ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2022 คะแนนนิยมเป็นประเด็นสำคัญในช่วงเวลาต่อจากนี้ สำหรับทั้งพรรค Democrat และ Republican นโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ก็ต้องทำให้ต้องเร่งอนุมัติ “กฎหมายใหม่สหรัฐฯ” ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเพื่อเรียกคะแนนนิยม แต่อีกด้านก็เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
วันนี้พี่ทุยจะขอพาไปเจาะลึกร่างกฎหมาย CHIPS and Science Act และ Inflation Reduction Act ที่จะพัฒนากลุ่ม Semiconductor และพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ เพื่อขับเคี่ยวแย่งความเป็นผู้นำโลกกับจีน
ภาพรวม CHIPS and Science Act หนึ่งใน “กฎหมายใหม่สหรัฐฯ”
วันที่ 9 ส.ค. 2022 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามอนุมัติกฎหมาย CHIPS and Science Act เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรม Semiconductor ของสหรัฐฯ รวมไปถึงให้งบประมาณการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และอวกาศ
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยเป็นผู้นำการผลิตชิปของโลก ปี 1990 มีส่วนแบ่งการผลิต 37% ของกำลังการผลิตทั่วโลก ปัจจุบันเหลือ 12% โดย 75% ของกำลังการผลิตมาจากประเทศในเอเชีย ประธานาธิบดีไบเดนเผยว่ากฎหมายฉบับนี้ก็จะนำ Semiconductor กลับมาสู่แผ่นดินเกิด
การจัดสรรงบประมาณ
กฎหมายนี้จะใช้งบประมาณราว 200,000 ล้านดอลลาร์ ในกรอบเวลา 5 ปี แบ่งเป็น 54,200 ล้านดอลลาร์ สำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิปและการทำวิจัย และ 170,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และอวกาศ
งบประมาณสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิปและการทำวิจัย (54,200 ล้านดอลลาร์)
- 39,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นทุนให้การสร้าง ขยาย หรือพัฒนาเครื่องมือสำหรับการผลิต การวิจัยและพัฒนา Semiconductor
- 11,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อการวิจัยและพัฒนาด้าน Semiconductor
- 200 ล้านดอลลาร์ พัฒนาแรงงานเพื่ออุตสาหกรรม Semiconductor
- 2,000 ล้านดอลลาร์ พัฒนาการป้องกันประเทศ
- 500 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนความปลอดภัยของการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ และกิจกรรมห่วงโซ่อุปทานของ Semiconductor
- 1,500 ล้านดอลลาร์ พัฒนาห่วงโซ่เทคโนโลยีการติดต่อแบบไร้สาย (Wireless)
นอกเหนือจากนั้นยังมีงบประมาณเครดิตภาษี 25% สำหรับบริษัทที่หันมาลงทุนการผลิต Semiconductor ในสหรัฐฯ
งบประมาณการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และอวกาศ (170,000 ล้านดอลลาร์)
เป็นเงินลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และอนุมัติเพิ่มเติมนอกจากงบจากรัฐบาลกลางอีก 82,500 ล้านดอลลาร์
งบนี้จะพัฒนาเทคโนโลยี เช่น AI, ควอนตัมคอมพิวเตอร์, 6G เป็นต้น รวมไปถึงก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค ส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อยพร้อมกับลดความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีระดับสูง และยังส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์
ผลกระทบเชิงบวกจาก CHIPS and Science Act ต่อตลาดหุ้น
แม้ว่างบส่วนใหญ่จะเน้นไปยังงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ แต่ด้วยการกระจายไปหลายภาคส่วน อีกทั้งยังไม่มีบริษัทในตลาดหุ้นที่รับประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างชัดเจน ตรงข้ามกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Semiconductor ทั้งผู้ผลิต ผู้ออกแบบ และส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น วัตถุดิบ, โปรแกรมออกแบบที่รับผลดีโดยตรงและแทบในทันที เช่น Intel, Micron Technology, Texas Instruments ซึ่งต่างเป็นผู้ผลิตจากสหรัฐฯ นอกจากนั้นยังมีผู้ผลิตยักษ์ใหญ่จากเอเชียอย่าง TSMC, Samsung ที่รับประโยชน์จากการสร้างโรงงานในสหรัฐฯ
พี่ทุยแนะนำ iShares Semiconductor ETF (SOXX) ซึ่งมีสัดส่วนบริษัทสหรัฐฯ ทั้งผู้ออกแบบ ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย Semiconductor แต่ถ้าต้องการกองทุนที่มีสัดส่วนผู้ผลิตจากเอเชียด้วยก็แนะนำ VanEck Semiconductor UCITS ETF
ภาพรวม Inflation Reduction Act (IRA) อีกหนึ่ง “กฎหมายใหม่สหรัฐฯ”
วันที่ 16 ส.ค. 2022 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามอนุมัติกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) มีกรอบเวลา 10 ปี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การระดมทุน, การลงทุน การระดมทุนตั้งเป้าไว้ที่ 737,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนการลงทุนอยู่ที่ 437,000 ล้านดอลลาร์ หักล้างกันแล้วทำให้เหลืองบประมาณ จึงช่วยลดการขาดดุลงบประมาณได้ 300,000 ล้านดอลลาร์
การระดมทุน (737,000 ล้านดอลลาร์)
การปฏิรูปราคายาเริ่มในปี 2026 โดยให้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐต่อรองราคายา 10 ตัวที่มีราคาแพงที่สุด และปี 2029 เพิ่มเป็น 20 ตัว ซึ่งจะมีผลให้บริษัทที่ราคายาเพิ่มมากกว่าอัตราเงินเฟ้อต้องจ่ายเงินส่วนต่างให้กับรัฐบาล คาดว่าจะระดมทุนได้ 265,000 ล้านดอลลาร์
การระดมทุนอีกส่วนราว 222,000 ล้านดอลลาร์ มาจากการเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% กับบริษัทที่มีกำไรมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี พร้อมเก็บภาษี 1% จากการซื้อหุ้นคืนของบริษัทในตลาดหุ้น สร้างรายได้ 74,000 ล้านดอลลาร์ ปฏิรูปภาษีสร้างรายได้ 124,000 ล้านดอลลาร์ สุดท้ายขยายเวลาการจำกัดวงเงินสำหรับนำการขาดทุนทางธุรกิจมาหักภาษีรายได้จากส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจ คาดว่าจะสร้างรายได้ 52,000 ล้านดอลลาร์
การลงทุน (437,000 ล้านดอลลาร์)
เม็ดเงินกว่า 84% คิดเป็น 369,000 ล้านดอลลาร์ ชดเชยทางภาษีจูงใจให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด รวมถึงอุดหนุนด้านภาษีสำหรับรถ EV มือสอง 4,000 ดอลลาร์ และรถ EV ใหม่ 7,500 ดอลลาร์
ขยายเวลาสิทธิ์เครติดภาษีให้ชาวอเมริกันที่เข้าเกณฑ์ซื้อประกันสุขภาพและเพิ่มเงินอุดหนุนเบี้ยประกันไปจนถึงปี 2025 ใช้งบราว 64,000 ล้านดอลลาร์ และแก้ปัญหาภัยแล้งทางฝั่งตะวันตก 4,000 ล้านดอลลาร์
ผลกระทบเชิงบวกจาก IRA ต่อตลาดหุ้น
แม้ชื่อกฎหมายจะเป็นการลดเงินเฟ้อแต่พบว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่กลับเป็นการลงทุนในพลังงานสะอาดซึ่งครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานการผลิตพลังงาน การพัฒนาพลังงานสะอาด รวมไปถึงรถยนต์ EV ซึ่งส่งผลดีต่อบริษัทที่ผลิตชิปให้รถยนต์ EV ด้วย กองทุนที่รับประโยชน์จากเม็ดเงินนี้ คือ Invesco WilderHill Clean Energy ETF และ iShares Global Clean Energy ETF มีทั้งหุ้นบริษัทผลิตพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน และชิปที่เกี่ยวข้องกับรถ EV
ส่วนเป้าหมายการลดเงินเฟ้อคาดว่าในปี 2031 จะลดไปได้ 0.33% ซึ่งจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ช่วงปลายทศวรรษเมื่อกฎหมายได้บังคับใช้อย่างเต็มที่ ด้านตัวเลข GDP จะเพิ่มขึ้น 0.2% ตลอด 10 ปีจากร่างกฎหมายนี้
ขณะที่การเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% และภาษี 1% จากการซื้อหุ้นคืน มีการประเมินว่าจะส่งผลให้ EPS ของดัชนี S&P 500 ลดลงประมาณ 1.5% แต่เมื่อหักล้างกับการเติบโตของ EPS ในปี 2023 เท่ากับว่า EPS ของบริษัทในดัชนียังเติบโตได้ถึง 7%
ต่อจากนี้ตลาดหุ้นยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่องทั้งการขึ้นดอกเบี้ยและ QT แต่ก็ยังมีภาคส่วนที่มีเม็ดเงิน (มหาศาล)ไหลเข้าอยู่ดี ซึ่งอดีตสอนว่าทุกครั้งที่มีเม็ดเงินจากนโยบายรัฐไหลเข้าอุตสาหกรรมใด อุตสาหกรรมนั้นมักจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นกลุ่ม Semiconductor และพลังงานสะอาดจึงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจในช่วงเวลาต่อจากนี้