ส่อง งบปี 68 ขาดดุล 19 ปีติด กู้ใกล้ชนเพดาน

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ถือเป็นงบขาดดุลปีที่ 19 ติดต่อกันของไทย และขาดดุลมากสุดในรอบหลายสิบปี ทำให้ไทยมีกระสุนสำรองรับมือวิกฤตน้อยลง
  • ที่ผ่านมาเอาตัวรอดได้ เพราะมีภาคส่งออก และท่องเที่ยวคอยเกื้อหนุน แต่เงื่อนไขในปัจจุบันทำได้ยากขึ้นท่ามกลางข้อจำกัดมากมายทั้งภายในและภายนอก
  • งบประมาณไทยจะยังคงขาดดุลต่อไปในช่วง 4 ปีจากนี้ ทำให้ต้องรีบยกระดับศักยภาพการหารายได้เข้ารัฐ ควบคู่กับยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และควบคุมรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ปฏิเสธไม่ได้ว่า งบประมาณภาครัฐคือส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐสภาเพิ่งจะเห็นชอบร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ในวาระ 1 ไป โดยมีตัวเลขสูงถึง 3,752,700 ล้านบาท แม้จะยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนอนุมัติขั้นนสุดท้ายในวาระ 3 แต่ถือเป็นตัวเลขรายจ่ายที่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แถม งบปี 68 ยังเป็นการขาดดุลงบประมาณ 19 ปีติดต่อกันอีกด้วย ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะไปต่อไหวไหม วันนี้พี่ทุยหาคำตอบมาให้แล้ว

งบปี 68 กระสุนสำรองที่ร่อยหรอลง

โดยหลักแล้วการตั้งงบรายจ่ายแบบขาดดุลไม่ใช่เรื่องน่ากลัวมากนัก หากว่าเป็นการจ่ายออกไปเพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุน เพราะสุดท้ายภาครัฐจะได้เงินหวนกลับคืนมาในรูป “ภาษี” อยู่ดี

แต่หากว่าเป็นการจ่ายออกไปอย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทางที่แน่ชัด ก็ย่อมเป็นสิ่งที่น่าวิตกอยู่ เพราะนั่นย่อมทำให้ภาครัฐเหลือกระสุนสำรองทางการคลัง เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจในวันข้างหน้าได้น้อยลง 

จากการประมาณการคาดว่า หากงบรายจ่ายปี 2568 นำออกมาใช้จ่ายจริงตามแผนทั้งหมด จะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ประเทศพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ 68.6% ทันที ขณะที่กฎหมายกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 70% 

ปัจจัยหลักมาจากการตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือที่เรียกว่า การกู้เงินเพื่อชดเชยเอาไว้สูงถึง 4.5% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่หลายประเทศกำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 3% ของ GDP

ส่งผลให้ไทยมีศักยภาพเพื่อรองรับไว้กับวิกฤตในอนาคตน้อยลงนั่นเอง เพราะจะเหลือโควต้าให้กู้ยืมมาใช้ได้อีกเพียง 2% ของ GDP เท่านั้น

ซึ่งเมื่อพี่ทุยหันกลับมาดูสภาวะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าไทยในขณะนี้ ทั้งการขยายตัวของ GDP ที่ช้าลง การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการส่งออกที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตามภาวะการค้าโลก ก็บอกได้คำเดียวว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

เพราะรายจ่ายงบ 68 ที่เกิดขึ้นยังไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศโดยตรง แต่ยังคงหมดไปกับรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการ การเบิกสวัสดิการต่าง ๆ และภารกิจการดูแลประเทศทั่วไป ถึงกว่า 2.7 ล้านล้านบาทคิดเป็น 72.07% ของงบทั้งหมด

ขณะที่ งบเพื่อการลงทุนเพื่อการพัฒนาและยกระดับศักยภาพในอนาคตของประเทศมีเพียง 9 แสนล้านกว่าบาท คิดเป็น 24.2% ของงบทั้งหมดเท่านั้น แถมไส้ในยังสอดไส้โครงการดิจิทัลวอลแล็ตเอาไว้ 

ที่ผ่านมางบขาดดุล ไทยอยู่รอดมาได้อย่างไร

การตั้งบแบบขาดดุลไม่ใช่เพิ่งเกิด เพราะไทยใช้งบประมาณแบบ “ขาดดุล” มาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว ทำให้เป็นการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 19 เนื่องจากแต่ละยุคสมัยทุกรัฐบาลล้วนต้องเผชิญกับภาวะจำเป็นที่ต้องบีบให้ใช้จ่ายมากกว่ารายรับที่หาเข้ามาได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก ภัยธรรมชาติ ความไม่สงบทางการเมือง และโลกระบาด

การขาดดุลงบประมาณรายจ่ายของไทยแต่ละปี

  • 2550 ขาดดุล 146,200 ล้านบาท
  • 2551 ขาดดุล 165,000 ล้านบาท
  • 2552 ขาดดุล 347,060 ล้านบาท
  • 2553 ขาดดุล 350,000 ล้านบาท
  • 2554 ขาดดุล 420,000 ล้านบาท
  • 2555 ขาดดุล 400,000 ล้านบาท
  • 2556 ขาดดุล 300,000 ล้านบาท
  • 2557 ขาดดุล 250,000 ล้านบาท
  • 2558 ขาดดุล 250,000 ล้านบาท
  • 2559 ขาดดุล 390,000 ล้านบาท
  • 2560 ขาดดุล 552,921 ล้านบาท
  • 2561 ขาดดุล 550,358 ล้านบาท
  • 2562 ขาดดุล 450,000 ล้านบาท
  • 2563 ขาดดุล 469,000 ล้านบาท
  • 2564 ขาดดุล 608,962 ล้านบาท
  • 2565 ขาดดุล 700,000 ล้านบาท
  • 2566 ขาดดุล 695,000 ล้านบาท
  • 2567 ขาดดุล 805,000* ล้านบาท
  • 2568 ขาดดุล 865,000* ล้านบาท
  • 2569 ขาดดุล 703,000* ล้านบาท
  • 2570 ขาดดุล 693,000* ล้านบาท
  • 2571 ขาดดุล 683,000* ล้านบาท

หมายเหตุ * เป็นไปตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

แต่ที่เอาตัวรอดมาได้ตลอด ก็เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีรายได้จากหลายๆ ส่วนมาจุนเจือ โดยเฉพาะจากภาคส่งออกและการท่องเที่ยว 

มิเช่นนั้นแล้ว ไทยคงต้องเผชิญวิกฤตแบบประเทศอื่นๆ ไปแล้ว ซึ่งก็มักเกิดปัญหาการขาดดุลบัญชีแฝด หรือ  Twin deficit กล่าวคือ ขาดดุลทั้งมนแง่งบประมาณทและรายได้เข้าประเทศ (ดุลบัญชีเดินสะพัด)  

หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อ

ที่ผ่าน ๆ มาหลายรัฐบาลพยายามตั้งเป้าหมายจะนำพาประเทศหวนกลับคืนสู่สภาวะการการคลังแบบสมดุล (รายจ่าย = รายรับ) และเกินดุล (รายรับ > รายจ่าย) มาโดยตลอด แต่สุดท้ายแผนที่วางไว้ก็เป็นอันต้องเก็บใส่ลิ้นชักเสียทุกที เพราะมีเงื่อนไขและตัวแปรอื่นเข้ามาทำให้จำเป็นต้องจ่ายมากกว่ารับทุกที

ในระยะ 4 ปีต่อจากนี้ไป ดูเหมือนวงจรการจ่ายมากกว่ารายได้ที่เข้ามาจะยังคงวนเวียนอยู่แบบนี้ต่อไป เพราะล่าสุดในแผนการคลังระยะกลางของประเทศ ปี 2568 – 2571 ที่ทบทวนครั้งที่ 2 ยังคงวางเป้าว่าจะยังคงใช้งบขาดดุลต่อไปอีก 

แม้จะติ่งท้ายว่าไทยจะกลับไปดำเนินนโยบายการคลังแบบสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ความหวังนั้นช่างดูเรือนรางเสียเหลือเกิน เมื่อดูจากศักยภาพในการหารายได้เข้าประเทศกลับเป็นไปอย่างล่าช้า แถมสภาพเงื่อนไขทั้งภายในและภายนอกที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็สาหัสเอาการ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย 

จึงไม่แปลกที่ภาครัฐจะต้องหันมาใส่ใจกับการทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และคุมรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยยังคงแข่งขันได้บนเวทีโลก

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile