สัญญาณเตือนฟองสบู่แตก

7 สัญญาณเตือน “ฟองสบู่” แตก รู้แล้วต้องระวัง!

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • ทุกสินทรัพย์ที่มีคนสนใจแห่เข้าไปลงทุนจำนวนมากจนราคาพุ่งขึ้นโดยไม่มีพื้นฐานที่ดีมารองรับ จะถูกเรียกว่าภาวะ ‘ฟองสบู่’
  • ฟองสบู่แตกเคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยครั้งแรกของโลกเรียกว่าฟองสบู่ทิวลิป ในประเทศไทยก็เคยเกิดขึ้นแล้วกับฟองสบู่ปี 40 ด้านอเมริกาก็เคยเกิดฟองสบู่อสังหาฯ ปี 2008 จนกระทบเศรษฐกิจไปทั้งโลก
  • ฟองสบู่มักมีลักษณะสำคัญ 7 อย่าง รวบรวมไว้โดย Ray Dalio ผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์ชื่อดัง และยังเอาไปใช้หาฟองสบู่ในอนาคต

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ช่วงนี้ตลาดหุ้นของหลายประเทศปรับตัวขึ้นจนราคาทำ All time high กันไปเรียบร้อยแล้ว สวนทางกับความรู้สึกและสภาพเศรษฐกิจที่ยังดูไม่น่าไว้ใจสักเท่าไหร่ และเมื่อเห็นราคาพุ่งสูงขนาดนี้ เชื่อเลยว่าหลายคนกำลังนึกถึงคำว่า “ฟองสบู่” อย่างแน่นอน

แล้วเราจะใช้อะไรดูว่าเกิดฟองสบู่แล้วหรือยัง พี่ทุยจะพาทุกคนไปรู้จักกับสัญญาณเตือนฟองสบู่ เพื่อจะได้เอาไว้ใช้กับการลงทุนของทุกคนกันหน่อยนะ ตามพี่ทุยมาเลยยยยย

พี่ทุยขอชวนทุกคน นึกย้อนกลับไปตอนเด็ก ทุกคนต้องเคยเล่นเป่าสบู่กับเพื่อน ๆ กันแน่ ๆ เราเป่าฟองสบู่แสนสวยให้ใหญ่ขึ้น ๆ จนล่องลอยไปตามลม แต่เราก็สนุกกับมันได้ไม่นาน ฟองสบู่ก็แตกไปเอง

นักลงทุนก็เลยเอาความสนุกสมัยเด็กไปเปรียบเทียบกับช่วงที่ราคาสินทรัพย์ขึ้นมากเกินไป สินทรัพย์ก็เหมือนกับฟองสบู่ ที่จะใหญ่ขึ้นได้ต้องมีลมเป่าเข้าไป ซึ่งก็คือกระแสเงินที่ซื้อสินทรัพย์นั่นเอง แต่ฟองสบู่ลอยได้ไม่นานก็แตกไป เช่นเดียวกับราคาสินทรัพย์ที่ขึ้นจากกระแสเงินโดยไม่มีพื้นฐานที่ดีมารองรับ ไม่นานราคาก็ต้องร่วงแรงๆ

และฟองสบู่แตก ครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นมามีอะไรบ้าง พี่ทุยจะเล่าให้ฟัง

ฟองสบู่ทิวลิป

เป็นฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก เกิดขึ้นที่เนเธอร์แลนด์ ราว ๆ ปี 1637 เมื่อราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของหัวดอกทิวลิปที่มีคนแห่ซื้อจนราคาขึ้น 8 เท่าใน 3 ปี แต่แล้วก็ไม่มีใครซื้ออีกในราคาระดับนั้น ราคาก็เลยร่วงกว่า 10 เท่า ในเวลาเพียงเดือนเดียว ทำให้เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ถึงซบเซาเพราะทุกคนเอาเงินไปเก็งกำไรกันเกือบหมด

“ฟองสบู่” ปี 40

ที่ใกล้ตัวเราเข้ามาหน่อย พี่ทุยคิดว่าคงหนีไม่พ้นฟองสบู่แตกปี 40 เริ่มต้นด้วยกลไกอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยถูกบิดเบือน ไปพร้อมกับเศรษฐกิจไทยที่กำลังโต ผู้คนเลยแห่กู้เงินมาเก็งกำไรที่ดิน อสังหาฯ (พอสร้างไม่ทันก็เก็งกำไรใบจอง) และตลาดหุ้น สร้างฟองสบู่ลูกเบ้อเริ่มในประเทศไทย และเมื่อราคาขึ้นจนไม่มีใครเข้ามาเก็งกำไรต่อได้ การซื้อเก็งกำไรก็กลายเป็นขายแบบเทกระจาดในเวลาอันสั้น ทั้งที่ดิน อสังหาฯ และหุ้น ราคาลดฮวบอย่างหนัก สร้างผลกระทบไปทั่วเอเชีย

“ฟองสบู่” อสังหาฯ

ในปี 2008 ฟองสบู่อสังหาฯ ขนาดใหญ่พอที่จะหยุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่มีไม่กี่คนที่เห็น ฟองสบู่แตกที่อเมริกา ก่อเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก และเป็นจุดเปลี่ยนของโลกการเงินมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น นโยบาย QE ที่ใช้กันในทุกวันนี้ก็เกิดจากวิกฤติครั้งนั้น

แต่ไม่ว่าฟองสบู่จะเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง ก็จะมีลักษณะสำคัญที่เกิดขึ้นกับฟองสบู่ในทุกครั้ง ซึ่ง Ray Dalio ผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์ชื่อดังอย่าง Bridgewater ได้สรุปไว้ 7 อย่าง ดังนี้

  1. ราคาขึ้นสูงกว่าปกติ
  2. ราคาที่ขึ้นนั้นรับรู้มูลค่าในอนาคตเรียบร้อยแล้ว
  3. อารมณ์ของนักลงทุนทั้งตลาดเป็นบวก (broad bullish sentiment)
  4. กู้ยืมเงินอย่างมากเพื่อซื้อสินทรัพย์
  5. มีการซื้อสินทรัพย์ด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างผิดปกติ ไม่ว่าเพื่อเก็งกำไรหรือป้องกันความเสี่ยงจากราคาที่ขึ้นสูง
  6. มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้าตลาด
  7. มีนโยบายกระตุ้นที่ทำให้ฟองสบู่ลูกโตขึ้นไปอีก

จะเห็นว่าเหตุการณ์ฟองสบู่ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะมีลักษณะส่วนใหญ่ตรงกับ 7 ข้อนี้ ที่สำคัญพี่ทุยคิดว่า 7 ข้อนี้ ยังเอาไปใช้ได้กับทุกเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 

ว่าแล้วพี่ทุยขอเอามาใช้กับสภาพเศรษฐกิจและตลาดการเงินในปัจจุบันกันหน่อย

เริ่มกันด้วยข้อที่ 1 ราคาขึ้นสูงกว่าปกติ ก็จะเห็นว่ามีเพียงตลาดหุ้นสหรัฐฯ เท่านั้นที่ราคาสูงเกินค่าเฉลี่ย 5 ปี อย่างชัดเจน แต่ถ้าถามว่าราคานั้นรับรู้มูลค่าในอนาคตตามข้อที่ 2 ราคาที่ขึ้นนั้นรับรู้มูลค่าในอนาคตเรียบร้อยแล้วหรือยัง พี่ทุยคิดว่ายังไม่ทั้งหมด เพราะปกติแล้วกำไรของหุ้นผู้นำอย่างกลุ่มเทคโนโลยีเติบโตได้ที่ประมาณ 10% 

ต่อมาในข้อที่ 3 และข้อที่ 6 เรื่องของอารมณ์ตลาดและนักลงทุนหน้าใหม่ที่แม้ตลาดจะคึกคักขึ้น แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ กันอยู่อย่างชัดเจน

ด้านการกู้ยืมเงนและการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าในข้อที่ 4 และข้อที่ 5 นั้น พี่ทุยไปตรวจสอบมาจากผ่านเว็บไซต์ advisorperspectives.com และ tradingster.com แล้วยังไม่มีทั้ง 2 สัญญาณ ยังไม่สูงเกินกว่าปกติ

สุดท้ายแล้วข้อที่ 7 พี่ทุยคิดว่านโยบายกระตุ้นนี่แหละที่ทำให้ทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นฟื้นตัวเร็วกว่าที่คิด และจะมีออกมาอีกแน่นอนในปีหน้า 

แต่หน่วยงานที่ดูแลมีบทเรียนในอดีตมามากแล้ว เลยตรวจสอบผลของนโยบายอย่างรอบคอบ หากเงินที่มาจากนโยบายไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ก็ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างแน่นอน ไม่งั้นจากนโยบายที่ออกมาเพื่อช่วยเศรษฐกิจจะกลายเป็นตัวทำลายเศรษฐกิจเสียเอง

แม้ว่าตอนนี้เราจะยังไม่ได้อยู่ในภาวะฟองสบู่แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต แต่พี่ทุยนี้ได้นำลักษณะ 7 อย่างของภาวะฟองสบู่ที่ใช้ได้ตั้งแต่อดีตไปจนถึงอนาคตมาฝากกันแล้ว ใครที่กำลังลงทุนอยู่หรือกำลังเริ่มต้น อย่าลืมเอาไปใช้ดูว่ากำลังมีฟองสบู่เกิดขึ้นที่ไหนกันด้วยนะ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply