ท่ามกลางข่าวความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ก็มีข่าวร้อนใกล้บ้านเราเช่นกัน หลังสื่อต่างประเทศรายงานว่าทางการเวียดนามเข้าอุ้ม Saigon Commercial Bank หรือ ธนาคาร SCB ซึ่งโดนฉ้อโกงครั้งประวัติศาสตร์ของเวียดนามและอาเซียน สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในเวียดนาม
วันนี้พี่ทุยเลยจะมาสรุปสถานการณ์นี้ พร้อมทางเลือกในการแก้ปัญหานี้ของทางการเวียดนาม ให้นักลงทุนทุกคนได้ติดตามไปพร้อมกัน
รู้จักตัวแม่ Truong My Lan ต้นตอการโกงครั้งนี้
Truong My Lan (เจือง มาย หลั่น) นักธุรกิจหญิงมหาเศรษฐีแถวหน้าของเวียดนาม มาจากครอบครัวเวียดนามเชื้อสายจีนในเมืองโฮจิมินห์ เริ่มตั้งต้นจากแม่ค้าแผงลอยขายเครื่องสำอาง และเมื่อเวียดนามเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1986 จึงเริ่มซื้อที่ดินและลงทุนอสังหาฯ ต่อมาในทศวรรษที่ 90 ขยายกิจการสู่ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร
Truong My Lan และครอบครัวมีหลายธุรกิจทั้งร้านอาหาร โรงแรม และพัฒนาอสังหาฯ มีบริษัทในเครือกว่าพันบริษัท
เหตุการณ์การโกงครั้งประวัติศาสตร์เริ่มขึ้นในปี 2011 เมื่อ Truong My Lan แอบเก็บหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก 3 แห่ง ที่มีปัญหาด้านการเงิน ซึ่งต่อมาธนาคารกลางเวียดนามสั่งควบรวมกิจการกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่โดยใช้ชื่อว่า Saigon Commercial Bank (SCB)
แม้ข้อกฎหมายเวียดนามจะห้ามไม่ให้บุคคลถือหุ้นธนาคารเกิน 5% แต่ไม่อาจหยุดยั้งการโกงครั้งนี้ได้ เพราะ Truong My Lan ถือหุ้นธนาคาร SCB ในนามตัวเองเพียง 4% แต่ใช้นอมินีและบริษัทของตัวเองที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ (Shell company) หลายบริษัทถือหุ้นธนาคารรวมทั้งหมดมากถึง 91%
เป็นเหตุให้ Truong My Lan มีอำนาจสั่งการธนาคาร SCB อย่างสมบูรณ์
Truong My Lan โกงแบงค์เยอะขนาดนี้ได้อย่างไร
นอกจากคุมกิจการธนาคาร SCB แล้ว ยังเป็นประธานบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ของเวียดนามที่ชื่อ Van Thinh Phat Group
ด้วยเหตุนี้ Truong My Lan จึงแต่งตั้งคนใกล้ชิดเข้าไปนั่งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง จากนั้นสั่งให้อนุมัติเงินกู้หลายร้อยรายการให้กับบริษัทที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจของตัวเอง โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่เหมาะสมก่อน ซึ่งเป็นลักษณะของการยักยอกเงินธนาคาร
รายงานระบุว่าจนถึงปี 2022 ยอดเงินกู้ของ Truong My Lan คิดเป็น 93% ของวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยกู้
และยังใช้ธนาคาร SCB เป็นช่องทางระดมเงินทุนกว่า 30 ล้านล้านดอง หรือ 1,200 ล้านดอลลาร์ ให้ Van Thinh Phat Group ด้วยการออกหุ้นกู้มากถึง 25 ชุด
เดือน ต.ค. 2022 หน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐเวียดนามจับกุม Truong My Lan จากกรณีบริษัท Van Thinh Phat Group ฉ้อโกงและใช้เงินจากการออกหุ้นกู้ผิดวัตถุประสงค์ มีนักลงทุนราว 42,000 รายได้รับความเสียหายจากกรณีนี้
เดือน พ.ย. 2023 ถูกตั้งอีกข้อหาในกรณีฉ้อโกงและยักยอกเงินจากธนาคาร SCB รวมเป็นเงิน 12,530 ล้านดอลลาร์ และนี่คือการโกงครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน (ปี 2022 GDP เวียดนามอยู่ที่ 408,800 ล้านดอลลาร์) ล่าสุดศาลเมืองหลวงโฮจิมินห์ซิตี้ตัดสินประหารชีวิตในข้อหานี้
สถานการณ์ Saigon Commercial Bank เป็นอย่างไรหลังถูกโกง
ธนาคาร SCB เคยเป็นหนึ่งในธนาคารที่ปล่อยกู้รายใหญ่ที่สุดของประเทศเวียดนาม แต่หลังมีการจับกุม Truong My Lan เมื่อเดือน ต.ค. 2022 ธนาคารกลางเวียดนามเข้ามาดูแลธนาคารพาณิชย์แห่งนี้
นับตั้งแต่ธนาคารกลางเข้ามาดูแลถึงเดือน ธ.ค. 2023 มีลูกค้าแห่ถอนเงินไปแล้ว 80% เหลือเงินฝากอยู่เพียง 6,000 ล้านดอลลาร์ หากลูกค้ายังถอนเงินฝากด้วยอัตราไปนี้จะทำให้เงินฝากหมดเกลี้ยงภายในกลางปีนี้ นอกจากนี้ข้อมูลเดือน ต.ค. 2023 เผยว่าธนาคารยังมีหนี้เสียสูงถึง 97.08% ธนาคารจึงเผชิญปัญหาสภาพคล่องและทำธุรกรรมโอนเงินไปธนาคารอื่นหรือต่างประเทศล่าช้า
เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและอันดับความน่าเชื่อถือของทั้งระบบธนาคารและการเงินของประเทศ
ทางการเวียดนามแก้ปัญหา Saigon Commercial Bank อะไรไปแล้วบ้าง
ธนาคารกลางเวียดนามปล่อยเงินกู้พิเศษให้ธนาคาร SCB ในเดือน ต.ค. และ พ.ย. 2022 เดือนละ 3,700 ล้านดอลลาร์ จากนั้นลดลงเหลือเดือนละ 1,200 ล้านดอลลาร์ จนถึงเดือน ต.ค. 2023 จึงลดลงอีกครั้งเหลือเดือนละ 910 ล้านดอลลาร์ รวมแล้วปล่อยเงินกู้ไปแล้วประมาณ 23,720 ล้านดอลลาร์
ทางเลือกที่เหลือในการแก้ปัญหาครั้งนี้
ด้วยเม็ดเงินฉ้อโกงระดับนี้ หากธนาคารกลางไม่ปล่อยเงินกู้พิเศษ ธนาคาร SCB ล้มแน่นอน และสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินของประเทศ แต่ถ้าปล่อยกู้ต่อไป สภาพการคลังของประเทศจะมีปัญหา ซึ่งก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องใช้เม็ดเงินเท่าไหร่ และการดำเนินการมีความซับซ้อนมากแค่ไหน
ปลายปีที่แล้วธนาคารกลางเวียดนามมอบหมายให้ Sungroup บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ร่างแผนปรับโครงสร้างธนาคาร SCB แต่ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าแผนได้รับการอนุมัติแล้วหรือไม่
การปรับโครงสร้างขึ้นอยู่กับการประเมินสินทรัพย์อสังหาฯ ที่ Truong My Lan และบริษัทใช้เพื่อค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งสถานะทางกฎหมายยังไม่ชัดเจน มีบางส่วนที่ยังอยู่ในขั้นขออนุญาตและบางส่วนฝ่าฝืนกฎหมายที่ดิน
มีรายงานเพิ่มเติมว่าธนาคารกลางและรัฐบาลเริ่มมองหาความช่วยเหลืออื่นจากภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ แต่ยังติดข้อจำกัดที่ห้ามธนาคารมีนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นรวมกันเกิน 30%
พี่ทุยมองว่าในระยะสั้นข่าวนี้ได้กระทบสถาวะการลงทุนหุ้นเวียดนามไปแล้ว ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาน่าจะยังคงเป็นเงินกู้พิเศษเพื่อประคองสถานการณ์ไปจนกว่าจะเห็นความชัดเจนในการปรับโครงสร้างหรือมีนักลงทุนต่างชาติที่มีความสนใจ
แถมเหตุการณ์นี้ยังพิสูจน์ว่าเวียดนามยังต้องปฏิรูปตลาดทุนให้มีความโปร่งใสอย่างชัดเจน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปเป็นตลาดหุ้นระดับ Emerging market
อ่านเพิ่ม