ปัญหาใช้เงิน "เดือนชนเดือน" แก้ไขได้อย่างไร ?

ปัญหาใช้เงิน “เดือนชนเดือน” แก้ไขได้อย่างไร ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ปัญหาที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนพบเจอมาตั้งแต่เริ่มต้นทำงานมาจนถึงทุกวันนี้ และไม่ใช่ไม่อยากจะหนีจากภาวะนี้สักที แต่ก็ยังไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดี
  • พฤติกรรมการใช้เงินช่วงเงินเดือนออกใหม่อย่างบ้าคลั่ง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเดือนหายวับไปตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสร้างความลำบากให้ตัวเราเองในเวลาที่เหลือ
  • การวางแผนการใช้เงินตลอดทั้งเดือน ตัวช่วยสำหรับการบริหารจัดการการใช้เงินในแต่ละเดือน ทำให้เราสามารถรับรู้ที่มาและการใช้จ่ายไปของเงิน นอกจากนั้นแล้วยังทำให้มีสติและสามารถควบคุมตัวเองได้อีกด้วย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ปัญหาการใช้เงินแบบ “เดือนชนเดือน” หลายคนเจอแน่นอน เมื่อเข้าช่วงกลางเดือนหรือใกล้ ๆ จะสิ้นเดือน เงินในกระเป๋าก็เริ่มจะไม่พอใช้ พี่ทุยคิดว่าคำพูดยอดฮิตของเหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายคงจะหนีไม่พ้น “ไม่ไหวแล้ว เมื่อไหร่เงินเดือนจะออก!?” กันใช่มั้ย หลายคนนั้นก็ตั้งตารอคอยให้ถึงวันที่เงินเดือนออกมาถึง ส่วนบางคนเกินเลยไปถึงการหยิบยืมคนอื่นหรือการกู้หนี้ยืมสินก็มี

พี่ทุยคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่กับการที่มีเงินเดือนไม่พอใช้ในแต่ละเดือน เมื่อรายได้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ค่อยจะสมดุลกันนักในแต่ละเดือน การจะผ่านพ้นช่วงสิ้นเดือนได้ค่อนข้างเหนื่อยและเครียด นี่ยังไม่รวมถึงในเดือนที่เราไม่มีรายรับขึ้นมา เช่น เมื่อช่วงรอเปลี่ยนงาน เราจะใช้ชีวิตในเดือนเหล่านั้นได้อย่างไร หรือถ้ามีสาเหตุที่ทำให้เราต้องใช้เงินขึ้นมาอย่างเร่งด่วนเราจะทำอย่างไรด้วย

ประเภทของใช้เงินแบบ “เดือนชนเดือน”

แบบที่ 1 ใช้เงินชนเดือน แบบที่ไม่มีเงินเก็บสะสม

พี่ทุยพบว่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นได้ในหมู่มนุษย์เงินเดือนจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ซึ่งเมื่อเริ่มทำงานและสามารถหาเงินได้เอง ก็จะมีความรู้สึกที่ว่าเงินนี่ฉันหามาเอง จะใช้เท่าไหร่ก็ได้อย่างที่ตัวเองต้องการ แต่อย่าลืมว่าเงินเดือนเรายังไม่มากเท่าไหร่ ไหนจะภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับรายได้ด้วย

บางคนอาจจะต้องเช่าหอพักก็จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เข้ามา ไหนจะค่าเดินทางไปทำงาน ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเข้าสังคมใหม่อีกบลา ๆ พี่ทุยเข้าใจเลยนะแค่อยู่รอดตลอดเดือนมาได้ก็เป็นบุญแล้ว จะเอาที่ไหนมาเก็บ (ฮือ)

แบบที่ 2 ใช้เงินเดือนชนเดือน แต่ก็ยังมีเงินเก็บสะสม

แบบนี้พี่ทุยว่าดีกว่าแบบแรกนิดหน่อยที่ยังมีเงินสะสมอยู่บ้าง

แบบที่ 3 ใช้เงินเดือนชนเดือน แต่ก็ยังมีเงินเก็บสะสม แต่มีภาระหนี้สิ้น

ยิ่งถ้าเป็นหนี้สิน เพื่อการบริโภคที่เกิดจากการที่บางเดือนเงินไม่เพียงพอจริง ๆ พี่ทุยว่าก็ยิ่งไม่ดีเพราะปัญหาใช้เงินชนเดือนมันก็จะไม่จบสักที

แบบที่ 4 ใช้เงินเดือนที่มีภาระหนี้สิน แถมยังไม่มีเงินเก็บสะสมอีก

เงินเดือนหรือรายได้ในแต่ละเดือนที่ปกติก็ใช้ไม่ค่อยจะพอ ยังต้องถูกแบ่งบางส่วนเพื่อไปชำระหนี้ได้เดือนถัดไป ที่แย่ไปกว่านั้นเงินเก็บก็ไม่มีด้วย แบบที่ 4 คือใช้เงินเดือนที่มีภาระหนี้สิน แถมยังไม่มีเงินเก็บสะสมอีก

หลายคนอาจจะเจอปัญหานี้ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานมาจนถึงทุกวันนี้ พี่ทุยเข้าใจนะว่าทุกคนไม่ใช่ไม่อยากจะออกจากสภาวะนี้สักที แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าควรทำยังไง และแม้เวลาผ่านไปบางคนมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังหนีไม่พ้นปัญหานี้อีกทำให้เมื่อเวลาล่วงเลยเงินออมก็ยังไม่มี หรือบางทีหนี้สินก็พอกพูน

พี่ทุยคิดว่าการใช้เงินแบบ “เดือนชนเดือน” มันไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยเลยนะ พี่ทุยอยากให้ทุกคนไม่ใช่แค่บริหารเงินให้มีชีวิตรอดถึงวันที่เงินเดือนออก แต่พี่ทุยอยากให้ทุกคนมีความคล่องตัวในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน

ลด ละ เลิก พฤติกรรมบางอย่าง

ตัวเราเองนี่แหละเป็นต้นเหตุของปัญหามีเงินใช้แบบชนเดือน ก็ต้องเริ่มต้นจากตัวของเราเอง ซึ่งพี่ทุยว่าเราต้องเริ่มจากการลด ละ เลิก พฤติกรรมบางอย่างที่นำไปสู่การวนลูปของปัญหาการใช้เงินแบบเดือนชนเดือนไม่สิ้นสุด และช่วงอันตรายที่สุดคือ ช่วงเงินเดือนออกใหม่ ซึ่งช่วงนี้แหละเป็นช่วงที่เราคิดน้อยเกินไปในการใช้เงินเพราะเป็นช่วงที่เรามีเงินอยู่ในมือ

บางคนพอเงินเดือนออกปุ๊บ ความเพลิดเพลินในการใช้จ่ายและช่องทางการใช้เงินมาในทันที (ฮ่า) หรือบางทีหลายคนอาจจะคิดและรอคอยมาตั้งแต่กลางเดือนแล้วว่าพอเงินเดือนออกต้องกินอาหารมื้อชุดใหญ่จัดเต็ม งานชอปปิ้งบำบัดต้องมา ของลดราคาก็ช่างดึงดูดใจเสียเหลือเกิน ไหนจะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงอีก

พี่ทุยเข้าใจนะว่าทำงานเครียดมาทั้งเดือน ไม่ผิดหรอกที่เราจะสร้างความสุขให้กับตัวเองบ้าง แต่ถ้าบางทีความสุขเหล่านั้นถูกใช้ในช่วงต้นเดือนมากจนเกินไป พี่ทุยว่าช่วงกลางถึงปลายเดือนจะลำบาก เพราะความหน้ามืดตามัวของการใช้จ่ายหนักไปของตัวเราเองตั้งแต่ช่วงต้นเดือน

พี่ทุยว่าค่าใช้จ่ายบางอย่างที่มันมากเกินตัวและไม่มีความจำเป็นก็ควรจะลดลงก่อน ใช้เงินให้มันสมดุลกับตัวเองและรายได้ ถัดมาเราต้องรู้จักการบริหารจัดการเงินเดือนที่เรามีให้นอกจากเพียงพอแล้ว เงินเก็บสะสมและการลงทุนก็สำคัญเหมือนกัน

วางแผนการใช้เงินตลอดทั้งเดือน 

การวางแผนการใช้เงินพี่ทุยว่าเป็นตัวช่วยที่ดีที่ช่วยเราจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ได้หลายอย่าง พี่ทุยว่าปัญหาหลักของการใช้เงินชนเดือนเลยก็คือ เรานั้นไม่รู้ตัวว่าได้มีการใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ซึ่งรายจ่ายส่วนใหญ่คงไม่ใช่อะไรที่ไหน นอกจากรายจ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะรายละเอียดการใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ เนี่ยแหละที่ทำให้เราไม่สามารถจดจำได้หมดว่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง

พี่ทุยอยากให้ทุกคนลองสังเกตพฤติกรรมการใช้เงินในแต่ละเดือนของตัวเอง เราต้องรู้ว่าค่าใช้จ่ายจำเป็นเรามีอะไรบ้าง เช่น ค่าเช่าที่พัก ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ โดยประมาณการค่าใช้จ่ายแต่ละอย่างที่จะเกิดขึ้นเพื่อเรานั้นได้แบ่งเงินเดือนส่วนที่หนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

และอย่างที่เรารู้กันว่าปกติแล้วใช้เงินให้พอตลอดทั้งเดือนยังยากลำบาก จะเอาเงินที่ไหนมาเก็บได้ล่ะ ซึ่งวิธีแก้นั้นง่ายมากเลย หลังจากแบ่งส่วนของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้วออกไปก่อนแล้ว ต่อมาเราต้องออมก่อนใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ส่วนจะออมเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละคน ไม่ต้องออมจนตัวเองลำบากในการใช้จ่ายตลอดทั้งเดือน

หลังจากนั้นเราเองก็จะรู้แล้วว่า เราจะเหลือเงินเท่าไหร่สำหรับการใช้จ่ายในแต่วันไปจนถึงวันที่เงินเดือนออกอีกครั้งหนึ่ง และเราควรจะมีการจดบันทึกเพื่อให้เรารู้ว่าในแต่ละวันเราใช้เงินหมดไปกับอะไรและค่าใช้จ่ายบางอย่างมันจำเป็นหรือเปล่า พี่ทุยว่าเราจะสามารถควบคุมการใช้จ่ายของตัวเราเองได้มากขึ้น

พี่ทุยบอกเลยว่าปัญหาการใช้เงินชนเดือนไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยแต่มันเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพการเงินที่ไม่ดีในอนาคต เราควรรู้จักการใช้เงินของเราและบริหารเงินเพื่อที่เราไม่ต้องมานั่งปวดหัวว่าจะทำอย่างไรถึงจะอยู่รอดจนถึงสิ้นเดือน และไม่อยากต้องมานั่งกลุ้มว่าเดือนนี้รอดแล้ว เดือนถัดไปจะรอดแบบนี้มั้ยนั่นเอง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย