ลาออกจากบริษัทให้ได้เงินเยอะที่สุด

“ลาออก” จากบริษัทยังไงให้ได้เงินเยอะที่สุด ? – คู่มือเตรียมตัวก่อนลาออก

3 min read  

ฉบับย่อ

  • เมื่อเรา “ลาออก” คือการเริ่มต้นเส้นทางชีวิตใหม่ การตั้งต้นด้วยการตักตวงผลประโยชน์จากที่เดิมก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเช่นกัน แน่นอนว่ามันเป็นคนละเรื่องกับการทุจริต
  • เคล็ดลับว่าก่อน “ลาออก” เราต้องเตรียมอะไรบ้างเพื่อให้ออกจากบริษัทแล้วได้เงินเยอะที่สุดหรือคุ้มที่สุด แน่นอนว่าการลาออกแต่ละครั้งเราต้องการให้มันเป็นจุดเปลี่ยนที่ดี การเริ่มต้นที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เราควรเริ่มกันตั้งแต่การตักตวงผลประโยชน์จากบริษัทเก่าให้ได้มากที่สุด

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

การ “ลาออก” อาจจะเกิดขึ้นเมื่อตอนที่เราต้องการเปลี่ยนสายงาน อัปเงินเดือนให้กับตัวเอง หรือออกมาประกอบธุรกิจของตัวเอง แน่นอนว่าการลาออกแต่ละครั้งเราต้องการให้มันเป็นจุดเปลี่ยนที่ดี การเริ่มต้นที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เราควรเริ่มกันตั้งแต่การตักตวงผลประโยชน์จากบริษัทเก่าให้ได้มากที่สุด (ฮ่า) #แน่นอนแหละว่าใครๆ ก็อยากที่จะรักษาผลประโยชน์ตัวเองอยู่แล้ว

บทความนี้พี่ทุยจะพามาดูเคล็ดไม่ลับกันดีกว่า ว่าก่อน “ลาออก” เราต้องเตรียมอะไรบ้างเพื่อให้ออกจากบริษัทแล้วได้เงินเยอะที่สุดหรือคุ้มที่สุดกัน !!

1. ดูรอบโบนัสให้ดี

โดยปกติแล้วถ้าคนที่ไม่ได้ทำงานเป็นฝ่ายขาย สิ่งนึงที่เราลุ้นกันตัวโก่งกันทุกปีเลยก็คือ โบนัส ส่วนใหญ่บริษัทก็จะจ่ายโบนัสในเดือนเดียวกันในทุก ๆ ปี อันนี้ก็แล้วแต่บริษัทว่าจ่ายปีละครั้งหรือสองครั้ง พี่ทุยว่าอย่างน้อยก็น่าจะอยู่รอโบนัสก่อนค่อยออกก็ไม่เลวนะ

แต่ถ้าโอกาสมาแล้ว รอไม่ได้ต้องออกทันทีหรือไม่ทันโบนัส พี่ทุยว่าก็ไม่ต้องคิดจนเป็นปัจจัยหลักขนาดนั้น

2. ดูเงื่อนไขกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  

สำหรับบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ก็อย่าลืมดูเงื่อนไขให้ดี เพราะส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบให้เราจะมีเงื่อนไขอยู่ว่าทำงานกี่ปี จะได้สมทบเท่าไหร่ ถ้าเราทำงานมานานจนอยู่ใกล้ช่วงรอบต่อก็จะได้เปอร์เซ็นต์มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าเงื่อนไขบริษัทหรือทำงานมา

  • 3 ปี จ่ายสมทบ 30%
  • 5 ปี จ่ายสมทบ 50%
  • 10 ปี จ่ายสมทบ 100%

แล้วทำงานมาสัก 4 ปี 7 เดือนแบบนี้ พี่ทุยว่ารออายุให้เลย 5 ปีแล้วเราได้ 50% ก็น่าจะคุ้มอยู่เหมือนกันนะ

3. ดูวันลาต่าง ๆ ประกอบด้วย

เวลาที่จะลาออกแล้ววันลาเรายังพอเหลืออยู่ พี่ทุยว่าบางทีก็สามารถบริหารได้อยู่นะ เช่น ถ้าเราทำงานวันสุดท้ายคือวันที่ 30 พฤศจิกายน แล้วเรายังมีวันลาเหลือ เราอาจจะมาทำงานวันสุดท้ายคือ 15 พฤศจิกายนก็เป็นไปได้ ที่เหลือก็ใช้วันลาไปโลดดดดด

ถ้าใครจะใช้วิธีนี้ก็อย่าลืมเคลียร์งาน ถ่ายงานให้เรียบร้อยก่อนเสมอ จะได้ไม่เป็นภาระคนอื่น แล้วลองคุยกับหัวหน้าดู ซึ่งหัวหน้าเข้าใจเราอยู่แล้วล่ะ

4. บัตรเครดิตสมัครไว้ก็ไม่เลว

ถ้าใครจะลาออกแล้วไม่ได้ทำงานประจำต่อ พี่ทุยอยากจะแนะนำอย่างนึง คือ สมัครบัตรเครดิตไว้หน่อยก็ไม่เสียหายนะ เพราะถ้าไม่เป็นมนุษย์เงินเดือนเนี้ย บัตรเครดิตทำยากอยู่เหมือนกัน อันนี้ประสบการณ์ตรงเลย เพราะเดี่ยวนี้ไม่ว่าจะทำอะไรบัตรเครดิตเข้ามามีส่วนร่วมกับชีวิตเราเยอะอยู่เหมือนกัน

5. อย่าลืมไปขึ้นทะเบียนคนว่างงาน

ทุกเดือนจะถูกหัก 750 บาทไปจ่ายให้กับประกันสังคม แล้วรู้กันหรือไม่ว่าเงินส่วนนึงถูกจ่ายให้กับการประกันการว่างงาน ถ้าเราลาออกสามารถไปขึ้นทะเบียนคนว่างงานแล้วได้เงินช่วยเหลือสูงสุดเดือนละ 4,500 บาทไปยาว ๆ 3 เดือนเลยนะ อาจจะเป็นเงินไม่เยอะแต่พี่ทุยว่าก็ไม่เสียหายนะ ไปขึ้นซะหน่อย ถ้าหากว่าเราลาออกแล้วยังไม่มีงานทำต่อ (แต่ถ้าไม่ได้มีจุดประสงค์อื่น ๆ ที่จะต้องทำ พี่ทุยก็แนะนำให้หางานใหม่ก่อนแล้วค่อยลาออกน่าจะดีกว่านะ)

แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดที่พี่ทุยว่ายังไงก็ต้องมี คือ การเตรียมเงินก้อนนึงเผื่อฉุกเฉินไว้ด้วย พี่ทุยย้ำเสมอเลยนะ เพราะจะเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงในกรณีที่ถ้าเราออกไปแล้วธุรกิจไม่ดีอย่างที่คิด เราก็ยังมีเงินพอหมุนปรับตัวกันได้ด้วย

สำหรับใครจะออกมาลุยธุรกิจก็อาจจะลำบากหน่อย เหนื่อยหน่อย อาจจะมีบางอย่างไม่เป็นอย่างที่คิด แต่ยังไงก็แล้วแต่ผลตอบแทนจากความเหนื่อยยังไงพี่ทุยว่าก็คุ้มแน่นอน !! พี่ทุยเป็นกำลังใจให้กับทุกคนอยู่แล้ว..

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย