ข่าวดี ประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิ เบิกค่า Sleep Test ได้แล้ว สำหรับผู้ประกันตนที่รักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับและมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า โดยจ่ายเงินตามจริง ไม่เกิน 7,000 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567
เบิกค่า Sleep Test ประกันสังคม อะไรได้บ้าง
- ค่าตรวจการนอนหลับ (polysomnography) ชนิดที่ 1 จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท
- ค่าตรวจการนอนหลับ (polysomnography) ชนิดที่ 2 (การตรวจวัดเหมือนชนิดที่ 1 เว้นแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะหลับ)จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 6,000 บาท
- ค่าอุปกรณ์เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous positive Airway Pressure – CPAP) และอุปกรณ์เสริมสำหรับการรักษาในอัตราที่สำนักงานที่กำหนด
- เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า ชุดละ 20,000 บาท
- หน้ากากครอบจมูกหรือปากที่ใช้กับเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า ชิ้นละ 4,000 บาท
โดยผู้ประกันตน จะมีสิทธิได้รับสิทธิรักษาพยาบาล เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์
รู้จัก โรคหยุดหายใจขณะหลับ
โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) คือ ภาวะที่ทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นขณะหลับ ทำให้อากาศไม่สามารถไหลเข้าปอดได้ ส่งผลให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ในช่วงที่หยุดหายใจ สมองจะส่งสัญญาณให้ตื่นขึ้นเพื่อแก้ไขภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น ทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นบ่อย ๆ ในระหว่างการนอน ส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท และมีอาการง่วงนอนระหว่างวัน
อาการของโรคหยุดหายใจขณะหลับอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของโรค โดยทั่วไปมักมีอาการดังต่อไปนี้
- นอนกรนดัง
- ตื่นขึ้นมากลางดึกเนื่องจากหายใจลำบากหรือสำลัก
- รู้สึกเหนื่อยล้าหรือง่วงนอนระหว่างวัน
- สมาธิสั้น
- มีปัญหาด้านอารมณ์
- ความดันโลหิตสูง
หากมีอาการสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดอาจเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) และรับการรักษาที่เหมาะสม
การรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับขึ้นอยู่กับประเภทของโรคและความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปมีการรักษาหลัก ๆ ดังนี้
- การรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับ (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เครื่องช่วยหายใจจะส่งลมเข้าไปในทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางเดินหายใจไม่เกิดการอุดกั้น
- การรักษาแบบผ่าตัด เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เช่น ลิ้นตกไปปิดทางเดินหายใจ กล้ามเนื้อคอและลิ้นหย่อนตัวลง ช่องปากแคบ เป็นต้น
การรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้
อ่านเพิ่ม