ผ่างบ "รัฐบาล" ปี 65 กระทรวงไหนได้งบเพิ่มหรือลดลง ?

ผ่างบรัฐบาล ปี 65 กระทรวงไหนได้งบเพิ่มหรือลดลง ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2565 มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ไม่เกิน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.85 แสนล้านบาท โดยประมาณการรายได้ของ “รัฐบาล” ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นร่างงบประมาณขาดดุล 7 แสนล้านบาท
  • เนื่องจากงบประมาณลดลงจากปีก่อนทำให้มีหน่วยงานถูกปรับลดงบถึง 28 รายการ ขณะที่ภาพรวมพบว่ารายจ่ายประจำ 2.36 ล้านล้านบาท คิดเป็น 76.1% ของงบประมาณทั้งหมด ด้านรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 6.24 แสนล้านบาท คิดเป็น 20.14% ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขการขาดดุลงบประมาณ
  • กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบรายจ่ายลดลงจากปีก่อน 2.7% ซึ่งงบจัดหาวัคซีนไม่ได้ถูกนำไปบรรจุในร่างโดยสำนักงบประมาณและสภาพัฒน์ให้ไปใช้งบกลางเพื่อการสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉิน ด้านรองโฆษกรัฐบาลได้ชี้แจงว่าหากรวมงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านสาธารณสุข จะทำให้มีงบประมาณด้านสาธารณสุข 2.95 แสนล้านบาท
  • จากสมมติฐานการร่างและจัดสรรงบประมาณสะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปี 2565 จะพึ่งพาการส่งออก การบริโภค และการท่องเที่ยว ส่วนการลงทุนจากภาครัฐอาจมาในรูปแบบความร่วมมือกับเอกชน

 


รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ในขณะนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2565 มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ไม่เกิน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.85 แสนล้านบาท คิดเป็น 17.87% ของ GDP ขณะเดียวกันประมาณการรายได้ของ “รัฐบาล” ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นอีก 7 แสนล้านบาท จึงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลซึ่งต้องกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชย

การจัดทำร่างงบประมาณครั้งนี้อยู่บนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวที่ 4-5% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่หนุนอุปสงค์จากต่างประเทศ ซึ่งก็คือการส่งออกขยายตัวนั่นเอง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศก็ถูกคาดว่าจะขยายตัวด้วยการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวหลังการเดินทางระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติภายใต้เงื่อนไขการคิดค้นวัคซีน “สำเร็จ” และใช้ “แพร่หลาย” ทั่วโลกในปลายปีนี้

จำแนกตามหน่วยงานขอรับงบประมาณ

งบประมาณปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ที่ 5.64% เนื่องจากคาดว่าการจัดเก็บรายได้จะลดลง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมตรีว่ากระทรวงจะพยายามจัดเก็บรายได้ให้สูงกว่าเป้าหมายซึ่งจะสามารถจัดทำงบกลางปี 2565 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก ทั้งนี้ขึ้นต้องอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลและเพิ่มขึ้นจากปี 2564 และ 2563 ที่ขาดดุล 6.23 และ 4.69 แสนล้านบาท ตามลำดับ

รัฐบาลลดงบกระทรวงไหนลงบ้าง ?

งบประมาณของปี 2565 ที่ “รัฐบาล” ตัดสินใจปรับลดลงหลัก ๆ แล้วมีทั้งหมด 4 กระทรวงด้วยกัน คือ

  • กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่ถูกลดงบประมาณมากที่สุดถึง 28.7% 
  • กระทรวงศึกษาธิการที่จะได้รับจัดสรรงบประมาณ 3.22 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 6.7%
  • กระทรวงมหาดไทย 3.16 แสนล้านบาท ลดลง 5.1% 
  • กระทรวงสาธารณสุขเป็นประเด็นที่รัฐบาลถูกวิจารณ์มาตลอดหลังได้รับงบรายจ่าย 1.53 แสนล้านลาท ซึ่งต่ำกว่ากระทรวงกลาโหม และลดลงจากปีก่อน 2.7% ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างหนัก อีกทั้งงบจัดหาวัคซีนที่กรมควบคุมโรคเสนอก็ไม่ได้ถูกนำไปบรรจุในร่างงบปี 2565 โดยสำนักงบประมาณและสภาพัฒน์ให้ไปใช้งบกลางเพื่อการสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายกฯ หรืองบประมาณจากเงินกู้

ทางด้านรองโฆษกรัฐบาลได้ชี้แจงว่าหากรวมงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านสาธารณสุขประจำปี 2565 ประกอบไปด้วยกระทรวงสาธารณสุข ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน จะทำให้มีงบประมาณด้านสาธารณสุข 2.95 แสนล้านบาท

รัฐบาลเพิ่มงบกระทรวงไหนได้บ้าง ?

กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นมีเพียง 3 กระทรวงเท่านั้น คือ 

  • กระทรวงการคลัง 2.73 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เนื่องจากต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้น 
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2.46 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.4%
  • กระทรวงพลังงาน 2.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.2%

ร่างงบประมาณของประเทศไทยเป็นแบบขาดดุลมาแล้วอย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน จึงต้องมีการกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 54.3% ของ GDP ถึงแม้จะยังต่ำกว่ากฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ที่ 60% แต่ก็ห่างจากข้อกำหนดไม่มากนักแล้ว

และในอนาคตหากต้องการลดระดับหนี้สาธารณะทางรัฐบาลก็ต้องกลับมาใช้นโยบายการคลังแบบเกินดุลซึ่งนั่นหมายความว่ารัฐต้องจัดเก็บรายได้สูงกว่ารายจ่ายซึ่งก็คงหนีไม่พ้นการเก็บภาษี ประเด็นที่น่าสนใจกว่าก็คือ 1.) ต้องใช้เวลาอีกนานขนาดไหนกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเพียงพอถึงระดับที่ภาครัฐจะดำเนินนโยบายแบบเกินดุล และ 2.) สถานภาพทางการเงินของประเทศจะรองรับการขาดดุลงบประมาณไปได้อีกกี่ปี

จำแนกตามประเภทรายจ่าย

รายจ่ายประจำ 2.36 ล้านล้านบาท คิดเป็น 76.1% ของงบประมาณทั้งหมด ถูกนำไปใช้จ่ายกับเงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ การจัดหาสวัสดิการทางสังคมและบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 6.24 แสนล้านบาท คิดเป็น 20.14% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าการขาดดุลงบประมาณอันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น 

ทางโฆษกสำนักนายกฯ กล่าวว่ารัฐบาลสามารถเพิ่มแหล่งเงินลงทุนด้วยช่องทางอื่น ได้แก่ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP), กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) และการใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในการจ้างงานในพื้นที่ชนบท

และมีการตั้งรายจ่ายชำระคืนเงินกู้ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย 1.7-1.8 แสนล้านบาท โดยเป็นการจ่ายในส่วนของเงินต้น 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.01%

การใช้จ่ายมากกว่า 3 ใน 4 เป็นรายจ่ายประจำอันประกอบไปด้วยรายจ่ายด้านเงินเดือน ค่าจ้าง อีกส่วนเกี่ยวข้องกับสวัสดิการของประชาชน แต่รายจ่ายการลงทุนมีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ซึ่งต้องพึ่งพาภาครัฐในการเป็นผู้นำการลงทุนและช่วยเรียกความเชื่อมั่นจากทั้งภาคเอกชนและต่างชาติ

จำแนกตามแผนยุทธศาสตร์

ประกอบไปด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมุ่งเน้นไปยังยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมที่คิดเป็น 23.67% ของงบทั้งหมด ตามมาด้วยยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลย์และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ที่มีสัดส่วน 18.05% ของงบทั้งหมด และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่คิดเป็น 17.68% ของงบทั้งหมด

ส่วนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งใช้จ่ายกับการพัฒนาโลจิสติกส์ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ได้จัดสรรงบประมาณ 10.9% ขณะที่ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับงบประมาณที่ 3.9%

โดยหากพิจารณารายละเอียดของทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ ที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดซึ่งรวมกันได้ถึง 59% จะมุ่งเน้นไปยังการพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา สวัสดิการทางสังคม และระบบบริการภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว อย่างไรก็ตามหากขาดแผนการที่ชัดเจน มีขั้นตอน และเป็นรูปธรรม งบประมาณในส่วนนี้ก็ไม่อาจสร้างประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอันเกิดจากเม็ดเงินลงทุนที่อยู่ในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันซึ่งสอดคล้องกับรายจ่ายการลงทุนในหัวข้อก่อนหน้า ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นการพัฒนาประเทศในระยะสั้นและกลาง แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจเผชิญกับปัญหา COVID-19 มาอย่างหนักกลับได้รับจัดสรรงบประมาณน้อยกว่า เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก โดยหากมีการลงทุนและพัฒนาในส่วนนี้อย่างจริงจังอาจส่งให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคซึ่งจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและมีการจ้างงานมากขึ้นอย่างแน่นอน

ภาพสะท้อนของเศรษฐกิจจากร่างงบประมาณ

จะเห็นได้ว่าสมมติฐานด้านเศรษฐกิจปี 2565 นั้นพึ่งพาการส่งออก การฟื้นตัวของการบริโภค และการท่องเที่ยว ในด้านการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและก็เป็นเครื่องยนต์เพียงตัวเดียวที่ประคองเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงที่ต้องเผชิญกับ COVID-19 ส่วนการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญแต่ดับไปกว่าปีแล้ว การฟื้นตัวยังตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่มีความไม่แน่นอน …สิ่งที่ขาดไปจากสมมติฐานและสอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณ คือรายจ่ายการลงทุนจากภาครัฐ ซึ่งอาจมาในรูปแบบความร่วมมือกับเอกชนที่ต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป

หากการฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนเป็นไปตามสมมติฐาน เราก็จะได้เห็นตัวเลข GDP ในปี 2565 ขยายตัวตามคาดการณ์ (ต่ำกว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่) แต่ถ้าภาคส่วนใดไม่ฟื้นตัวตามที่ประมาณการไว้ ตัวเลข GDP อาจออกมาไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้ ผลที่ตามมาคงไม่สวยงามนัก ดังนั้นอาจมองได้ว่าการลงทุนจากภาครัฐเสมือนการรับประกันว่าจะมีเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

แต่ความหวังนั้นยังไม่หมดไป งบกลางอันเป็นวงเงินที่ไม่ระบุรายละเอียดโครงการด้วยเม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาท สามารถสร้างจุดเปลี่ยนได้หากถูกจัดสรรเพื่อลงทุนหรือแก้ปัญหาอย่างตรงจุด

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย