ถ้านึกถึงวัยเด็กสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ขนม และพี่ทุยเชื่อว่าขนมชนิดหนึ่งที่เด็กไทยรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี ก็คือขนมเยลลี่รูปหมีรสผลไม้ที่ชื่อว่า จอลลี่แบร์ (Jolly Bear) ที่แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว 20-30 ปี ก็ยังครองใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง
วันนี้พี่ทุยจะพาไปรู้จักกับผู้ผลิตขนมยอดฮิตแบรนด์นี้กันหน่อยว่ามีที่มาจากไหน ใช้เคล็ดลับอะไรถึงครองใจมาผู้บริโภคมาเป็นสิบปี รวมถึงรายได้และกำไรปังขนาดไหน ขอบอกเลยว่าแบรนด์สัญชาติไทย 100% แบรนด์นี้ไม่ธรรมดาเลย ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกัน!!!
ประวัติผู้ผลิต จอลลี่แบร์ แบรนด์ขนมไทยแท้อายุกว่า 50 ปี
ขนมระดับตำนานเริ่มขึ้นจากสองสามีภรรยา คุณสมพงษ์และสมจิตต์ เชาวน์ประดิษฐ์ เปลี่ยนธุรกิจโรงเลื่อยไม้สู่ลูกอมแบบแข็ง ตามความนิยมของผู้คนในช่วงนั้น และตั้งบริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด เมื่อปี 2516 แน่นอนว่าด้วยความนิยมขนาดนี้ คู่แข่งย่อมตามมาเพียบเช่นกัน
ต่อมาเมื่อถึงทายาทรุ่นที่ 2 เริ่มมองหาขนมรูปแบบใหม่ แล้วได้ไอเดียจากการไปต่างประเทศแล้วเห็นว่าเยลลี่น่าสนใจ ผสมรสผลไม้มีความแปลกใหม่ สีสันสดใส กลายเป็นจุดเริ่มต้นของจอลลี่แบร์ เยลลี่รูปหมีผสมน้ำผลไม้
ช่วงแรกตลาดยังไม่คุ้นชินขนมแบบใหม่ ร้านค้าทั่วไปยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว (พ่อค้าคนกลาง) บางแห่งไม่รับจำหน่ายและบางแห่งคืนสินค้า จึงตัดสินใจทำโฆษณาผ่านช่องทางทีวีและหนังสือ ปรากฎว่าพอเป็นที่รู้จัก ร้านค้าที่เคยไม่รับจำหน่ายต้องกลับมาสั่งขนมจอลลี่แบร์จนสินค้าแทบขาดตลาด
โดยเริ่มต้นจะมีซอง 2 แบบ ซองสีทองขนาดเล็กขายราคา 5 บาท และซองสีเงินขนาดใหญ่ขายราคา 10 บาท
ปัจจุบันธุรกิจถูกบริหารด้วยสองพี่น้องทายาทรุ่นที่ 3 คือ คุณจิดาภา รัศมินทราทิพย์ และคุณพลากร เชาวน์ประดิษฐ์ เป็นยุคที่แม้สินค้าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่ก็ได้มีการออกสินค้าใหม่ เช่น ออกจอลลี่แบร์เป็นซองแยกรสชาติ ทำซองสีชมพูไซส์ใหญ่ขายราคา 20 บาท และเปิดตัวรสชาติใหม่ “Super Sour” หลังผลิตเพียง 5 รสชาติมานานกว่า 33 ปี คือ ส้ม แอปเปิ้ล องุ่น สตรอเบอร์รี่ สับปะรด
จุดแข็งที่ยืนหยัดในตลาดขนมมานานกว่า 30 ปี
เมื่อเวลาผ่านไปต้นทุนวัตถุดิบต้องเพิ่มขึ้น โจทย์คือต้องลดต้นทุนให้ขายได้ในราคาและคุณภาพเดิม ทีนี้ก็เลยต้องใช้กลยุทธ์ Economy of Scale เน้นผลิตสินค้าจำนวนมาก ให้ได้ต้นทุนต่ำลง โดยการใช้กลยุทธ์นี้ก็เลยลงทุนเครื่องจักรใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน
ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุน แต่ยังใส่นวัตกรรมใหม่เพื่อรักษาคุณภาพสินค้า เมื่อรักษาคุณภาพได้แถมราคาจับต้องได้ ทำให้รักษาฐานลูกค้าได้ทั้งลูกค้าวัยเด็กซึ่งเป็นลูกค้าหน้าใหม่ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ที่รู้จักแบรนด์มาตั้งแต่สมัยวัยเด็ก และยังแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติที่มีต้นทุนนำเข้าสินค้าสูงกว่า
นอกจากนี้บริษัท พงษ์จิตต์ ยังรับผลิตสินค้าประเภทอาหารในลักษณะ OEM ให้กับอีกหลายแบรนด์ชื่อดัง เช่น ผงโกโก้ตรานางพยาบาล ลิปตันไอซ์ทีแบบซอง คนอร์คัพพาสต้า และอีกหลายแบรนด์ ช่วยให้บริษัทมีรายได้จากช่องทางอื่นไปด้วย
เคล็ดลับการตลาด ทำน้อยแต่ได้มาก
ถึงจะโฟกัสไปที่ราคาและคุณภาพมากกว่าการจัดโปรโมชั่นหรือทำการตลาด แต่ช่วงไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา มีคู่แข่งเข้ามาแย่งตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ต่างประเทศชื่อดังสัญชาติเยอรมันอย่าง HARIBO ประกอบกับมีกลุ่มลูกค้าวัยเด็กซึ่งอาจไม่รู้จักแบรนด์
ผู้บริหารเริ่มหันมาสร้างแบรนด์มากกว่าก่อนหน้านี้ ซึ่งด้วยพฤติกรรมการซื้อสินค้าและการใช้สื่อที่เปลี่ยนไป จึงต้องลุยการตลาด Online เป็นหลัก แต่ก็ยังไม่ทิ้งการตลาด Offline และยังจ้าง Influencer รีวิวสินค้าผ่าน Facebook, Youtube, Instagram และ Tiktok
ที่สำคัญคือผู้บริหารลงมาอ่านคอมเม้นต์และตอบลูกค้าในโซเชียลมีเดียด้วยตัวเอง ซึ่งไอเดียที่ได้ก็คือ ลูกค้าบางคนชอบสีเขียว บางคนชอบสีแดง แบรนด์ก็เลยออกสินค้าใหม่โดยแบ่งซองแต่ละสีไม่ว่าจะเป็นจอลลี่แบร์ซองสีเขียว ซองสีแดง รวมถึงเพิ่มไซส์ใหญ่ราคา 20 บาท ซึ่งสิ่งที่ได้ก็คือแบรนด์มีสินค้าใหม่ มีแพคเกจใหม่ เรียกความสนใจจากลูกค้าได้อยู่เสมอ
ส่องรายได้และกำไรบริษัท จอลลี่แบร์ เดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง
ด้วยแนวทางการออกสินค้าใหม่และการตลาด ผู้บริหารเน้นให้ผู้บริโภคนึกถึงแบรนด์ตลอด รายได้และกำไรเพิ่มค่อยเป็นค่อยไปแบบ Stable Growth ไม่เน้นทำอะไรให้ยอดขายพุ่งขึ้นมาเพียงช่วงเดียวแล้วหายไป
ทีนี้พอไปดูผลประกอบการก็ต้องยอมรับว่าไม่น่าเชื่อว่าแนวทางนี้จะส่งให้ขนมซองราคา 5 บาท ที่กินกันเพลินตอนสมัยเด็กสร้างรายได้และกำไรอย่างมีคุณภาพเช่นนี้
รายได้และกำไรย้อนหลังของบริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด มีดังนี้
- ปี 2566 รายได้ 335.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 50 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 332.4 ล้านบาท กำไรสุทธิ 75.6 ล้านบาท
- ในปี 2564 รายได้ 264.9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 49.4 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้ 215.3 ล้านบาท กำไรสุทธิ 38 ล้านบาท
สุดท้ายนี้คุณพลากร เชาวน์ประดิษฐ์ ได้ฝาก 3 ข้อสร้างแบรนด์แกร่ง ประกอบด้วย 1.หาจุดแข็งสินค้า 2.สร้างมาตรฐานให้สินค้า 3.หาพันธมิตรสร้างการเติบโตร่วมกัน ซึ่งพี่ทุยยอมรับว่าสินค้าถือว่ามีคุณภาพ รสชาติดีไม่เปลี่ยน และที่สำคัญราคาเข้าถึงง่ายมาก จะซื้อมากินหรือซื้อมาลองรสชาติใหม่ก็ไม่เสียดาย
อ่านเพิ่ม