รู้จัก 3 อินดิเคเตอร์ วิเคราะห์ราคา BTC พร้อมหนีดอยทันเวลา

รู้จัก 3 อินดิเคเตอร์ วิเคราะห์ราคา BTC พร้อมหนีดอยทันเวลา

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • On-chain data คือข้อมูลการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นและบันทึกไว้บน blockchain โดยข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงได้ผ่านเวปไซต์หาข้อมูล block และนักลงทุนเข้าไปใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อประเมินแนวโน้มราคา
  • รู้จัก 3 อินดิเคเตอร์ ประกอบด้วย Realized Capitalization, Realized Profits และ Supply in Profits ที่จะมาบอกว่าราคา ณ จุดนี้น่าสนใจลงทุนหรือน่าขายทำกำไร
  • Fear and Greed Index เป็นดัชนีที่บอกว่า ณ ตอนนั้น ภาพรวมนักลงทุนอยู่ในอารมณ์โลภ (Greed) หรือกลัว (Fear) เครื่องมือง่ายที่สุดสำหรับนักลงทุนสายสวนที่ไม่มีเวลา เอาไว้กำหนด position ลงทุนได้ในเวลาอันสั้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

Bitcoin ขึ้นมาแตะระดับ All-time high ไปเมื่อวันก่อนที่ 69,000 ดอลลาร์ กลายเป็นกระแสฮิตอีกครั้ง เริ่มมีคำถามมากกมายว่าถึงจุดกลับตัวหรือยัง ถืออยู่ได้เวลาทำกำไรหรือยัง จะเข้าลงทุนตอนนี้ได้มั้ย? วันนี้พี่ทุยเลยมาแชร์อินดิเคเตอร์ที่เอาไว้ใช้ วิเคราะห์ราคา BTC ดูว่าราคามีโอกาสเคลื่อนไหวไปทิศทางไหน ประกอบการตัดสินใจทั้งซื้อและขาย Bitcoin รวมทั้งสอนการใช้ On-chain data แบบง่าย ๆ ใช้ได้ทุกคน พร้อมเวปไซต์ดูข้อมูลฟรี

อย่าเพิ่งรีบปิดหนีกันไปไหนนะ!!! ลองดูก่อน รับรองว่ามีประโยชน์มาก และเก็บไว้ใช้ได้อีกนาน 

On-chain data คืออะไร ทำไมถึงน่าใช้ วิเคราะห์ราคา BTC

On-chain data คือข้อมูลการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นและบันทึกไว้บน blockchain โดยข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงได้ผ่านเวปไซต์หาข้อมูล block และนักลงทุนเข้าไปใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อประเมินแนวโน้มราคา

นักวิเคราะห์ใช้ข้อมูล On-chain ดูว่าเม็ดเงินบนระบบ Blockchain กำลังเคลื่อนไหวไปทิศทางไหน เพื่อมองหาโอกาสลงทุน ซึ่งการใช้ข้อมูลแบบนี้มีเฉพาะสินทรัพย์ประเภทคริปโต เพราะสินทรัพย์ประเภทอื่นไม่เปิดเผยข้อมูลมากขนาดนี้

เช่น นักวิเคราะห์บางคนดูว่าการโอน Bitcoin ระหว่าง Exchange กับ Wallet ถ้ามี Bitcoin ถูกโอนเข้า Exchange จำนวนมาก หมายความว่าอาจมีการเทขาย Bitcoin แรง ๆ ออกมา

รู้จัก 3 อินดิเคเตอร์ วิเคราะห์ราคา BTC ดูความเคลื่อนไหวตลาด

พี่ทุยรวบรวมข้อมูล On-chain ที่ใช้เป็นอินดิเคเตอร์ชี้วัดความเคลื่อนไหวของเม็ดเงินลงทุน Bitcoin เพื่อใช้หนีดอยหรือหาโอกาสลงทุน ประกอบด้วย

  • Realized Capitalization

มูลค่าของ Bitcoin ทั้งระบบที่คิดจากราคาต้นทุน โดยจะรวมมูลค่า Bitcoin แต่ละเหรียญเมื่อถูกย้ายหรือโอนครั้งล่าสุด

รู้จัก 3 อินดิเคเตอร์ วิเคราะห์ราคา BTC พร้อมหนีดอยทันเวลา

เช่น บางเหรียญถูกโอนครั้งสุดท้ายตอนที่ราคา 69,000 ดอลลาร์ Realized Cap ที่คิดจากเหรียญนั้นจะคูณด้วยราคา 69,000 ดอลลาร์ แต่บางเหรียญโอนครั้งสุดท้ายตอนราคา 25,000 ดอลลาร์ Realized Cap ที่คิดจากเหรียญนั้นจะคูณด้วยราคา 25,000 ดอลลาร์

เมื่อมีการโอนเหรียญจำนวนมาก ๆ ตอนราคาสูง ๆ ต้นทุนใหม่ก็สูงขึ้นตาม Realized Cap ก็เพิ่มขึ้น

จะเห็นว่า Realized Cap ต่างจาก Market Cap ตรงที่ Market Cap จะคูณทุกเหรียญด้วยราคา ณ ตอนนั้น ดังนั้น Realized Cap ทำให้เห็นต้นทุนแต่ละเหรียญในกระเป๋าผู้ที่ถือเหรียญได้ดีกว่า

ถ้า Realized Cap ต่ำกว่า Market Cap มาก ๆ นั่นหมายความว่าต้นทุนโดยรวมของผู้ถือเหรียญอยู่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก มีโอกาสเทขายทำกำไรสูง แต่ถ้า Realized Cap สูงกว่าหรือใกล้เคียง Market Cap แปลว่ามีโอกาสน้อยที่จะเกิดการเทขายจนเปลี่ยนทิศทางราคา ในทางกลับกันอาจเป็นช่วงซื้อ Bitcoin ได้อย่างสบายใจด้วย

  • MVRV Ratio (Market Value by Realized Value)

การจะหาว่า Market Cap หรือ Market Value ตอนนี้อยู่ที่เท่าไร อาจจะยากนิดหน่อย แต่มี MVRV Ratio เป็นอัตราส่วนที่คำนวณจาก Market Value หารด้วย Realized Value (Realized Cap) นั่นก็คือเอามูลค่าตลาดหารด้วยมูลค่าต้นทุน

รู้จัก 3 อินดิเคเตอร์ วิเคราะห์ราคา BTC พร้อมหนีดอยทันเวลา

ถ้าอัตราส่วน MVRV มากกว่า 1 แสดงว่ามูลค่าตลาดของ Bitcoin มากกว่ามูลค่าต้นทุน ดังนั้นถ้าอัตราส่วนนี้สูงกว่า 1 มากๆ แสดงว่าตอนนี้นักลงทุนที่ถือ Bitcoin มีกำไรสูงมาก อาจมีการเทขายออกมาแรง

แต่ถ้าอัตราส่วน MVRV เท่ากับหรือน้อยกว่า 1 แสดงว่าตอนนี้นักลงทุนที่ถือ Bitcoin แทบไม่มีกำไรหรือขาดทุน มีโอกาสน้อยมากที่จะมีแรงเทขาย หรือราคาอยู่ในระดับ Bottom แล้ว อาจเป็นโอกาสซื้อสะสม Bitcoin

  • Realized Profits

ดัชนีนี้ใช้ข้อมูลกำไรสุทธิทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น คำนวณจากรายได้จากการขายลบด้วยต้นทุนที่ซื้อมา แน่นอนว่าจะได้เห็นว่าตอนนั้นนักลงทุนทำกำไรมากน้อยแค่ไหน แต่ยังใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของนักลงทุนได้อีกด้วย

Realized Profits

มองอีกมุมในช่วงขาขึ้นแล้วราคาไม่วิ่งต่อแถมแกว่งตัวในกรอบกว้างขึ้น ถ้ามีการทำกำไรมากขึ้น Realized Profits ก็จะเพิ่มขึ้นถี่ๆ แปลความได้ว่าเริ่มมีการขายทำกำไรมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเป็นจุดที่ทุกคนโดยเฉพาะนักลงทุนที่ถือมานานเริ่มขยับออก

ในทางกลับกันถ้าราคาเจอขาลงมานาน แล้วเริ่มนิ่งแต่ตลาดอยู่ในภาวะหดหู่มาก ถ้า Realized Profit แทบไม่มีแล้ว อาจเป็นจุดต่ำสุดของรอบ หรืออย่างน้อยก็เริ่มสะสมกันได้อย่างสบายใจ

จริง ๆ อินดิเคเตอร์นี้ใช้ร่วมกับ Realized Capitalization เป็นการบอกว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่มีกำไรมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีกำไรมาก โอกาสขายก็สูง ถ้ามีกำไรน้อย คงไม่มีใครเทขายอีกแล้ว ช่วยชี้วัดจุดสูงสุดหรือต่ำสุดของรอบได้อย่างดี

  • Supply in Profits

จำนวนเหรียญที่ ณ ตอนนี้มีกำไร คำนวณจากต้นทุนโดยใช้ราคาที่เหรียญเคลื่อนย้ายหรือโอนครั้งล่าสุดลบด้วยราคา ณ ปัจจุบัน แล้วคิดออกมาเป็นสัดส่วนนักลงทุนที่มีกำไรเทียบกับนักลงทุนทั้งหมดที่ถือเหรียญ Bitcoin อยู่

Supply in Profits

อินดิเคเตอร์นี้คล้ายกับ Realized Capitalization แต่ช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นว่านักลงทุนส่วนใหญ่มีกำไรหรือขาดทุน ถ้านักลงทุนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมีกำไร ก็มีโอกาสสูงที่จะมีการเทขายทำกำไร ทำให้ราคาย่อลงสักพัก หรือแม้กระทั่งกลับทิศทางเป็นขาลง

และเช่นเดิมถ้านักลงทุนส่วนใหญ่ยังขาดทุน โอกาสที่จะมีการเทขายแรง ๆ คงน้อยมาก จุดนั้นก็เป็นจุดที่ซื้อ Bitcoin สะสมอย่างสบายใจ

แถม 2 อินดิเคเตอร์ ระวังภัยจากการเก็งกำไรเกินเหตุ

อินดิเคเตอร์ทั้ง 3 ที่พี่ทุยรวบรวมมา อาจไม่สามารถบอกได้แบบ 100% ว่าราคาได้จบรอบขาขึ้นหรือขาลงแล้ว แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นภาพรวมทั้งตลาดจะได้ระวังตัวหรือหาโอกาสได้ดีขึ้น ซึ่งมีปัจจัยอื่นประกอบ เช่น สภาพเศรษฐกิจมหภาคโดยเฉพาะทิศทางอัตราดอกเบี้ย อารมณ์และการเก็งกำไรในเวลานั้น

พูดถึงอารมณ์และการเก็งกำไร พี่ทุยมักใช้ประกอบการตัดสินใจด้วยเช่นกัน ก็เลยเอาอีก 2 อินดิเคเตอร์มาฝากกัน คือ

  • Open Interest

Open Interest

Bitcoin ก็เหมือนหลักทรัพย์อื่นที่นอกจากจะซื้อหลักทรัพย์ (Spot) ได้แล้ว ยังมีตลาด Futures เป็นแหล่งเก็งกำไรระยะสั้น (แม้จะบอกว่าเอาเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง) ซึ่งขนาดตลาด Futures ของ Bitcoin ใหญ่กว่าตลาด Spot ประมาณ 2-3 เท่า

Open Interest วัดปริมาณการเปิด Position Futures ซึ่ง Position เหล่านี้ไม่ได้อยู่ไปตลอด ต้องมีการปิดสักวันหนึ่งในอนาคต ยิ่งถ้าปริมาณ Open Interest สูงมากแล้วมีการปิด Position มักปิดต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ขนาดจะใหญ่มากเทียบกับสภาพคล่องในตลาด Spot ทำให้ราคา Bitcoin เหวี่ยงขึ้นลงแรง หรือเปลี่ยนทิศทางราคาได้เลย

ถ้าราคาเป็นขาขึ้นแล้วปริมาณ Open Interest สูงมาก เป็นจุดที่ต้องระวัง เพราะมีการเก็งกำไรสูงมาก แต่ถ้าราคาเป็นขาลง แล้วปริมาณ Open Interest ลงพร้อมราคาจนต่ำจนแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าตลาดได้ล้างการเก็งกำไรระยะสั้นไปหมดแล้ว ก็เป็นจุดซื้อ Bitcoin ที่สบายใจ

  • Fear and Greed Index

Fear and Greed Index

คำถามว่า “ซื้อตอนนี้ดีมั้ย?” ถ้าคิดอะไรไม่ออกพี่ทุยมักคิดถึงประโยค “จงกล้าเมื่อคนอื่นกลัว จงกลัวเมื่อคนอื่นกล้า” Fear and Greed Index เป็นดัชนีที่บอกว่า ณ ตอนนั้น ภาพรวมนักลงทุนอยู่ในอารมณ์โลภ (Greed) หรือกลัว (Fear)

ถ้าเป็นนักลงทุนสายสวนก็มักจะขายหรืออยู่นิ่งๆ ตอนตลาดอยู่ในอารมณ์โลภ และซื้อเมื่อตลาดอยู่ในอารมณ์กลัว บอกเลยว่าถ้าไม่มีเวลาตามข้อมูล แค่ใช้ Fear and Greed Index ก็ช่วยกำหนดว่าจะซื้อหรือขายได้ (เช็ควันละครั้งก็พอ)

แชร์เวปไซต์ดูข้อมูลอินดิเคเตอร์ฟรี

เวปไซต์ On-chain data ใช้ฟรีข้อมูลครบเกินคำว่าฟรี ไม่ต้องสมัครสมาชิก: https://www.lookintobitcoin.com/charts

เวปไซต์ On-chain data ใช้ฟรี ข้อมูลลึกยิ่งขึ้น แต่สมัครสมาชิก: https://cryptoquant.com

เวปไซต์ดู Open Interest ใช้ฟรี ไม่ต้องสมัครสมาชิก: https://www.coinglass.com/BitcoinOpenInterest

เวปไซต์ Fear and Greed Index: https://www.cointree.com/learn/crypto-fear-and-greed-index/

จากที่พี่ทุยดูข้อมูลมา ต้องแสดงความดีใจกับนักลงทุนที่ถือ Bitcoin มาอย่างยาวนาน ตอนนี้น่าจะมีกำไรกันไม่มากก็น้อย

เช่นเดียวกับภาพรวมนักลงทุนทั้งตลาดที่ส่วนใหญ่ก็มีกำไร ประกอบกับแรงเก็งกำไรและ Fear and Greed Index พี่ทุยมองว่าถ้าใครจะเริ่มซื้อลงทุน ณ ตอนนี้ ราคาอาจปรับขึ้นต่อได้หลัง Halving แต่ด้วยราคาตรงนี้อาจไม่ใช่จุดที่ได้เปรียบเรื่องต้นทุนมากนัก แนะนำให้ใช้เงินจำนวนน้อยแบบที่ถ้าขาดทุนแล้วไม่กระทบสภาพการเงินของตัวเอง เตรียมใจให้พร้อมรับความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดคริปโต

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile