ดาวเทียมดวงแรกของโลก Sputnik 1 ที่พารัสเซียชนะสหรัฐฯ ในสงครามอวกาศ

ดาวเทียมดวงแรกของโลก Sputnik 1 ที่พารัสเซียชนะสหรัฐฯ ในสงครามอวกาศ

6 min read  

ฉบับย่อ

  • หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และเริ่มต้นสงครามเย็น รัสเซีย (สหภาพโซเวียตเดิม) กับสหรัฐฯ แข่งขันกันอย่างหนักในการส่งดาวเทียมและสิ่งมีชีวิตขึ้นสู่อวกาศ รวมถึงการเดินทางไปยังดวงจันทร์ ระหว่าง ค.ศ. 1957-1969
  • ดาวเทียมโซเวียต Sputnik 1 เป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของมนุษย์ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศและโคจรรอบโลก นอกจากนั้น โซเวียตยังเป็นประเทศแรกที่พา Leika น้องหมาตัวแรก Yuri Gagarin มนุษย์คนแรก และ Valentina Tereshkova ผู้หญิงคนแรกขึ้นสู่อวกาศ
  • หากเทียบกันยกต่อยก ตลอดสงครามอวกาศ 12 ปี รัสเซียประสบความสำเร็จมากครั้งกว่าสหรัฐฯ ทั้งการออกสู่ห้วงอวกาศก่อนและส่งยานไปถึงดวงจันทร์ก่อน ทั้งที่เรามักจะมีภาพจำความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของวงการอวกาศไปกับการที่ Neil Armstrong เหยียบดวงจันทร์ได้เป็นคนแรก

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ย้อนกลับไปสักร้อยปีที่แล้ว การที่มนุษย์จะออกไปสำรวจนอกโลก ดูจะเป็นความฝันที่ห่างไกลความเป็นจริง แต่ผ่านไปไม่กี่สิบปีต่อมา ดาวเทียม Sputnik 1 จากโซเวียต ก็สามารถขึ้นสู่วงโคจรในปี 1957 ได้สำเร็จ สานฝันความใคร่รู้ที่มนุษยชาติห้วงอากาศให้กว้างไกลมากขึ้น

พี่ทุยต้องบอกว่า ความก้าวหน้าของวงการอวกาศเจริญอย่างรวดเร็วในช่วงปี 1957-1969 ซึ่งอยู่ในยุคสงครามเย็นช่วงแรก ๆ และยิ่งสงครามเย็นดำเนินไป ความเจริญและยิ่งใหญ่ของการแข่งขันทางอวกาศ (Space Race) ระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ในครั้งนั้น พูดได้ว่าน่าตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่งหากเทียบกับยุคหลังจากนั้นมา

ลองนึกภาพของการส่งดาวเทียม ยานอวกาศ สัตว์ และมนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศแบบเดือนต่อเดือน ผลัดกันแพ้ชนะระหว่างสองชาติ และยังมีการถ่ายทอดสดให้ชาวโลกได้จับจ้อง ได้ลุ้นและตะลึงพรึงเพริดไปกับความสำเร็จของมวลมนุษยชาติ แต่หากยังนึกไม่ออก วันนี้พี่ทุยจะมาพาย้อนเวลาไปยังยุคแห่งการแข่งขันทางอวกาศที่ว่านี้กัน

สิ้นสุดสงครามโลก เริ่มต้นสงครามเย็น

หลังโลกได้ผ่านการเผชิญหน้ากับความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง ปี 1939-1945 มหาอำนาจของโลกอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่นต่างสะบักสะบอมจากสงครามไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ จะมีก็แค่สหรัฐฯ และรัสเซียเท่านั้นที่ไม่เจ็บหนักมากกับทั้งสภาพบ้านเมืองที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่สมรภูมิหลักและด้วยสถานะเศรษฐกิจที่ทุนสำรองไม่ถูกกระทบกระเทือน

สองประเทศนี้มีบทบาทสำคัญในการบุกเยอรมนีในช่วงสุดท้ายเพื่อจบสงครามกับ Adolf Hitler ผู้นำนาซี ขณะเดียวกัน แน่นอนว่าทั้งสองประเทศต่างก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามโลกครั้งใหม่ที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นวันไหน

จากเหตุการณ์สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นจนสามารถยุติสงครามโลกได้อย่างเด็ดขาด ทุกประเทศของโลกต่างก็มองเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะที่จะถูกนำมาใช้พัฒนาอาวุธทรงพลานุภาพมากกว่าที่เคยเป็นมา

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของยุคที่ชื่อว่า “สงครามเย็น” ระหว่าง ปี 1947-1991 ที่นานาประเทศไม่ได้ส่งกองกำลังทหารเข้าต่อสู่กันแบบประชิดตัวอีกต่อไป แต่เป็นสงครามที่เน้นการจารกรรมข้อมูล ภารกิจของสายลับ สงครามตัวแทน และการสะสมอาวุธทรงอำนาจไว้เพื่อขู่ประเทศศัตรู

ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียจึงเริ่มสะสมนักวิทยาศาสตร์หัวกะทิของประเทศแถบยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีที่หลายคนก็ขอลี้ภัยไปยังสองประเทศนี้ตั้งแต่ช่วงสงคราม อย่างสหรัฐฯ นั้นก็ตั้งปฏิบัติการชื่อว่า Paperclip ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์เยอรมนีกว่า 1,600 คนให้ได้อพยพเข้าสหรัฐฯ 

จุดเริ่มต้นยุคการแข่งขันทางอวกาศ

ความจริงแล้วไม่ใช่แค่ระเบิดปรมาณูของสหรัฐเท่านั้นที่เป็นอาวุธทรงอานุภาพจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝั่งนาซีเยอรมันเองก็ได้ผลิตจรวดชื่อ V-2 ขึ้นมาและถูกใช้ครั้งแรกเพื่อยิงขึ้นจากกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ข้ามไปทำลายบ้านเรือนของประชาชนในกรุงลอนดอนของอังกฤษ

จรวด V-2 นับเป็นจรวดลูกแรกที่ยิงได้ไกลชนิดข้ามทวีปและถูกส่งขึ้นไปสูงถึงชั้นบรรยากาศโลกจนถูกตั้งชื่อใหม่สำหรับอาวุธชนิดนี้ว่าเรียกว่า “ขีปนาวุธ (Missile)” เป็นครั้งแรก โดยรวม ๆ แล้วมีการบันทึกไว้ว่าจรวดชนิดนี้ทำลายชีวิตผู้คนไปมากกว่า 9,000 คนในสงครามโลกจึงนับเป็นอาวุธร้ายแรงและทันสมัยอีกชนิดหนึ่งที่ถูกคิดค้นกันขึ้นมา ณ ช่วงเวลานั้น

ดาวเทียมดวงแรกของโลก Sputnik 1 ที่พารัสเซียชนะสหรัฐฯ ในสงครามอวกาศ

ไม่ใช่แค่เยอรมนีประเทศเดียวที่มีคิดค้นวิทยาการด้านขีปนาวุธซึ่งต่อมาถูกพัฒนาขึ้นเป็นยานอวกาศ ฝั่งรัสเซียและสหรัฐฯ เองก็เช่นกัน โดยก้าวแรกของการพัฒนาโครงการอวกาศของสหภาพโซเวียตก็เกิดขึ้นมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยต้องย้อนไปถึงปี 1930 ที่มีการก่อตั้งสภามนตรีแห่งสภาพโซเวียต (Council of Ministers of the Soviet Union) ขึ้นมาเพื่อพัฒนาโครงการเฉพาะเกี่ยวกับเทคโนโลยีขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile)

โดยในช่วงเวลานั้นประชาคมโลกมักไม่ค่อยรู้ความเคลื่อนไหวของการพัฒนาโครงการอวกาศสหภาพโซเวียตเทียบกับฝั่งสหรัฐฯ ที่เปิดเผยมาโดยตลอด เพราะโซเวียตตั้งใจจะเก็บโครงการต่าง ๆ ไว้เป็นความลับสุดยอด จนกระทั่งสหรัฐฯ ประกาศแผนว่าจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศให้ได้เป็นประเทศแรกของโลกภายในปี 1955 สหภาพโซเวียตจึงเปิดหน้าขอแข่งในสนามวิทยาการอวกาศด้วยเหมือนกัน

ชัยชนะแรกของโซเวียตเหนือสหรัฐ กับ Sputnik 1 ดาวเทียมดวงแรกที่ออกสู่อวกาศ

Sputnik 1 คือชื่อดาวเทียมและผลงานความสำเร็จของโซเวียตระดับหยามหน้าสหรัฐฯ ครั้งแรก คำว่า Sputnik แปลตรงตัวตามภาษารัสเซียหมายถึงดาวเทียม เป็นสิ่งประดิษฐ์ด้วยฝีมือของมนุษย์ชิ้นแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 4 ต.ค. 1957 ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศที่ศูนย์อวกาศ Tyuratam บริเวณประเทศคาซัคสถานในปัจจุบัน แต่ในเวลานั้นยังเป็นพื้นที่หนึ่งภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต

ส่วนยานอวกาศที่ทำหน้าที่ขนส่ง Sputnik 1 ขึ้นไป มีชื่อว่า R-7 Semyorka ซึ่งก็ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปของโซเวียตเมื่อ 20 ปีก่อนนั่นเอง

ดาวเทียมดวงแรกของโลก Sputnik 1 ที่พารัสเซียชนะสหรัฐฯ ในสงครามอวกาศ

Sputnik 1 เป็นดาวเทียมขนาดเล็กที่มีศูนย์กลางเพียง 53 เซนติเมตร มีเสาอากาศอยู่ 4 ด้านรอบตัวทำหน้าที่รับส่งสัญญาณควบคุมระยะไกลจากพื้นโลก ดาวเทียม Sputnik 1 โคจรด้วยความเร็ว 29,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาในการโคจรรอบโลกหนึ่งรอบใช้เวลา 96.2 นาที มีน้ำหนัก 18 กิโลกรัม ตลอดภารกิจของดาวเทียม Sputnik 1 ได้โคจรรอบโลกทั้งหมดถึง 1,440 รอบ ในเวลา 22 วัน และด้วยระยะทาง 70 ล้านกิโลเมตร จนกระทั่งพลังงานหมดลงเมื่อ 26 ต.ค. 1957 หลังจากนั้นก็ขาดการติดต่อลอยเคว้งคว้างเสียการควบคุมอยู่บนอวกาศนาน 2 เดือน ก่อนจะตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกและเผาไหม้ไปจนหมดสิ้น เมื่อ 4 ม.ค. 1958

Sputnik 2 ที่พา “Laika” เจ้าหมาอวกาศตัวแรกออกนอกโลก

โซเวียตอาศัยจังหวะน้ำขึ้นต้องรีบตักในการสร้างความเชื่อมั่นด้านวิทยาการอวกาศกับประชาคมโลกด้วยการส่งดาวเทียม Sputnik 2 ตามดาวเทียมดวงแรกไปติด ๆ ในวันที่ 3 พ.ย. 1957

ดาวเทียมดวงที่สองนี้น้ำหนักมากกว่าดวงแรก โดย Sputnik 2 หนักถึง 113 กิโลกรัม เป็นรูปทรงกรวยคว่ำ ความสูง 4 เมตรและเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร เมื่อขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศนั้น เกิดแบตเตอรี่เสื่อมสภาพและขาดการติดต่อจากภาคพื้นโลกไปเร็วกว่ากำหนด แต่มันก็โคจรวนรอบโลกอยู่ต่อไปได้ถึง 2,570 รอบ ก่อนจะตกลงสู่โลกและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเมื่อ 14 เม.ย. 1958

Sputnik 2

การขึ้นสู่ห้วงอวกาศครั้งนี้ไม่ได้ขึ้นไปเพียงตัวดาวเทียมเท่านั้น แต่มีสิ่งมีชีวิตเป็นสุนัขพันธุ์ฮัสกี้ ชื่อ Laika (ไลกา) ขึ้นไปด้วย Laika เป็นหมาเพศเมียและเป็นหมาจรจัดที่อาศัยอยู่บนท้องถนนกรุงมอสโก ก่อนหน้าปล่อยดาวเทียมหนึ่งสัปดาห์ มันก็กลายเป็นผู้โชคร้ายถูกจับส่งไปนอกโลกเป็นตัวแรก การถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์นี้มันเองก็คงไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่นัก

ท้ายที่สุด Laika ก็เสียชีวิตบนห้วงอวกาศภายในดาวเทียม Sputnik 2 นั่นเอง ในช่วงเวลานั้น โซเวียตบอกว่าเจ้า Laika เสียชีวิตหลังจากโคจรรอบโลกนานประมาณหนึ่งสัปดาห์ ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ บอกว่า Laika นั้นเสียชีวิตไปตั้งแต่ชั่วโมงแรก ๆ ของการเดินทางแล้วต่างหาก

Laika

ภายหลังหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของรัสเซียได้ออกมายอมรับว่า จริง ๆ แล้วมันเสียชีวิตตั้งแต่ Sputnik 2 ถูกส่งไปนอกอวกาศในช่วง 5-7 ชั่วโมงแรกเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นในอวกาศและมันก็คงตระหนกตกใจอยู่ไม่น้อย

ส่วนข้อมูลที่มนุษยชาติได้มากับการแลกชีวิตเจ้า Laika ผู้ต้องกลับดาวหมาที่ไม่อยู่ในห้วงอวกาศ ก็คือ การยืนยันว่า สิ่งมีชีวิตนั้นสามารถอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักได้เป็นระยะเวลานาน และมีสภาพแวดล้อมที่อันตรายต่อสิ่งมีชีวิตนั้นมีอะไรบ้าง

เกมการเมืองของรัสเซีย และวิกฤติการณ์ Sputnik ที่สหรัฐฯ อยู่ไม่สุข

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมสหภาพโซเวียตต้องเร่งส่งดาวเทียมทั้ง 2 ขึ้นสู่อวกาศแบบติด ๆ กันโดยไม่เว้นระยะเวลาสำหรับศึกษาข้อมูลจากการส่งดาวเทียมดวงแรก เบื้องลึกเบื้องหลังของเรื่องนี้ก็คือ ในตอนนั้นกำลังจะถึงวันสำคัญของสหภาพโซเวียต นั่นคือวันครบรอบ 40 ปีของการปฏิวัติ Balshevik ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้นำรัสเซีย Nikita Khrushchev จึงต้องการใช้ความสำเร็จด้านวิทยาการอวกาศครั้งนี้มาเป็นผลงานและเพิ่มความนิยมให้ตนเอง

ความสำเร็จของสหภาพโซเวียตในการพาดาวเทียม Sputnik 1 และ 2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้สำเร็จก่อนสหรัฐฯ สร้างความอกสั่นขวัญหายให้กับประชาชนและกองทัพสหรัฐฯ อย่างมาก สื่อมวลชนขนานนามสถานการณ์นี้ว่า “วิกฤติการณ์ Sputnik” รัฐบาลของประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower ถึงกับโดนตั้งคำถามจากประชาชนในเชิงต่อว่าว่า ปล่อยให้โซเวียตก้าวหน้าทางวิทยาการอวกาศมากมายถึงเพียงนี้ได้อย่างไร

ส่วนหนึ่งก็เพราะประชาชนมีความเชื่อว่า โซเวียตจะชิงขึ้นไปติดตั้งอาวุธร้ายแรงบนอวกาศได้สำเร็จก่อนและแน่นอนว่าจะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสหรัฐฯ โดยตรง ผลจากเหตุการณ์ “เสียเงินไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้” ในครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯ เร่งก่อตั้งองค์กรอำนวยการการบินและอวกาศแห่งชาติหรือ NASA ขึ้นในเดือน ก.ค. ปี 1958 ภายหลัง Sputnik 1 ขึ้นสู่อวกาศในอีกหนึ่งปีให้หลัง

มุ่งสู่ดวงจันทร์: รัสเซียคือประเทศแรกที่ส่งยานอวกาศไปถึง

Explorer 1 เป็นดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐฯ ที่ได้ขึ้นสู่อวกาศบ้างในวันที่ 31 ม.ค. 1958 แต่ต่อมา Explorer 2 ที่ถูกส่งขึ้นไป 5 มี.ค. 1958 กลับเป็นภารกิจที่ล้มเหลว ก่อนที่จะมาประสบความสำเร็จอีกครั้งกับดาวเทียม Vanguard 1 ดาวเทียมดวงแรกที่ใช้พลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์

Vanguard 1 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 17 มี.ค. 1958 ก่อนสัญญาณของดาวเทียมขาดไปเมื่อเดือน พ.ค. 1964 แต่จนถึงทุกวันนี้ Vanguard 1 ก็ยังโคจรอยู่รอบโลกและเป็นวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ที่ลอยอยู่ในอวกาศ

ด้านรัสเซียนั้นหลังจากสร้างดาวเทียมออกนอกโลกได้สำเร็จ จุดมุ่งหมายต่อไปก็คือพัฒนาโครงการยานอวกาศเพื่อเดินทางไปดวงจันทร์ เริ่มตั้งแต่ยานอวกาศที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองชื่อ Luna 1 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 2 ม.ค. 1959 นับเป็นยานลำแรกในเวลานั้นที่เดินทางเข้าใกล้ดวงจันทร์มากที่สุด

Luna 1 ยังตรวจจับลมสุริยะ (Solar Wind) ทำให้มนุษย์ได้รู้จักกับกระแสลมที่เกิดจาการปล่อยอนุภาคประจุไฟฟ้าของดวงอาทิตย์เข้ามารบกวนระบบการสื่อสารต่าง ๆ ของโลก

ต่อมาดาเทียม Luna 2 ก็ออกเดินทางไปดวงจันทร์ เมื่อ 11 ก.ย. ค.ศ. 1959 ถือเป็นยานอวกาศลำแรกที่เดินทางไปถึงดวงจันทร์ แต่น่าเสียดายที่ตอนลงจอดเกิดกระแทกพื้นเสียหายจึงไม่ได้ข้อมูลอะไรกลับมา ยังไม่พอแค่นั้น โซเวียตก็ส่งยาน Luna 3 ตามไปติด ๆ ในวันที่ 7 ต.ค. 1959 หนนี้ประสบความสำเร็จด้วยดีในการโคจรรอบดวงจันทร์ และถ่ายภาพดวงจันทร์ให้มนุษยชาติได้เห็นกันเป็นครั้งแรก

Luna 2

ลิงตัวแรก-มนุษย์คนแรก-ผู้หญิงคนแรกที่ออกสู่ห้วงอวกาศ

โซเวียตและสหรัฐฯ ยังไม่หยุดความพยายามที่จะส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นสู่อวกาศ หลังจากเจ้าหมา Leika แล้ว รัสเซียได้ส่งน้องหมาไปอีก 2 ตัวชื่อว่า Belka และ Strelka พวกมันเดินทางไปกับยานอวกาศ Korabl-Sputnik 2 หรือสหรัฐฯ จะเรียกในชื่อ Sputnik 5 ออกเดินทางเมื่อ 19 ส.ค. 1960

ใครที่เป็นห่วงว่าน้องทั้งสองจะเจอจุดจบเดียวกับเจ้า Leika ก็หายห่วงได้ เพราะทั้งสองตัวไปและกลับลงสู่พื้นโลกแบบยังมีชีวิตได้สำเร็จ นอกจากนี้ภายในยานยังมีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ถูกส่งขึ้นไปและก็รอดชีวิตกลับมาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกระต่าย หนู และพืชต่าง ๆ ปีต่อมาสหรัฐฯ ก็ส่งเจ้า Ham ลิงชิมแปนซีตัวแรกของโลกขึ้นไปอวกาศกับยาน Mercury-Redstone 2 เมื่อ 31 ม.ค. 1961 และมันก็รอดชีวิตกลับเช่นกัน

Mercury-Redstone 2

แต่ความสำเร็จครั้งนี้กลับถูกกลบด้วยการที่ในปีเดียวกันนั้น โซเวียตได้ส่งนักบินอวกาศที่เป็นมนุษย์คนแรกขึ้นไปบนอวกาศได้สำเร็จ เขาคนนั้นมีชื่อว่า Yuri Gagarin ได้เดินทางไปกับยาน Vostok 1 เมื่อ 12 เม.ย. 1961

เขาอาศัยอยู่ในแคปซูลอวกาศบนยานที่โคจรรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลาไป 1 ชั่วโมง 48 นาทีแล้วจึงเดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย สิ่งที่ทำให้ Yuri Gagarin ได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปกับยานครั้งนี้เป็นเพราะขนาดของห้องโดยสารแคปซูลนั้นเล็กมาก และ Yuri เป็นนักบินอวกาศที่มีความสูงแค่ 158 เซนติเมตร

ส่วนประโยคแรกที่เขาเอ่ยขึ้นเมื่อขึ้นถึงอวกาศที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ก็คือ “ฉันมองดูแล้วไม่เห็นพระเจ้าบนนี้เลย” (I looked and looked but I didn’t see God) เทียบกับคำกล่าว “นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” อันโด่งดังของ Neil Armstrong มนุษย์ผู้เหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรกเมื่อ 16 ก.ค. 1969 แล้ว ดูออกจากจะธรรมดา ๆ ต่างกันไม่น้อยเลย

น่าเสียดายที่ Yuri Gagarin เสียชีวิตเร็วเกินไปเพียงแค่วัย 34 ปีเท่านั้นจากอุบัติเหตุการทดสอบเครื่องบิน และหลังจากการออกสู่อวกาศครั้งแรกเพียง 7 ปี

Yuri Gagarin

หลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็พยายามวิ่งไล่ตามให้ทันในสงครามอวกาศนี้ ด้วยการส่ง Alan Shepard ขึ้นไปกับยาน Mercury-Redstone 3 หรือ Freedom 7 หลังจากยาน Vostok 1 ขึ้นสู่อวกาศไม่ถึง 1 เดือนดี คือในวันที่ 5 พ.ค. 1961 แต่สุดท้ายยานกลับไม่สามารถเข้าสู่วงโคจรรอบโลกได้ตามแผน และต้องทิ้งตัวลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเสียก่อนเนื่องจากพลังงานไม่เพียงพอ

ต่อมาโซเวียตยังทิ้งห่างสหรัฐฯ ไปอีกก้าวด้วยการส่งนักบินอวกาศ Gherman Titov ไปกับยาน Vostok 2 หนนี้เขาสามารถอยู่บนอวกาศในนานเกิน 24 ชั่วโมงเป็นครั้งแรก พอปีต่อมาโซเวียตก็ยังส่งผู้หญิงคนแรกของโลก Valentina Tereshkova ไปอวกาศกับยาน Vostok 6 ที่โคจรรอบโลก 48 รอบเป็นเวลา 3 วัน ความพิเศษของ Valentina นอกจากเป็นผู้หญิงแล้ว เธอยังเป็นพลเรือน (ไม่ได้เป็นทหารเหมือนนักบินคนอื่น ๆ ของโซเวียต) ด้วย

สงครามอวกาศระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียทุกวันนี้…ก็ยังมีอยู่นะ?

ส่วนสถานการณ์การแข่งขันทางอวกาศระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียในปัจจุบันนั้น อาจไม่ได้เข้มข้นเหมือนเมื่อ 60 ปีที่แล้วแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการแข่งขันกันเสียทีเดียว เพราะปี 2021 ที่ผ่านมา รัสเซียได้ส่งทีมถ่ายทำภาพยนตร์ในอวกาศเรื่องแรกขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์เป็นระยะเวลา 12 วัน ซึ่งจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถ่ายทำในอวกาศตลอดทั้งเรื่อง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างองค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federal Space Agency หรือ Roscosmos) และ TV Channel One โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า The Challenge

อ่านเพิ่ม

ฝั่งสหรัฐฯ นั้น ก่อนหน้านี้พระเอกฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง Tom Cruise เคยประกาศว่า จะขอทำสถิติขึ้นไปถ่ายภาพยนตร์ในอวกาศตลอดเรื่องเป็นเรื่องแรกของโลก โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การ NASA และบริษัท SpaceX ของมหาเศรษฐี Elon Musk มี Doug Liman ผู้กำกับที่เคยกำกับ Tom มาแล้วในภาพยนตร์แนวไซไฟ Edge of Tomorrow (2014) มาเป็นผู้กำกับ แต่สุดท้ายก็โดนรัสเซียตัดหน้าไปอย่างที่เห็น

โดยสรุปแล้ว จุดพีคของการแข่งขันทางด้านวิทยาการอวกาศระหว่างสองขั้วมหาอำนาจรัสเซียและสหรัฐฯ อยู่ในช่วง ค.ศ. 1957-1969 หากมองภาพรวมโดยไม่ยึดติดกับสื่อหรือภาพยนต์จากฝั่งสหรัฐฯ หรือข้อมูลที่อาจจะได้ยินได้ฟังเรื่องราวของชายผู้เหยียบดวงจันทร์ได้เป็นคนแรกมามากกว่า และเมื่ออ่านบทความนี้แล้วก็คงจะคิดเหมือนพี่ทุยว่า ฝั่งรัสเซียนั้นชนะไปในหลาย ๆ ยก

เพราะรัสเซียประสบความสำเร็จก่อนและตัดหน้าสร้างสถิติแรกของโลกในการเดินทางสู่อวกาศได้มากกว่า น่าเสียดายที่การทุ่มเงินทุนเพื่อการวิจัยด้านอวกาศของโซเวียตถูกลดบทบาทลงไปเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ปี 1991 ซึ่งเป็นปีที่ถูกจัดให้เป็นการสิ้นสุดยุคสงครามเย็นด้วย

อ้างอิง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย