ภัยพิบัติน้ำท่วม ทำเศรษฐกิจไทยเสียหายแค่ไหน ?

ภัยพิบัติน้ำท่วม ทำเศรษฐกิจไทยเสียหายแค่ไหน ?

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจตามมา โดยเมื่อปี 2011 เป็นปีที่โลกเผชิญกับมูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติสูงสุดที่ 371,200 ล้านดอลลาร์ 
  • ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมมากอันดับ 9 ของโลก โดยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในไทยปี 2011 สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยถึง 1.43 ล้านล้านบาท หากในอนาคตไทยไม่ปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก็มีโอกาสจะเผชิญความเสียหายจากน้ำท่วมรุนแรงขึ้น 2 เท่าเทียบกับปี 2011
  • นักลงทุนควรกระจายความเสี่ยง ลงทุนสินทรัพย์หลากหลายเพื่อรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยควรมีการป้องกันความเสี่ยง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เห็นข่าวน้ำท่วมภาคเหนือและอีสาน โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ที่สถานการณ์หนักก็อดคิดไม่ได้ว่า น้ำท่วมจะทิ้งร่องรอยความเสียหายเอาไว้มูลค่าสูงขนาดไหน แต่ที่แน่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบไหน เมื่อไหร่ที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะในพื้นที่ใด ย่อมสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจตามมา ส่วน ภัยพิบัติน้ำท่วม จะมีผลกระทบต่อการลงทุนหรือไม่ อย่างไรนั้น พี่ทุยจะมาวิเคราะห์ให้ฟัง

ทั่วโลกเจอภัยพิบัติบ่อยขึ้น และความเสียหายก็หนักขึ้น

ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสังคมหรือชุมชน หลังจากเกิดภัยพิบัติไปแล้วก็จะนำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งก็จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจในที่สุด ส่วนระดับความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัตินั้นได้ดีเพียงใด และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มีความแข็งแกร่ง ทนทานแค่ไหน  

ทั้งนี้ รูปแบบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้แก่ ภัยแล้ง น้ำท่วม แผ่นดินไหว สภาพอากาศที่รุนแรง อุณหภูมิที่สูงเกินไป ภูเขาไฟระเบิด ไฟป่า และ น้ำท่วม เป็นต้น

ข้อมูลจาก Our World in Data ระบุว่า เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว จะมีความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นตามมา ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจากสถิติมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 1980 – 2024 พบว่า มูลค่าความเสียหายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2011 เป็นปีที่มูลค่าความเสียหายสูงสุด ที่ 371,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในปีนั้น มีเหตุการณ์ภัยพิบัติสำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ได้แก่ แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น ภัยแล้งทางตะวันออกของแอฟริกา พายุโซนร้อนกำลังแรงวาชิ และพายุทอร์นาโดทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ เป็นต้น 

ส่วนปีที่มีมูลค่าความเสียหายรองลงมาคือ ปี 2017 อยู่ที่ 327,050 ล้านดอลลาร์ โดยเหตุการณ์ภัยพิบัติสำคัญที่เกิด ได้แก่ การเกิดภัยพิบัติ 16 เหตุการณ์กระจายหลายพื้นที่ในสหรัฐฯ ทั้งพายุหมุนเขตร้อน พายุที่รุนแรง น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่า การเกิดเหตุน้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว และเฮอริเคน ในจีน เซียร์ราลีโอน อินเดีย เม็กซิโก บังคลาเทศ และอเมริกากลาง การเกิดน้ำท่วมและมรสุมในเอเชียใต้ การเกิดเฮอริเคนและแผ่นดินไหวในอเมริกาเหนือ และการเกิดดินถล่ม และภัยแล้งในแอฟริกา 

ขณะที่ ปี 2023 มูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งหมดอยู่ที่ 203,350 ล้านดอลลาร์ โดยหากพิจารณาความเสียหายเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมนั้น อยู่ที่ประมาณ  20,370 ล้านดอลลาร์ ส่วน ปี 2024 มูลค่าความเสียหาย ณ เดือน เม.ย. 2024 อยู่ที่ 18,040 ล้านดอลลาร์แล้ว

ความเสียหายทางเศรษฐกิจรอบโลกที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นับตั้งแต่ปี 1980-2024

ภัยพิบัติน้ำท่วม ความเสียหายหลักของไทย

คราวนี้มาดูในไทยกันบ้างดีกว่าว่า เรามีความเสี่ยงในการเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติมากแค่ไหน โดยจากข้อมูลใน Climate Change Knowledge Portal ของ World Bank ซึ่งรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์และการคาดการณ์ในอนาคตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงจะเผชิญอันตรายทางธรรมชาติมากมาย เช่น น้ำท่วม สึนามิ พายุ ภัยแล้ง ดินถล่ม และไฟป่า โดยเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติในอดีตที่เคยส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างรุนแรง ก็คือ เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ที่เกิดขึ้นในปี 2004 ส่วนภัยพิบัติที่คุกคามประเทศไทยอยู่เป็นประจำคือ ภัยแล้ง และน้ำท่วม 

ทั้งนี้ หากดูสถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 1980-2020 พบว่า น้ำท่วม เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติหลัก ๆ ที่ประเทศไทยเผชิญบ่อยที่สุด โดยเผชิญเหตุการณ์รวม 78 ครั้ง คิดเป็นสัดส่วน 48.45% ของภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยรวม นอกจากนี้ ยังเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีประชาชนได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อเทียบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ  

ภัยพิบัติน้ำท่วม ความเสียหายหลักของไทย

จำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหลัก ๆ ในไทยช่วงปี 1980-2020

ขณะที่ ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย การรับมือกับภัยแล้งและอุทกภัยเพื่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ที่ World Bank จัดทำขึ้นในเดือน มิ.ย. 2023 ระบุว่า ไทยและหลายประเทศในอาเซียนมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยไทยมีความเสี่ยงด้านน้ำท่วมอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก รองจากเวียดนาม เมียนมาร์ และกัมพูชา ซึ่งตัวเลขนี้มาจากดัชนีการบริหารความเสี่ยง (INFORM Index) 

ทั้งนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2011 ในไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 680 ราย ส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบ 13 ล้านคน สร้างความเสียหายและความสูญเสียต่อเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท หรือ 46,500 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 12.6% ของ GDP  

ด้านสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) ประเมินว่าไทยจะเผชิญความสูญเสียจากน้ำท่วมเฉลี่ย 2,600 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยกรุงเทพฯ และพื้นที่อุตสสาหกรรมส่งออกโดยรอบยังมีความเสี่ยงเผชิญกับน้ำท่วม แม้จะมีมาตรการควบคุมแล้ว ในส่วนของปัญหาภัยแล้งของไทยนั้น เกิดจากการขาดแคลนปริมาณน้ำฝน การลดลงของปริมาณน้ำในแม่น้ำผิวดินและใต้ผิวดิน และการจัดการที่ดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยไทยเคยเผชิญกัยภัยแล้งรุนแรง ในปี 1979 ปี 1994 และปี 1999 โดยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่อัตราความยากจนสูงที่สุด เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยแล้งมากที่สุด 

ส่วนในอนาคตนั้น คาดการณ์ว่า หากไทยไม่มีมาตรการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็อาจเผชิญกับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงขึ้นเป็น 2 เท่าได้ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2011

โดยน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคเหนือ-อีสานในปีนี้ก็มีหลายสำนักออกมาคาดการณ์ความเสียหายไว้ อย่างเช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็คาดการณ์ว่า น้ำท่วมปีนี้จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ  ประมาณ 25,000-27,000 ล้านบาท

คำถามต่อมาที่นักลงทุนอดห่วงไม่ได้ก็คือ เวลาเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนหรือไม่ อย่างไร และเราควรเลือกลงทุนสินทรัพย์แบบไหนถึงจะรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติได้

โลกลงทุนจะกระทบยังไง หลังเจอภัยพิบัติ

ข้อมูลจาก ig.com เว็บไซต์ผู้ให้บริการเทรดดิ้งระดับโลกชี้ว่า เวลาที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น สินทรัพย์ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ อาจต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนค่อนข้างนานได้ โดยอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์ มักจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยสินค้าโภคภัณฑ์ที่มูลค่าเพิ่มขึ้น มีตั้งแต่โลหะเฉพาะ พลังงาน และสินค้าเกษตร

สรุปสถานการณ์การลงทุนในช่วงที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ 

  • ตลาดการเงินจะผันผวนในระยะสั้น โดยราคาหุ้นจะผันผวนอย่างรวดเร็ว จากแรงซื้อหรือขาย โดยเฉพาะหุ้นที่มีความเสียหายเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนั้น
  • ห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักจะนำไปสู่การขาดแคลนสินค้าและบริการ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาหุ้นของบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบ 
  • เกิดผลกระทบทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากธุรกิจต้องปิดทำการ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้จ่ายและการลงทุนของผู้บริโภคที่ชะลอตัว  
  • อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงอย่างกะทันหัน ราคาก็จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์หายากขึ้น

ตัวอย่างเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในอดีตและผลกระทบด้านการลงทุนที่ตามมา 

  • พายุเฮอริเคน Katrina ในปี 2005 ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่มีมาก่อน โดย

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2005 พายุเฮอริเคน Katrina ที่พัดถล่มสหรัฐฯ ทำให้กิจกรรมการกลั่นต้องหยุดชะงัก เกิดการขาดแคลนน้ำมันอย่างรุนแรง โดยราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายในเวลาอันสั้น 

  • สึนามิในญี่ปุ่น ปี 2011 ทำให้ดัชนี Nikkei ร่วง 7.5%  

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 9.1 ริกเตอร์ บริเวณพื้นทะเลห่างจากชายฝั่งภูมิภาคโทโฮคุของญี่ปุ่นประมาณ 70 กิโลเมตร ในวันที่ 11 มี.ค. 2011 ส่งผลทำให้เกิดสึนามิครั้งใหญ่ตามมา และในไม่กี่วันหลังจากนั้นดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่น ก็ร่วงลงถึง 7.5% 

  • ไฟป่าในแคลิฟอร์เนีย ส่งผลให้ราคาหุ้น PG&E ร่วงลง

ในปี 2017 และ ปี 2018 หุ้นของบริษัท Pacific Gas and Electric หรือ PG&E ได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์ไฟป่าในแคลิฟอร์เนีย ปี 2017 และปี 2018 เนื่องจาก สาเหตุของไฟไหม้ครั้งใหญ่นี้เกิดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปสัมผัสกับสายไฟฟ้าของบริษัท PG&E และมีข่าวลือว่าจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น 

เจอ ภัยพิบัติน้ำท่วม นักลงทุนปรับพอร์ตยังไง

มาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงอยากจะรู้ว่า ถ้าอยากจะรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่บ้าง ควรจะต้องวางกลยุทธ์ลงทุนอย่างไร 

พี่ทุยแนะนำว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำคือ การกระจายความเสี่ยงโดยแบ่งเงินลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ แทนที่จะกำเงินไปกองรวมไว้กับสินทรัพย์เดียว เพราะเวลาที่สินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นมา ก็อาจจะยังมีสินทรัพย์ประเภทอื่นในพอร์ตที่ไม่ได้รับผลกระทบ และช่วยพยุงให้พอร์ตไม่ติดลบอย่างหนักได้ 

สำหรับการลงทุนในหุ้น ก็อาจจะต้องเลือกกระจายความเสี่ยงโดยกระจายลงทุนหลากหลายประเทศ แทนที่จะลงทุนเฉพาะหุ้นในประเทศอย่างเดียว หรือให้น้ำหนักไปที่ประเทศใดประเทศเดียว เพราะเวลาเกิดเหตุการณ์ในประเทศหนึ่ง ก็อาจจะกระทบประเทศนั้นประเทศเดียว แต่ไม่ได้กระทบประเทศอื่น นอกจากนี้ควรกระจายลงทุนหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม มากกว่าพุ่งเป้าไปที่หุ้นตัวเดียว หรืออุตสาหกรรมเดียวด้วย เพราะการกระจายลงทุนหลายๆ อุตสาหกรรมก็ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดความเสี่ยง เพื่อป้องกันการขาดทุนที่อาจจะตามมาจากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

นอกจากนี้ พี่ทุยมองว่า ควรลงทุนในทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนส่วนมากมองว่าเป็น สินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ โดยอาจจะลงทุนในสัดส่วนไม่มาก เอาไว้เพื่อให้อุ่นใจ เวลาเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้วสินทรัพย์ประเภทอื่นในพอร์ตลงทุนได้รับผลกระทบมูลค่าปรับลดลง ก็อาจจะยังมีทองคำที่ช่วยพยุงพอร์ตเอาไว้ไม่ให้ร่วงหนักได้ ส่วนในกรณีที่เป็นผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์สูง อาจจะมีการลงทุนในตลาดอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเอาไว้ด้วย เช่น การซื้อล่วงหน้าสิทธิในการขายเอาไว้ เป็นต้น 

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile