เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเก่าแก่ของไทย ได้ประกาศจัดตั้งบริษัทใหม่ SCBX เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยานแม่ โดยมีเป้าหมายคือมุ่งสร้างการเติบโตระยะยาว และวางรากฐานธุรกิจการเงินแห่งโลกอนาคต รับบริบทโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงไม่เเปลกที่ล่าสุด เมื่อ 2 ต.ค. 2564 นี้เองได้ให้ SCBS หรือ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCB Securities) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือ เข้าซื้อกิจการ Bitkub กระดานเทรดเหรียญดิจิทัลชื่อดังของไทยด้วยมูลค่าสูงถึง 17,850 ล้านบาท
เรียกได้ว่าเป็นการ “ช็อปปิ้ง” ล็อตใหญ่เลยทีเดียว เพราะการซื้อขายครั้งนี้ทำให้ SCBS ถือหุ้น 51% ของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub Online Co., Ltd.) หรือเท่ากับว่าความเป็นเจ้าของเปลี่ยนมือจากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (Bitkub Capital Group Holdings Co., Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบิทคับ ออนไลน์ ไปเป็น SCBS โดยคาดการณ์ว่าการซื้อขายหุ้นจะได้รับการรับรองจากทางการภายในไตรมาสแรกของปี 2565
พี่ทุยสงสัยว่า ทำไม SCBS ต้องเข้าซื้อกระดานเทรดเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า คริปโท แล้ว Bitkub มีดีอะไร ตอบโจทย์ด้านผู้ซื้ออย่างไทยพาณิชย์ได้มากแค่ไหน
พี่ทุยไปรวบรวมข้อมูลมาไว้แล้ว
SCB ต้องการอะไร ?
เมื่อเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่มาก ๆ ที่ช็อคประเทศไทยชนิดที่ว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้สนใจแวดวงธุรกิจก็ยังได้ยินข่าวนี้ นั่นคือ การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารเก่าแก่ในประเทศไทยได้ตัดสินใจตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเป็นบริษัทแม่ในชื่อว่า SCBX
เพราะเดิมที่ไทยพาณิชย์เป็นธนาคาร ดังนั้น การจะลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมเลยเป็นเป็นเรื่องยาก อย่าง Robinhood ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอร์รี่เอง ก็ต้องไปทำในบริษัทลูกแม้ตัวเองจะเป็นผู้ลงทุนก็ตาม
เพื่อหนีข้อจำกัดของธุรกิจธนาคารดังกล่าว ไทยพาณิชย์จึงหันมาตั้งบริษัทลงทุน (Holding Company) โดยได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมามากมายเพื่อมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายกิจการท่ามกลางธุรกิจธนาคารที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
พี่ทุยว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิด Disruption ต่อธุรกิจธนาคาร คือ การที่ผู้บริโภคเดินหน้าเข้าสู่ “โลกดิจิทัล” อย่างรวดเร็วนั่นเอง ซึ่งธนาคารแบบดั้งเดิมนั้นยากมากที่จะลงทุนเทคโนโลยีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะติดข้อจำกัดเรื่อง “ทุนที่ต้องกั๊กไว้” เผื่อฉุกเฉินของธนาคารตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ
ในการเปลี่ยนแปลงของไทยพาณิชย์ ได้แบ่งบริษัทลูกออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือกลุ่ม New Growth ซึ่งเน้นการลงทุนด้านสินทรัพย์และแพลตฟอร์มดิจิทัล และกลุ่ม Cash Cow ซึ่งเป็นธุรกิจธนาคารดั้งเดิม
ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่เราจะเห็น SCBS ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทของกลุ่ม New Growth เป็นผู้เข้าซื้อ Bitkub ในครั้งนี้
Bitkub คืออะไร?
ในโลกของการกระจายศูนย์ทางการเงิน หรือ Decentralized Finance (DeFi) เป็นโลกที่ตรงกันข้ามกับระบบธนาคารแบบดั้งเดิมที่มีธนาคารและแบงก์ชาติเป็นผู้ดูแลเงินให้กับเราอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอาจกล่าวโดยง่ายได้ว่า ใน DeFi นั้นการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะไม่ทำผ่านธนาคารนั่นเอง
แล้วจะอาศัยอะไรมาบอกว่าเหรียญดิจิทัลที่จับต้องไม่ได้นี้ เป็นของใคร? ในจุดนี้เองที่เทคโนโลยี “Blockchain” เข้ามามีบทบาท โดย Blockchain คือการใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมากบนโลกจริงเชื่อมต่อกันบนระบบเดียวกันเป็นลูกโซ่ เพื่อกระจายกันเก็บข้อมูลนั่นเอง
เดิมทีแล้วการจะเป็นเจ้าของเหรียญดิจิทัลได้นั้น จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่อยู่บนระบบ Blockchain สำหรับสร้างเหรียญขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะต้องลงทุนคอมพิวเตอร์จริง ๆ แล้ว ยังใช้เวลาพอสมควรอีกด้วย ดังนั้น กระดานเทรดเหรียญดิจิทัล จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของเหรียญดิจิทัล รวมถึงเป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโทด้วย
Bitkub เองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดย Bitkub เป็นถึง 1 ใน 7 กระดานเทรดเหรียญดิจิทัล ซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกำกับและดูแลหลักทรัพย์ (กลต.) ของไทย
Bitkub ตอบโจทย์ SCB แค่ไหน?
ในการประกาศครั้งใหญ่เมื่อเดือน ก.ย. 2564 ทางไทยพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายระยะ 5 ปีข้างหน้าว่า จะเป็นบริษัทระดับภูมิภารที่มีฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศจำนวน 200 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีจำนวน 16 ล้านคน
นอกเหนือจาก Binance ซึ่งเป็นกระดานเทรดเหรียญคริปโทสัญชาติจีนที่มีเหรียญจำนวนมากกว่าแล้ว Bitkub แทบจะเป็นกระดานเทรดเหรียญคริปโทที่มีคนใช้มากที่สุดในไทย ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่ทะลุล้านบัญชีไปเมื่อเดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยประมาณ 90% และมีมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่า 1 ล้านล้านบาท
เท่ากับว่าทางไทยพาณิชย์จะได้ลูกค้าเป็น “นักเทรดเหรียญคริปโต” มากกว่า 1 ล้านคนไป รวมถึงบุกตลาดเทรดคริปโทอย่างเป็นทางการด้วยการซื้อเจ้าใหญ่ในประเทศ
Bitkub มีข้อดีคือเป็นกระดานสัญชาติไทย จึงสามารถแลกเปลี่ยนจากเงินบาทไปเป็นเหรียญดิจิทัลได้เลย โดยยังสามารถผูกบัญชีธนาคารไว้กับบัญชีผู้ใช้ได้อีกด้วย ซึ่งจุดนี้ทำให้ไทยพาณิชย์ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ เพราะปัจจุบันการจะถอนเงินจาก Bitkub เข้าบัญชีธนาคารจะต้องมีค่าธรรมเนียม
ไทยพาณิชย์สามารถใช้ประโยชน์จากจุดนี้ได้หลายรูปแบบ ทั้งการลดค่าธรรมเนียมให้น้อยกว่าธนาคารเจ้าอื่น เพื่อให้ผู้ใช้หันมาเปิดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์มากขึ้น ทำธุรกรรมผ่านไทยพาณิชย์มากขึ้น หรือแม้กระทั่งได้เทคโนโลยีของ Bitkub ไปโดยไม่ต้องลงทุนเริ่มต้นจากศูนย์
ในปัจจุบัน Bitkub มีเหรียญอย่าง Bitkub Coin (KUB) และ Blockchain ของตัวเองด้วย แม้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นของบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (Bitkub Blockchain Technology Co., Ltd.) ซึ่งเป็นคนละบริษัทกับบิทคับ ออนไลน์ แต่ก็อยู่ในเครือบริษัทแม่ บิทคับ แคปปิตอล และการร่วมมือกับผู้ที่เคยจับมือทำธุรกิจร่วมกัน ย่อมง่ายกว่าธุรกิจที่ไม่เคยได้จับมือ
ขณะเดียวกัน ทางด้าน Bitkub ก็จะได้รับเงินทุนมหาศาลจากทางไทยพาณิชย์สำหรับพัฒนาระบบ เนื่องจากปัญหาเมื่อต้นปี 2564 ที่ทาง กลต.ได้มีคำสั่งให้พัฒนาระบบ เพราะมีการร้องเรียนจำนวนมากว่าระบบล่มบ่อย ค้างบ่อย ทำให้ไม่ทันใจโลกดิจิทัลที่ไม่มีวันหยุดและไม่มีเวลาปิดตลาด
แต่พี่ทุยแอบเห็นที่หลายคนแสดงความคิดเห็นเหมือนกันว่า การที่ธนาคาร (ซึ่งแม้จะเปลี่ยนเป็นบริษัทลงทุนแล้ว) เข้ามามีบทบาทกับโลก DeFi ก็เป็นเรื่องที่ “ย้อนแย้ง” กันอยู่ไม่น้อย
ก็ต้องรอดูว่าไทยพาณิชย์จะพา Bitkub ไปสุดทางไหน จะเป็น DeFi เต็มตัวมากขึ้น หรือกลับมาผูกกับธนาคารอย่างแก้กันไม่ออกมากยิ่งกว่าในปัจจุบันก็ต้องติดตามกันต่อไป