียญกษาปณ์ และทองคำในปัจจุบันที่มีมูลค่าในตัวและ มีคุณสมบัติทางกายภาพที่จับต้องและเปลี่ยนแปรงรูปร่างได้ โดยเฉพาะทองคำเป็นสินทรัพย์ ที่ยังคงหายากและผลิตขึ้นรูปยังคงใช้ต้นทุนสูง และยิ่งมีการนำค่าของเงินไปผูกไว้ กับน้ำหนักของทองคำแล้วยิ่งทำให้มูลค่าของทองคำนั้นสูงขึ้นไปอีกด้วย

เป็นยังไงกันบ้างกับสาระเรื่องของเกลือที่พี่ทุยนำมาเล่าให้ฟังกันจากที่เราใช้เกลือในชีวิตประจำวันในการปรุงอาหาร โดยที่เราไม่ได้นึกมาก่อนเลยว่าเกลือนั้นจะมีประวัติศาสตร์ยาวนานคู่ กับมนุษย์มาจนถึงปัจจุบันนี้ และยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง สินค้าหลายอย่างก็ยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้น พี่ทุยได้แต่หวังว่าเราคงจะไม่ได้กัดก้อนเกลือกินกันนะ

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย