ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 ช่วงที่สงครามการค้ากำลังร้อนระอุ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางเยือนบริษัท JL MAG Rare-Earth ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปแร่ “Rare Earth” แห่งหนึ่งในมณฑลเจียงซี การเดินทางดังกล่าวถูกจับตามองและมีการวิเคราะห์ว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเด็นการค้า และอาจนำแร่แรร์เอิร์ธมาเป็นไพ่เด็ดในการเจรจากับสหรัฐฯ
ซึ่งประเด็นการใช้แร่แรร์เอิร์ธเป็นไม้ตายเพื่อเจรจากับสหรัฐฯ กลับมาเป็นที่พูดถึงและสร้างแรงกดดันระหว่างสองชาติมหาอำนาจอีกครั้ง หลังมีรายงานข่าวว่าประเทศจีนกำลังพิจารณาจำกัดการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธหรืออาจเป็นเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อการถลุงแร่
วันนี้พี่ทุยเลยอยากพาไปรู้จักกับแร่แรร์เอิร์ธ รายละเอียด และเบื้องลึกระหว่างสองชาติมหาอำนาจว่าเป็นอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย
แร่ “Rare Earth” คืออะไร ?
แร่แรร์เอิร์ธ หรือกลุ่มแร่หายาก คือสินแร่ชนิดโลหะธาตุ เป็นแร่ธาตุ 17 ชนิดที่เรียกว่า กลุ่มธาตุแลนทาไนด์ (Lanthanide) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายโลหะ ไม่ได้เอามาผลิตเพื่อเป็นโลหะโดยตรง แต่ใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตสินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวัน
โดยแร่แรร์เอิร์ธเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น หน้าจอ แผงวงจร ลำโพง แบตเตอรี่ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น Tesla หรือแบรนด์อื่น ๆ กว่า 90% ต้องใช้แร่แรร์เอิร์ธเช่นเดียวกับเครื่องบินรบรุ่น F-35 ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งการสร้างเครื่องบินดังกล่าว 1 ลำ ต้องใช้แร่เหล่านี้ถึง 920 ปอนด์ (420 กิโลกรัม) และยังเป็นส่วนประกอบในยุทโธปกรณ์ (วัสดุ อุปกรณ์ และอาวุธในการบริหารห่วงโซ่อุปทานของทหาร) ต่างๆ ของกองทัพสหรัฐฯ อีกมากมาย
การเรียกว่าแร่แรร์เอิร์ธหรือแร่หายากไม่ได้เป็นเพราะมีอยู่น้อย บางประเทศมีแร่เยอะแต่ไม่รวมกลุ่มในแหล่งเดียวกัน กระบวนการทำเหมืองและถลุงแร่มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นไม่ใช่ทุกที่ที่จะทำเหมืองและถลุงได้แต่แร่เหล่านี้
แร่ “Rare Earth” กับจีนและสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เป็นผู้นำเบอร์ 1 ของการผลิตแร่แรร์เอิร์ธมาจนถึงราวปี 1980 ซึ่งประเทศจีนเริ่มเข้ามาทำอุตสาหกรรมดังกล่าว และตัดสินใจใช้อุตสาหกรรมนี้สร้างความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จนทำให้ในปัจจุบันประเทศจีนก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 โดยผลิตแร่แรร์เอิร์ธถึง 80% ของกำลังการผลิตทั่วโลก โดยมีแหล่งแร่สำรองคิดเป็น 35% ของทั้งโลก นอกจากนี้ประเทศสหรัฐฯ นำเข้าแร่แรร์เอิร์ธกว่า 80% ของปริมาณที่นำเข้าทั้งหมดจากประเทศจีน
เหตุผลที่ประเทศจีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการผลิตแร่แรร์เอิร์ธเพราะมีเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อถลุงแร่ที่เหนือกว่าชาติอื่น ส่งผลให้ไม่ว่าประเทศใดจะทำเหมืองได้แร่ออกมาก็ต้องส่งออกไปยังจีนเพื่อถลุงแร่ ซึ่งหนึ่งในประเทศเหล่านั้นก็คือประเทศสหรัฐฯ
อุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีอุปสรรคในการเข้าตลาดที่สูงมาก เนื่องจากการทำเหมืองต้องการเงินทุนที่สูงมาก และหากไม่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ก็จะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด อีกทั้งการทำเหมืองแร่เหล่านี้ยังมีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมสูง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีบริษัทใดเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าวโดยไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล
เมื่อแร่แรร์เอิร์ธคือหมากรุกในสงครามการค้า
หลังจากที่แร่แรร์เอิร์ธถูกนำมาเป็นหมากตัวหนึ่งในสงครามการค้า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ตระหนักถึงความเสี่ยงและสนับสนุนเงินทุนให้บริษัท MP Materials Corp เพื่อพัฒนากระบวนการทำเหมืองและคัดแยกแร่
บทบาทของแร่แรร์เอิร์ธในการต่อรองระหว่างจีนและสหรัฐฯ เกิดขึ้นระหว่างสงครามการค้า ซึ่งทั้งสองประเทศมหาอำนาจตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน ทำให้ประเทศจีนเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าแร่แรร์เอิร์ธจาก 10% ไปที่ 25% (ล่าสุดจีนยกเลิกกำแพงภาษีดังกล่าวระหว่างเดือนพฤษภาคมปี 2020 ถึงเดือนพฤษภาคมปี 2021) ส่วนสหรัฐฯ ไม่ตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าแร่ดังกล่าวจากประเทศจีน สะท้อนความได้เปรียบที่ประเทศจีนมีเหนือสหรัฐฯ ในหมากกระดานนี้
หลังข่าวเงียบหายไปนาน ล่าสุดมีรายงานว่าประเทศจีนกำลังพิจารณาจำกัดการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธ แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณตอบโต้สหรัฐฯ หลัง Joe Biden เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้มีการปรับท่าทีและยุทธศาสตร์ ซึ่งเริ่มสร้างแรงกดดันต่อประเทศจีนโดยเฉพาะกรณีประเทศไต้หวันและความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
การปรับตัวของหุ้นบริษัท MP Materials Corp
นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าว ว่าประเทศจีนกำลังพิจารณาจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังประเทศที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงต่อประเทศจีน โดยหลังมีรายงานข่าวออกมา ราคาหุ้นบริษัท MP Materials Corp ซึ่งเป็นผู้ผลิตแร่แรร์เอิร์ธในสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นถึง 6.4%
ส่วนกรณีที่หากมีคู่แข่งปรากฏตัวขึ้นในตลาด ประเทศจีนอาจใช้กลยุทธ์ทุ่มตลาดคล้ายกับกรณีของซาอุดิอาระเบียกับตลาดน้ำมันดิบ เพื่อลความสามารถในการแข่งขันของคู่แข่ง
ความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) อันเนื่องมาจากสถานการณ์ระหว่างสองชาติมหาอำนาจ ทำให้ Anthony Marchese ประธานบริษัท Texas Mineral Resources มองว่าจากนี้ไปบริษัทที่ต้องใช้แร่แรร์เอิร์ธต้องจัดซื้อในแง่ของกลยุทธ์แล้ว เช่น บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ซื้อจากแหล่งในประเทศหรือชาติพันธมิตรซึ่งอาจมีราคาแพงกว่าการซื้อจากประเทศจีน เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานยังมีเสถียรภาพ
พี่ทุยมองว่าความตึงเครียดระหว่างสองชาติมหาอำนาจจะดำเนินต่อไปอีกนาน ซึ่งที่ผ่านมาแร่แรร์เอิร์ธเริ่มมีบทบาทมากขึ้น และยังเป็นหมากตัวสำคัญที่จีนกุมความได้เปรียบจนสามารถใช้ต่อรองกับสหรัฐฯ อย่างง่ายดาย ส่วนสหรัฐฯ ก็อาจต้องทุ่มงบประมาณพัฒนาหรือปรับกลยุทธ์การนำเข้าเพื่อลดความเสียเปรียบลง..
Source:
https://worldview.stratfor.com
https://www.statista.com
https://ngthai.com
https://www.argusmedia.com
https://www.airforcemag.com
https://www.visualcapitalist.com