เครื่องสำอางไทย ตีตลาดญี่ปุ่น จะชนะแบรนด์เกาหลีได้มั้ย

เครื่องสำอางไทย ตีตลาดญี่ปุ่น จะชนะแบรนด์เกาหลีได้มั้ย

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • “ศรีจันทร์” แบรนด์เครื่องสำอางไทยบุกตลาดญี่ปุ่นเมื่อปี 2563 ปลุกให้ชาวญี่ปุ่นหันมาสนใจแบรนด์เครื่องสำอางไทย แต่ความนิยมเครื่องสำอางไทยยังเป็นรองเครื่องสำอางเกาหลีใต้ ปี 2566 ญี่ปุ่นนำเข้าเครื่องสำอางไทยมูลค่า 442 ล้านบาท ส่วนเกาหลีใต้สูงถึง 18,000 ล้านบาท
  • เครื่องสำอางเกาหลีใต้ก็บุกตลาดญี่ปุ่นด้วยนวัตกรรมใหม่และผลิตภัณฑ์ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการอยู่เสมอ พร้อม Soft Power ระดับปรากฎการณ์ทั้ง K-pop หนังและซีรีย์ ปลุกกระแสความสนใจด้านความงามและการดูแลผิว
  • ประเทศไทยต้องใช้จุดเด่นการเป็นผู้ผลิตสมุนไพรรายใหญ่ ใส่ส่วนประกอบนี้เข้าไปในเครื่องสำอางเพื่อสร้างความแตกต่างจากเครื่องสำอางอื่นที่มีในตลาด และเป็นเอกลักษณ์ว่านึกถึงเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติต้องเป็นเครื่องสำอางจากไทย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เครื่องสำอางไทย เริ่มได้รับความนิยมในตลาดเครื่องสำอางญี่ปุ่น โดยเฉพาะแบรนด์ “ศรีจันทร์” และ “Cathy Doll” ที่ได้รับความนิยมในคนหนุ่มสาว Gen Z ด้วยกระแสความนิยมที่ร้อนแรง แต่ยังห่างไกลเครื่องสำอางจากเกาหลีใต้ หากแบรนด์เครื่องสำอางไทยคิดฝันครองตลาดเครื่องสำอางญี่ปุ่น จะเป็นเพียงแค่ฝันหรือโอกาสเป็นจริงได้?

เครื่องสำอางไทย ฮิตในญี่ปุ่น ราคาเข้าถึงง่าย พร้อมเอกลักษณ์เฉพาะตัว

สำนักข่าว Nikkei Asia ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์สาวชาวญี่ปุ่นอายุ 20 ปี ว่าใช้แป้งทาหน้าแบรนด์ไทยที่สั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ โดยปัจจุบันนี้เครื่องสำอางไทยเข้ามาอยู่ในกระแสได้รับความนิยมในตลาดความงามญี่ปุ่น

ถ้าย้อนไปก่อน COVID-19 ระบาด จะเป็นเครื่องสำอางเกาหลีและจีนที่ครองความนิยมในหมู่ Gen Z ญี่ปุ่น แต่เมื่อ “ศรีจันทร์” แบรนด์แป้งฝุ่นจากไทยบุกตลาดญี่ปุ่นเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวญี่ปุ่นหันมาสนใจแบรนด์เครื่องสำอางไทย ด้วยคุณสมบัติช่วยให้เครื่องสำอางติดทนแม้สวมหน้ากากอนามัย และควบคุมความมัน

ซึ่งแบรนด์เครื่องสำอางไทยมีจุดเด่นด้านการให้ความสำคัญกับคิ้วและผิว และที่สำคัญ คือ ทนทานต่อความร้อนและความชื้น ช่วยลดความมัน เหมาะกับช่วงฤดูร้อน

Cathy Doll อีกแบรนด์ที่บุกตลาดญี่ปุ่นในปี 2564 ใช้นักแสดงไทยจากซีรีส์วาย “2gether” เป็นพรีเซนเตอร์ กระจายสินค้าไปร้านค้าทั่วประเทศกว่า 3,000 แห่ง พร้อมราคาจับต้องได้ เช่น ที่เขียนคิ้วราคาประมาณ 120 บาท ส่งยอดขายปี 2566 โต 11%

อย่างไรก็ตามความนิยมเครื่องสำอางไทยยังเป็นรองเครื่องสำอางเกาหลีใต้ โดยปี 2566 ญี่ปุ่นนำเข้าผลิตภัณฑ์ความงามและเครื่องสำอางไทยคิดเป็นมูลค่า 442 ล้านบาท ส่วนเกาหลีใต้สูงถึง 18,000 ล้านบาท

ที่น่าสนใจ คือ ข้อมูลครึ่งแรกของปี 2566 ชี้ว่ายอดนำเข้าเครื่องสำอางเกาหลีใต้เติบโตแรงแซงยอดนำเข้าเครื่องสำอางฝรั่งเศสที่ครองใจชาวญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานแล้ว โดยเครื่องสำอางเกาหลีใต้ครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องสำอางญี่ปุ่น 25.6% ส่วนเครื่องสำอางฝรั่งเศสมีส่วนแบ่งตลาดที่ 22.6%

ทำไมแบรนด์เกาหลีถึงครองตลาดญี่ปุ่น แซงเครื่องสำอางจากฝรั่งเศส

แบรนด์เกาหลีใต้เริ่มก้าวสู่ระดับโลกด้วยพลังแห่งวงการบันเทิงซึ่งนับเป็น Soft Power ระดับปรากฎการณ์ทั้ง K-pop หนังและซีรีย์ ปลุกกระแสความสนใจด้านความงามและการดูแลผิว ในเวลาเดียวกันรัฐบาลเกาหลีก็ทำงานควบคู่ไปด้วย โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและผู้ประกอบการในประเทศ

ทีนี้เมื่อปลุกความนิยมได้แล้ว เครื่องสำอางเกาหลีใต้ก็บุกตลาดญี่ปุ่นด้วยนวัตกรรมใหม่และผลิตภัณฑ์ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการอยู่เสมอ เช่น มาส์กแผ่นที่มีส่วนผสมแปลกใหม่, ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหลายขั้นตอนที่ออกแบบให้เหมาะกับปัญหาผิวเฉพาะทาง

ในขณะที่เครื่องสำอางแบรนด์ญี่ปุ่นยังยึดติดอยู่กับการผลิตเครื่องสำอางคุณภาพสูง แต่ขาดนวัตกรรมและการปรับตัวตามความต้องการผู้ใช้ นอกจากนี้ผู้ใช้เริ่มกังวลต่อการใช้ส่วนผสมทางเคมีในเครื่องสำอางญี่ปุ่น ส่วนเครื่องสำอางเกาหลีใต้จะใส่ส่วนผสมจากธรรมชาติและปราศจากสารเคมีที่อาจทำร้ายผิว

นอกจากนี้ราคาเครื่องสำอางเกาหลีใต้ต่ำกว่าฝั่งญี่ปุ่น ช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงง่ายกว่า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ยังมีกำลังซื้อไม่มาก อยากลองเครื่องสำอางหลายแบบ ก็สามารถลองได้ ไม่ค่อยเสียดายเงิน 

การตลาดออนไลน์เป็นอีกกลยุทธ์เบื้องหลังความสำเร็จของเครื่องสำอางเกาหลีใต้ ซึ่งลุยทั้งโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ใช้อินฟลูเอนเซอร์รีวิว ส่วนเครื่องสำอางญี่ปุ่นปรับตัวช้า ยึดติดกับการโฆษณาแบบเดิม

ส่องตลาด เครื่องสำอางไทย เติบโตแค่ไหน ส่งออกประเทศใดบ้าง?

เริ่มจากภาพรวมตลาดโลกด้วยข้อมูลจาก Grand View Research ประเมินว่ามูลค่าตลาดเครื่องสำอางโลกระหว่างปี 2565-2573 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.2% โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 1.5% เท่านั้น มองอีกมุมก็ยังมีโอกาสให้เติบโตอีกมาก

ประเทศไทยส่งออกเครื่องสำอางแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1.) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่ เช่น Skin Care, Makeup และ Hair Care 2.) วัตถุดิบเพื่อให้ทำเครื่องสำอาง 

โดยในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 82,737 ล้านบาท มีคู่ค้าอันดับ 1 เป็นประเทศในอาเซียนมีสัดส่วน 44.6% อันดับ 2 ประเทศญี่ปุ่น 13.3% อันดับ 3 ประเทศออสเตรเลีย 9.12% อ้นดับ 4 ประเทศจีน 4.24% และอันดับ 5 ประเทศเกาหลีใต้ 4.12%

ด้านข้อมูลจาก Krungthai COMPASS ส่งสัญญาณสดใสสำหรับตลาดส่งออกเครื่องสำอางไทย คาดว่าปี 2567 จะเติบโต 14.8%

เป็นไปได้หรือไม่? หวังแซงเครื่องสำอางเกาหลีตีตลาดญี่ปุ่น

ในตอนนี้ต้องยอมรับว่าความนิยมเครื่องสำอางไทยในตลาดญี่ปุ่นยังตามหลังเครื่องสำอางเกาหลีใต้ ซึ่งถ้าหวังจะเทียบชั้นหรือแซงคงต้องอาศัยจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยผสมกับกลยุทธ์การตลาดที่เกาหลีใต้เคยใช้แล้วประสบความสำเร็จ

ประเทศไทยต้องใช้จุดเด่นการเป็นผู้ผลิตสมุนไพรรายใหญ่ ใส่ส่วนประกอบนี้เข้าไปในเครื่องสำอางเพื่อสร้างความแตกต่างจากเครื่องสำอางอื่นที่มีในตลาด และเป็นเอกลักษณ์ว่านึกถึงเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติต้องเป็นเครื่องสำอางจากไทย 

อากาศร้อนของประเทศไทยกลายเป็นห้องทดลองแบบเรียล สูตรเครื่องสำอางถูกออกแบบให้ทนกับความร้อนชื้น เนื้อครีมเบาสบาย หลุดยาก ยิ่งยุคนี้อากาศร้อนมากกว่าอดีต นี่อาจเป็นโอกาสชูจุดเด่นนี้ตีตลาดแย่งส่วนแบ่งตลาดเครื่องสำอางญี่ปุ่นจากแบรนด์ประเทศอื่น

และมีเครื่องสำอางไทยอีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้ส่งออกไปบุกตลาดเครื่องสำอางญี่ปุ่น เช่น Skin Care บริษัทผู้ส่งออกอาจเพิ่มความหลากหลายของเครื่องสำอางที่ส่งไปตลาดญี่ปุ่น

เมื่อประกอบกับต้นทุนค่าแรงไทยที่ต่ำกว่าเกาหลีใต้ ยุโรป และสหรัฐฯ นั่นหมายความว่าสามารถใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุน ส่งผลิตภัณฑ์ราคาจับต้องได้ ลุยตลาดกลุ่มกำลังซื้อน้อยหรือคนที่อยากทดลองใช้ ไม่แน่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสความนิยมอีกครั้งก็ได้

ในระยะสั้นๆ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเทียบชั้นหรือแซงเครื่องสำอางเกาหลีใต้ที่สร้างรากฐานมานานนับสิบปี แต่เครื่องสำอางไทยมีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากชาติอื่น ซึ่งมากพอที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แย่งส่วนแบ่งตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถ้าทำอย่างต่อเนื่องเชื่อว่ามีโอกาสขยับเข้าใกล้เครื่องสำอางจากทั้งเกาหลีใต้และชาติอื่นมากกว่านี้

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile