10 ประเทศยากจนที่สุดในโลก

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • 10 ประเทศที่จนที่สุดในโลก ได้แก่ บุรุนดี, แอฟริกากลาง, คองโก, โซมาเลีย, โมซัมบิก, ไนเจอร์, ไลบีเรีย,​ ชาด, อัฟกานิสถาน และมาลาวี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกา
  • ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง โดยเรายังคงติดกับดักอยู่ในกลุ่มนี้มานาน ไม่สามารถก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เรามักจะได้ยินบ่อยครั้งว่า ไทยเราจัดเป็นประเทศรายได้ปานกลาง (แม้ว่าในความรู้สึกเหมือนจะจนกว่านั้น) พี่ทุยก็เลยอยากชวนทุกคนมาดูกันว่า ถ้าอย่างเราเรียกว่าปานกลางแล้ว ประเทศไหนล่ะ ที่เรียกว่าจน มาดูกันว่า 10 ประเทศยากจนที่สุดในโลก มีใครบ้าง

10 ประเทศยากจนที่สุดในโลก

การระบุว่าประเทศไหนจนหรือรวยที่สุดในที่นี้จะใช้กำลังซื้อของประชากรต่อคนมาประเมิน โดยพิจารณาจากรายได้ประชาชาติต่อหัว (Gross National Income : GNI) per capita ซึ่งก็มาจาก รายได้ที่ประชากรและธุรกิจทำได้ทั้งหมด แล้วนำมาหารด้วยจำนวนประชากร 

จากข้อมูลของเว็บไซต์ worldpopulationreview.com พบว่า 10 ประเทศหรือเขตพื้นที่ที่จนที่สุดในโลก มีดังนี้ 

10 ประเทศยากจนที่สุดในโลก

ถ้าดูจากข้อมูลนี้ก็จะพบว่า ประเทศที่จนที่สุดในโลกเกือบทั้งหมดจะอยู่ในทวีปแอฟริกา ในขณะที่ประเทศหรือดินแดนที่รวยที่สุดในโลก จะอยู่ในทวีปยุโรป หรือเป็นอาณานิคมของอังกฤษที่ตั้งอยู่นอกทวีปยุโรปนั่นเอง 

ทั้งนี้ หากจะให้รวบรวมเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้แอฟริกาติดอันดับประเทศที่ยากจนที่สุด พี่ทุยขอแยกออกมาเป็น 8 ประเด็น ดังนี้ 

เหตุผล 10 ประเทศยากจนที่สุดในโลก ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา  

1. ปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบ – โดยมักจะมีสงครามเกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่ มีความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงรั้งการพัฒนา

2. ปัญหาการทุจริต – ในทวีปนี้มีปัญหาการทุจริตสูง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทำลายทั้งการปกครอง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาบริการสาธารณะ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

3. ปัญหาสาธารณสุขและสุขภาพ – แอฟริกาเป็นทวีปที่มีภาระของโรคสูง บริการด้านสาธารณสุขยังไม่ดี ซึ่งก็ส่งผลให้สุขอนามัยของคนไม่ดีเท่าไหร่ มีผลต่อด้านการผลิตและอายุขัยของประชากร 

4. การเพิ่มของประชากร – ทวีปนี้มีอัตราการเพิ่มของประชากรที่รวดเร็ว ทำให้ทรัพยากรและบริการต่าง ๆ ถูกใช้งานอย่างหนัก

5. ภัยธรรมชาติ – แอฟริกาถือเป็นอีกทวีปที่เผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงบ่อยครั้ง ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และปัญหาปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกสาเหตุที่ขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ 

6. การพึ่งพาภาคเกษตรมากเกินไป – เศรษฐกิจของประเทศในแถบแอฟริกาหลายประเทศจะขึ้นอยู่กับการเกษตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งประเด็นนี้ก็เชื่อมโยงกับปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบได้สูงเมื่อพืชผลการเกษตรเสียหายจากภัยธรรมชาติ ในขณะที่ไม่มีรายได้จากภาคอื่นที่หลากหลายให้พึ่งพาได้เลย

7. ขาดแคลนด้านการศึกษา – ประชากรในแอฟริกานั้น ไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสูง ซึ่งก็เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลให้ประชากรวนเวียนอยู่ในภาวะความยากจน 

8. ไม่ได้รับความเสมอภาคในการค้าระหว่างประเทศ – แอฟริกานั้นมีความเสียเปรียบทางด้านการค้าในตลาดโลกอยู่มากพอสมควร ฉะนั้นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแอฟริกาเช่นกัน 

ตัวอย่างก็คือ ประเทศบุรุนดี ที่จนที่สุดในโลก ก็เป็นผลมาจากภายในประเทศเองมีความขัดแย้ง โดยบุรุนดีเข้าสู่วงจรการทำสงครามตั้งแต่ได้รับอิสระจากเบลเยียม เมื่อปี 1962 และสงครามก็สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ เนื่องจากประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศ 90% ทำการเกษตร เมื่อเกิดสงคราม ก็ทำการเกษตรได้ยากลำบาก มิหนำซ้ำยังเผชิญกับภัยธรรมชาติ ทั้ง น้ำท่วม ภัยแล้ง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซ้ำเติมอีก 

ทั้งนี้ แม้สงครามจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ผลของสงครามยังคงไม่หมดไป เนื่องจากต้องมีการฟื้นฟูสถานที่ที่ได้รัความเสียหาย ขณะที่การลงทุนในบุรุนดีก็ลดลง

ในด้านการจัดการการเงินและทรัพยากรในประเทศ รัฐบาลก็มีการแทรกแซงเศรษฐกิจ อุดหนุนราคาเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ทั้งยังเข้าแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ เศรษฐกิจไม่ได้ดำเนินการไปอย่างมีอิสระ ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจของผู้ประกอบการอ่อนแอลง นอกจากนี้รัฐบาลยังริบทรัพย์สินส่วนตัวของประชาชนไปด้วย 

ขณะเดียวกัน ด้วยพื้นที่ของประเทศที่มีขนาดเล็ก แต่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้มีปัญหาเรื่องการใช้ทรัพยากรที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ซึ่งน้อยเกินกว่าความต้องการ 

เรียกว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดสุด ๆ จนไม่น่าแปลกใจที่สถานะประเทศที่จนที่สุดในโลกจะตกเป็นของบุรุนดี

สถานะรายได้ของไทยเทียบกับทั่วโลก

กลับมาดูสถานะของประเทศไทยกันบ้างดีกว่า ไทยเราอยู่ตรงไหนของโลก 

จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลก GNI per capita ของไทย ในปี 2023 อยู่ที่ 7,180 ดอลลาร์ ซึ่งก็อยู่เหนือกว่าระดับ ค่าเฉลี่ยของประเทศรายได้ปานกลาง ที่จะมี GNI per capita เฉลี่ย 6,379 ดอลลาร์ แต่ต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ที่จะมี GNI per capita 10,588 ดอลลาร์ 

ซึ่งก็สอดคล้องกับที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายในไทย กล่าวไว้ว่า ประเทศของเราติดกับดักรายได้ปานกลาง และมีแนวโน้มว่าจะใช้เวลานานกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อที่จะหลุดพ้นจากสถานะนี้ไป จากการที่รายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นช้า ท่ามกลางการเติบโตของเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่อง 

ขณะที่ ปัจจัยซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้ไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้ ก็คือ การพัฒนานวัตกรรม พัฒนาการศึกษา พัฒนาคุณภาพประชากร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ใช้ประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) การเปิดประเทศ รวมถึงการปรับปรุงระบบการเงิน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

โดยรวมแล้ว ถึงสถานะรายได้ของไทยจะไม่ได้แย่ แต่จะบอกว่า ฐานะดี ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปาก และอนาคตของเราจะก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงขึ้นได้หรือไม่ ก็ต้องฝากความหวังไว้ว่าจะสามารถพัฒนาในประเทศที่จะช่วยส่งเสริมให้เราไปสู่ประเทศรายได้สูงได้หรือไม่ ซี่งพี่ทุยมองว่า เสถียรภาพการเมืองก็เป็นหนึ่งในประเด็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับไทย ที่จะทำให้เราก้าวไปไม่พ้นจากรายได้ปานกลางซะที และยังสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เราถอยหลังลงไปด้วย เพราะปัจจัยนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศกลุ่มที่จนที่สุดในโลก

ขณะที่ ประเด็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น ก็เป็นอีกอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากเราไม่วางแผนรับมือภัยพิบัติเหล่านี้ให้ดี ก็มีความสุ่มเสี่ยงอีกเช่นกัน ที่จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้เรายังคงติดกับดักรายได้ปานกลางนี้ต่อไป ท่ามกลางประเทศรอบตัว ที่อาจจะขยับสถานะรายได้ขึ้นไปได้เร็วกว่าเรา เพราะจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ดีกว่า

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile