ใครกันที่เป็นเจ้าตลาด e-Commerce ในไทย ?

ใครกันที่เป็น เจ้าตลาด e-Commerce ในไทย ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • e-Commerce คือการทำธุรกิจซื้อขายสินค้าและบริการผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องเดินไปซื้อของที่ร้าน อยากได้อะไรก็สั่งผ่านออนไลน์ แล้วก็จะมีคนมาส่งของให้นั่นเอง
  • สำหรับเจ้าตลาดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นก็คือ LAZADA และ SHOPEE นั่นเอง ซึ่งทั้งสองเจ้าเข้ามาบุกตลาดไทยอย่างเต็มตัว ทำการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้คนรู้จักและหันมาใช้งานแพลตฟอร์มของตนเอง เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด e-Commerce ในไทยที่ขยายตัวอย่างมาก

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

e-Commerce เป็นชื่อที่เราได้ยินกันบ่อยในปัจจุบันอยู่แล้ว เพราะการที่ทุกคนใช้งานอินเทอร์เน็ต ทั้งใช้ผ่านมือถือและคอมพิวเตอร์จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในทุกวัน พี่ทุยเลยอยากจะพาทุกคนมาเซย์ไฮ ทำความรู้จักกันสักหน่อยว่า ใครกันที่เป็น เจ้าตลาด e-Commerce ในไทย

e-Commerce คืออะไร ?

คือการทำธุรกิจซื้อขายสินค้าและบริการผ่านอินเตอร์เน็ต จริง ๆ ก็คือ การทำธุรกิจออนไลน์ ซื้อของ ขายของผ่านออนไลน์ ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องเดินไปซื้อของที่ร้าน อยากได้อะไรก็สั่งผ่านออนไลน์ แล้วก็จะมีคนมาส่งของให้นั่นเอง โดยมีวิธีการทำธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งแบบ

1. ผู้ประกอบการกับผู้บริโภค(Business to Consumer – B2C) ซึ่งผู้ค้าขายสินค้าโดยตรงไปยังผู้บริโภค

2. ผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ (Business to Business – B2B) ซึ่งผู้ค้าและผู้บริโภคก็คือผู้ประกอบการนั่นเอง เป็นการขายของระหว่างบริษัทกับบริษัทด้วยกันเอง เพื่อนำไปใช้ในการทำธุรกิจของบริษัท

3. ผู้บริโภคกับผู้บริโภค (Consumer to Consumer – C2C) ซึ่งเป็นการที่ผู้บริโภคติดต่อกันเอง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ระหว่างกัน รวมถึงการขายของมือสอง

4. ผู้ประกอบการกับภาครัฐ (Business to Government – B2G) เป็นการประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ เช่น การเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้าไปประมูลสัมปทานในโครงการต่างๆของภาครัฐ เพื่อให้เกิดการลงทุนร่วมกัน ดังเช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการทางด่วน

5. ภาครัฐกับประชาชน (Government to Consumer – G2C) ซึ่งมักจะเป็นการให้บริการของภาครัฐไปยังประชาชนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ใช่เพื่อการค้า เช่น การชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต การให้ข้อมูลต่างๆแก่ประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์หน่วยงานของภาครัฐ

e-Commerce ในไทยเป็นแบบไหน ?

สำหรับในประเทศไทยมีมาตั้ง 5 ปีกว่าแล้ว พี่ทุยเพิ่งใช้ไปสองครั้งเอง อุ่ย! พี่ทุยล้อเล่น โดยตลาดมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเฉลี่ยแล้วตลาดมีการขยายตัวปีละประมาณ 10% พี่ทุยขอยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีการเติบโตสูง นั่นคือ ปี 2559 (มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2,560 ล้านบาท) ที่มีการขยายตัวจากปี 2558 ถึง 14.03% โดยส่วนใหญ่ประมาณ 60% มาจากประเภท B2B คือ การค้าระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการนั่นเอง นั่นเป็นเพราะว่าการซื้อขายสินค้าในแต่ละครั้งมักจะมียอดซื้อขายเป็นจำนวนมาก

ขณะที่รายย่อยหรือการซื้อขายของผู้บริโภครายทั่วไปมักจะมียอดซื้อขายกันเพียงไม่กี่ชิ้น เป็นยอดซื้อขายที่ไม่สูง แต่อาจจะมีความถี่มากกว่าในการสั่งซื้อของรายใหญ่และผู้ประกอบการ รองลงมา 27% มาจากประเภท B2C คือ ผู้ค้าขายสินค้าโดยตรงไปยังผู้บริโภค และส่วนที่เหลือมาจากประเภท B2G เป็นการประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ซึ่งขนาดของโครงการสัมปทานของภาครัฐที่เปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนมักจะมีขนาดโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูง

ทำไม e-Commerce ในไทยถึงได้รับความนิยม ?

ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างมาก เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสาร ที่สร้างความสะดวกสบาย ทำให้ทั้งผู้ขายสินค้าและผู้ซื้อสินค้าสามารถติดต่อกันได้ง่ายขึ้น เข้าถึงกันและกันได้ง่ายขึ้น คนไทยเองยังมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นทุกๆปีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไทยยังเป็นประเทศที่มีจำนวนชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อวันสูงที่สุดในโลกด้วย จึงไม่แปลกเลยที่ยอดการซื้อของผ่านออนไลน์จะเติบโตขึ้นทุกปี เพราะในทุกวันคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตแทบจะตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งเห็นได้จากจำนวนผู้ใช้ของไทยที่เติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับการใช้งานอินเทอร์เน็ต

ใครกันที่เป็นเจ้าตลาด e-Commerce ในไทย ?

จำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย

ใครกันที่เป็นเจ้าตลาด e-Commerce ในไทย ?

จำนวนเวลาที่ใช้ต่อวันของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในแต่ละประเทศ

จำนวนผู้ใช้ e-Commerce ในไทยเป็นอย่างไรบ้าง ?

ปี 2017 หรือปี 2560 มีจำนวนผู้ใช้ของไทยราว 12.1 ล้านคน พี่ทุยต้องเป็นหนึ่งในนี้แน่ๆเพราะพี่ทุยใช้ทุกวันเลย และคาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า ปี 2021 หรือปี 2564 จะมีจำนวนผู้ใช้มากขึ้นถึง 13.9 ล้านคน คือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 15% โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 4% ต่อปี

ใครกันที่เป็นเจ้าตลาด e-Commerce ในไทย ?

จำนวนผู้ใช้งาน e-Commerce ในประเทศไทย

ในแง่ของผู้ขายสินค้าการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ถือเป็นช่องทางที่สามารถช่วยประหยัดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนหน้าร้าน ค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงาน รวมถึงสามารถขายสินค้าได้ 24 ชั่วโมงอีกด้วย ขณะที่คนซื้อของเองก็สามารถเลือกซื้อสินค้าได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่หน้าร้าน สามารถช่วยประหยัดเวลาในการเลือกซื้อสินค้าได้ รวมถึงสามารถเลือกซื้อสินค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

จึงทำให้ธุรกิจนี้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและได้รับความนิยมในไทยมากขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เนื่องจากต้นทุนในการทำธุรกิจหรือการขายสินค้าออนไลน์มีต้นทุนในการเข้าทำธุรกิจต่ำ สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย 

ใครคือกลุ่มลูกค้า ?

กลุ่มคนที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึง 76% คือ เด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-19 ปี ซึ่งอยู่ในวัยเรียน ไม่ได้มีรายได้เป็นของตนเอง แต่เป็นกลุ่มที่มีระยะเวลาในการใช้เทคโนโลยีสื่อสารมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มวัยทำงาน อายุ 20-29 ปี มีการใช้อินเทอร์เน็ต 52% ของจำนวนคนในช่วงอายุ และกลุ่มคนอายุ 30-39 ปี มีการใช้อินเทอร์เน็ต 34% ของจำนวนคนในช่วงอายุ โดยกลุ่มทั้งสองอยู่ในช่วงวัยทำงาน ซึ่งมีกำลังในการซื้อขายสินค้าได้เป็นอย่างดี

ขณะที่กลุ่มคนอายุ 40-49 ปี มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียง 23% ของจำนวนคนในช่วงอายุ และกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 9% ของจำนวนคนในช่วงอายุ ซึ่งจะเห็นได้ว่ายิ่งกลุ่มคนที่มีอายุเยอะจะยิ่งมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตน้อยลงเรื่อยๆ

ดังนั้นกลุ่มคนที่จะทำให้ตลาดเติบโตขยายตัวคือ กลุ่มคนในช่วงอายุ 15-19 จากความถี่ของจำนวนครั้งที่ซื้อมาก แต่ในระดับราคาที่ไม่สูง เนื่องจากยังไม่มีรายได้หรือไม่มีเงินนั่นเอง ขณะกลุ่มคนในช่วงอายุ 20-29 ปี และ 30-39 ปี ถือเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจสำหรับตลาดนี้ เนื่องจากอยู่ในวัยทำงาน มีรายได้ และมีความสามารถในการซื้อขายสินค้าได้เป็นอย่างดี รวมถึงการตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เฮ้ย! เค้าบอกว่าพี่ทุยเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจ พี่ทุยอยู่ในช่วงอายุนี้ แต่ทำไมพี่ทุยก็ยังไม่มีเงินซื้ออยู่ดี พี่ทุยเศร้าใจเลย

ใครกันที่เป็นเจ้าตลาด อีคอมเมิร์ซ ในไทย ?

จำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย (แบ่งตามอายุ)

สินค้าขายดี คืออะไร ?

พี่ทุยไปสืบมาว่า ประเภทสินค้าที่มียอดขายมากที่สุดคือ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์และมีเดีย รองลงมาคือ สินค้าประเภทแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน ของเล่น และประเภทสินค้าที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดคือ อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยในทุกๆปี สินค้าทุกประเภทยังคงสร้างรายได้เพิ่มขึ้น มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความน่าสนใจในการทำธุรกิจในสินค้าแต่ละประเภทได้

ใครกันที่เป็น เจ้าตลาด e-Commerce ในไทย ?

สำหรับเจ้าตลาดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นก็คือ LAZADA และ SHOPEE นั่นเอง ซึ่งทั้งสองเจ้าเข้ามาบุกตลาดไทยอย่างเต็มตัว ทำการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้คนรู้จักและหันมาใช้งานแพลตฟอร์มของตนเอง เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด e-Commerce ในไทยที่ขยายตัวอย่างมาก ลองมาดูกันว่า แล้วถ้าอยากจะซื้อสินค้าออนไลน์สักชิ้น เราจะซื้อเจ้าไหนดี ?

ใครกันที่เป็นเจ้าตลาด อีคอมเมิร์ซ ในไทย ?

ทำไมบางครั้งซื้อสินค้าชิ้นเดียวกัน ซื้อผ่าน SHOPEE ถูกกว่า LAZADA ?

คำถามนี้จะต้องมีใครหลายคนข้องใจอยู่แน่นอน ซึ่งพี่ทุยก็เคยข้องใจเลยไปหาคำตอบมาให้กับทุกคน จริงๆแล้วมีเหตุผลอยู่ทั้งหมด 2 ข้อด้วยกันนั่นก็คือ

1. ผู้ขายสินค้าผ่าน SHOPEE ไม่ต้องแบ่งรายได้ให้กับทางเว็บ ขณะที่ผู้ขายสินค้าผ่าน LAZADA ต้องแบ่งรายได้ให้กับทางเว็บตามประเภทสินค้า

2. ผู้ขายสินค้าผ่าน SHOPEE ไม่ต้องรับผิดชอบค่าขนส่งสินค้าเอง โดยลูกค้าจะเป็นคนรับผิดชอบในส่วนนี้ ขณะที่ผู้ขายสินค้าผ่าน LAZADA ต้องรับผิดชอบค่าขนส่งสินค้าเอง

ดังนั้นผู้ขายสินค้าผ่าน LAZADA จึงมักจะบวกต้นทุนเข้ามาในการคิดราคาสินค้าด้วย สรุปง่ายๆก็คือ ผู้ขายสินค้าผ่าน LAZADA มีต้นทุนการขายสินค้าชิ้นเดียวกัน สูงกว่า การขายสินค้าผ่านทาง SHOPEE จึงทำให้โอกาสที่ราคาสินค้าขายผ่าน LAZADA มักจะมีราคาสูงกว่าการขายผ่าน SHOPEE

โดยปัจจัยทั้งสองข้อที่กล่าวมาด้านบนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแสดงให้เห็นถึงข้อดี ข้อเสียของแต่ละเว็บ แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อราคาอีก เช่น การทำโปรโมชั่นของทั้งสองเว็บ การทุ่มงบทางการตลาด ผู้บริโภคอย่างเราๆจึงควรเปรียบเทียบราคาก่อนซื้อเสมอ

แต่ถ้าจะเป็นคนขายสินค้าผ่านออนไลน์ พี่ทุยว่า แพลตฟอร์มที่น่าสนใจ น่าใช้ ก็ยังคงเป็นทั้ง LAZADA และ SHOPEE  เพราะ LAZADA จะได้ฐานลูกค้า ฐานผู้ใช้งานแพลตฟอร์มที่มีจำนวนมาก ขณะที่ SHOPEE จะได้ในเรื่องของต้นทุนการขายสินค้าที่ค่อนข้างต่ำกว่า ดังนั้นควรขายผ่านสองแพลตฟอร์มนี้ไปพร้อมๆกันเลย

นอกจาก LAZADA และ SHOPEE แล้ว ในไทยยังมีอีกหลายเจ้าให้เลือกใช้กัน แต่ละแพลตฟอร์ม อาจจะมีสินค้าที่ขายแตกต่างกันไป เช่น ถ้าหลายคนอยากซื้อขายสินค้าทุกประเภทก็สามารถใช้งานเว็บไซต์อย่าง 11 STREET, CENTRAL ONLINE และ TARAD ได้เลย

ถ้าสินค้าด้านไอทีคงหนีไม่พ้นเว็บไซต์ 3 เจ้าใหญ่อย่าง NOTEBOOK SPEC, J.I.B และ ADVICE แต่ถ้าใครชอบการประมูลสินค้า คงพลาดไม่ได้กับการใช้เว็บ CHILINDO อย่างแน่นอน และสุดท้ายเว็บไซต์สำหรับสินค้าความสวยความงามยอดนิยม คือ KONVY ที่เหมาะสำหรับผู้หญิงทุกคน

ทิศทางของ e-Commerce ในไทย จะไปทางไหน ?

พี่ทุยมีมุมมองว่า ตลาดนี้ยังสามารถขยายไปได้อีกเยอะ เพิ่มยอดการซื้อขายได้อีกมาก เนื่องจากเป็นอีกรูปแบบการซื้อขายผ่านออนไลน์ ซึ่งล้อไปกับพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตและมือถือตลอดเวลา เป็นการขายสินค้าที่มีวิธีการเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงทุกคนสามารถเป็นได้ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อในเวลาเดียวกัน

โดยยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ได้เข้ามาลงทุนในตลาดนี้ในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ยักษ์ใหญ่จากชาติตะวันตกอย่าง Amazon ก็หันมามองช่องทางการเข้ามาลงทุนในแถบประเทศเอเชียตะวันออก โดยเริ่มจากสิงคโปร์เป็นประเทศแรก

การที่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาลงทุนในแถบประเทศบ้านเรา อาจจะเป็นส่งสัญญาณถึงรายเล็ก ๆ ที่ต้องเร่งปรับตัว พัฒนาตนเองให้เท่าทันเงินทุน ทรัพยากร เทคโนโลยี ของบริษัทใหญ่ที่กำลังเข้ามา หากไม่ปรับตัวการอยู่รอดคงจะทำได้ยาก ขณะที่ผู้บริโภคจะมีโอกาสได้เลือกซื้อของทั่วโลกโดยได้รับสินค้าภายในไม่กี่วันก็เป็นได้ พี่ทุยเชื่อว่า ในอนาคตไม่กี่ปีคนไทยจะได้มีโอกาสใช้เว็บซื้อขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศอีกหลายเจ้าอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย