Bitcoin กับวิกฤตการณ์เงินเฟ้อเวเนซุเอลา

Bitcoin กับวิกฤตการณ์เงินเฟ้อ “เวเนซุเอลา”

3 min read  

ฉบับย่อ

  • เวเนซุเอลา หนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งน้ำมัน เอาทุกอย่าง รวมถึงชีวิตของประชาชนไปผูกกับราคาน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเงินเฟ้อรุนแรงในเวเนซุเอลา
  • เมื่อสกุลเงินของเวเนซุเอลาไม่เหลือค่า กลายเป็นเศษกระดาษ หลายคนเอาตัวรอดด้วยการหาทางเลือกอื่น หนึ่งในนั้นคือ Bitcoin เงินที่ถูกโปรแกรมให้ไม่มีทางเฟ้อ เพราะมีแค่ 21,000,000 Bitcoin เท่านั้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เวเนซุเอลาเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในละตินอเมริกา และเป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก แต่วันนี้อาหารและสิ่งของจำเป็นขาดแคลนและแพงขึ้นต่อเนื่อง จนส่งผลคุณภาพชีวิตประชาชนดิ่งลงเหว หลายคนต้องไปหาเศษอาหารจากถังขยะกินประทังชีวิต หลายคนเลือกที่จะเดินเท้าไปประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไปตายเอาดาบหน้า

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เวเนซุเอลากลายเป็นแบบนี้ไปได้ ?

พี่ทุยขอเริ่มที่รากของวิกฤตการณ์นี้ ที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ ตั้งแต่เค้าชนะการเลือกตั้งและเข้ามาเป็นรัฐบาลในปี 1998 ก็มุ่งดำเนินนโยบายปฏิรูปสังคมต่างๆ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาการรักษาพยาบาลฟรี เรียนฟรี การอุดหนุนราคาค่าอาหารภายในประเทศให้ถูก ค่าน้ำ ค่าไฟถูกสุดๆ น้ำมันลิตรละ 36 สตางค์ ถูกกว่าน้ำเปล่าเสียอีก

ปี 2003 รัฐบาล ฮูโก ชาเวซ ออกมาตรการควบคุมค่าเงินสกุลโบลิวาร์ให้คงที่

ปี 2004 ราคาน้ำมันพุ่งทะยานสูง ทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาร่ำรวยมาก และกระจายงบประมาณไปสู่โครงการสวัสดิการสังคมต่างๆ มากขึ้น และสามารถลดความยากจนของชาวเวเนซุเอลาลงได้กว่า 50% เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2008

เค้าจึงได้รับความนิยมและชนะเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งมาตลอด 4 ครั้ง เหมือนทุกอย่างก็ดูจะแฮปปี้ดี แต่ทว่า

ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ปัญหา คือ รายได้ 95% ของประเทศนี้มาจากการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว ไม่เคยสนใจส่งเสริมการพัฒนาในของอุตสาหกรรมอื่นๆ เรียกได้ว่า เอาชีวิตคนทั้งประเทศผูกไว้กับราคาน้ำมัน

ผนวกกับการบริหารงานแบบอำนาจนิยมรวบอำนาจของรัฐบาลฮูโก ชาเวซ ที่เอื้อประโยชน์ให้เฉพาะพวกพ้องของตนเอง ขาดการถ่วงดุลอำนาจการตรวจสอบ ทำให้เกิดการคอรัปชั่นขึ้นอย่างมโหฬาร และการบริหารงานที่ผิดพลาดก็ทำให้งบประมาณของประเทศขาดดุลต่อเนื่อง

Bitcoin กับวิกฤตการณ์เงินเฟ้อ "เวเนซุเอลา"

เด็กๆ ต้องคุ้ยหาเศษอาหารประทังชีวิต ตามถนนในเมืองการากัส

แต่ตอนที่ราคาน้ำมันกำลังดี รัฐก็ยังสามารถประคองกันไปได้ เพราะต่อให้บริหารแย่ยังไง โกงกันไปขนาดไหน ก็ยังอยู่ได้สบาย เพราะจะมีเงินจากการขายน้ำมันมาอุดรอยรั่วนั้นอยู่เสมอ จนกระทั่งประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ เสียชีวิตลงในปี 2013 พร้อมๆกับที่ นีโกลัส มาดูโร เข้ามารับช่วงต่ออำนาจ ราคาน้ำมันก็ลงดิ่งในปี 2014

หายนะมาเยือน เมื่อรัฐบาล นีโกลัส มาดูโร ต่อสู้ด้วยการพยายามตรึงราคาทุกอย่างไว้ แต่ไม่ได้ทำเพื่อคนจนเป็นหลักอีกต่อไป เค้ากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนทางการให้ 10 โบลิวาร์ เท่ากับ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมีเพียงพวกพ้องและพันธมิตรของเค้าเท่านั้นที่สามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนนี้ได้ เป็นช่องให้นายพลและพันธมิตรของ มาดูโร ใช้หาผลประโยชน์จากส่วนต่างดังกล่าว และนำไปทำกำไรมหาศาลในตลาดมืด เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าของสกุลเงินโบลิวาร์อ่อนค่าลง

จนกระทั่ง อัตราการแลกเปลี่ยนบนตลาดจริงๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ต้องใช้ถึง 235,998 โบลิวาร์ จึงจะเท่ากับ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ

และแน่นอนรัฐบาลนีโกลัส มาดูโร แก้ปัญหา ด้วยการพิมพ์ธนบัตรป้อนเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคส่งออกล้มละลายเพราะราคาน้ำมันตกฮวบ ทำให้ขาดรายได้เข้าประเทศ

  • ปี 2014 เงินเฟ้ออยู่ที่ 69%
  • ปี 2015 อยู่ที่ 181%
  • ปี 2016 อยู่ที่ 800%
  • ปี 2017 อยู่ที่ 4,000%
  • ล่าสุดในปี 2018 อยู่ที่ 82,766%

และถ้ารัฐบาลยังคงแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินไม่หยุด IMF คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอล่า จะพุ่งไปแตะ 1,000,000% ภายในสิ้นปี 2018

Bitcoin กับวิกฤตการณ์เงินเฟ้อ "เวเนซุเอลา"

ไก่สดน้ำหนัก 2.4 กก. นี้มีราคาขายตามท้องตลาดในกรุงการากัสที่ 14,600,000 โบลิวาร์

ชาวเวเนซุเอลาต้องใช้เงินถึง 14,600,000 โบลิวาร์ เพื่อซื้อไก่สดน้ำหนัก 2.4 กก. ซึ่งคิดเป็นเงินไทยถึง 1,921 บาท เราไม่สามารถรู้ได้ว่าวิกฤตการณ์ที่เวเนซุเอลาจะจบลงตรงไหน แต่พี่ทุยจะเล่าการพิสูจน์ตัวเองของบางสิ่งในวิกฤตการณ์นี้

การพิสูจน์ตัวเองของ Bitcoin ใน “เวเนซุเอลา”

หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า Bitcoin กันมาบ้าง (อ่าน อยากลงทุน Bitcoin ควรเริ่มต้นอย่างไร?) มันคือสกุลเงินดิจิตอล สกุลแรกที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2008 ที่ทำให้เราสามารถส่งเงินถึงกันได้โดยตรงโดยปราศจากตัวกลางอย่างธนาคาร และมันเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ อย่าง “สภาวะเงินเฟ้อรุนแรง” ด้วย

เพราะตัว Bitcoin ถูกโปรแกรมไว้ให้มีได้แค่เพียง 21,000,000 Bitcoin เท่านั้น ไม่มีธนาคารกลาง หรือ รัฐบาลใดบนโลกที่สามารถแทรกแซง สั่งปิด หรือสั่งพิมพ์ Bitcoin ใหม่ได้ เพราะมันถูกโปรแกรมให้อำนาจการผลิต Bitcoin ใหม่ กระจายไปสู่เครือข่ายคนใช้ทั่วโลก

ด้วยคุณสมบัติข้างต้น ทำให้มันเป็นกลายเป็นตัวเลือกต้นๆในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย สกุลเงินของประเทศหมดความเชื่อมั่นจากประชาชนของตนเอง และนานาชาติอย่างเวเนซุเอลา หรือแม้แต่ในซิมบับเวในช่วงที่เกิดวิกฤต ปี 2008

เครือข่ายคนใช้ Bitcoin เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างคนเวเนซุเอลาที่ไม่สามารถใช้เงินโบลิวาร์สั่งซื้ออาหาร ยา และปัจจัยพื้นฐานอื่นๆจากต่างประเทศผ่านอินเตอร์เน็ตได้ จะหาสกุลเงินต่างประเทศมาใช้ก็ยาก จึงมีคนจำนวนนึงที่ใช้ Bitcoin สั่งซื้ออาหาร ยา และสิ่งของต่างๆ จาก amazon.com หรือ Walmart เพื่อให้ตนเองสามารถอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อรุนแรง ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเร็วๆนี้

ในปี 2017 รัฐบาลเวเนซุเอลาเข้มงวดกับการแบน Bitcoin ตามบล็อก เว็บไซต์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Bitcoin และพยายามตามจับคนที่แอบใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ผลิตบิทคอยน์ (Bitcoin Mining) ซึ่งมีคนที่ใช้นามแฝงว่า “Brother” เขากล่าวว่า

“เขาแอบขุด Bitcoin ในบริษัท เพื่อความอยู่รอด เขาต้องทำ และรับความเสี่ยงเพื่อลูกสาวของเค้า”

ส่วนในซิมบับเวก็เช่นกัน มีการใช้ Bitcoin มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจับจ่ายทั้งภายในประเทศ และซื้อสิ่งของต่างๆ จากต่างประเทศผ่านอินเตอร์เน็ต

เริ่มมีตู้ ATM Bitcoin ที่คนซิมบับเว สามารถโอน Bitcoin ของตนเองเข้าไปที่ตู้ และกดมันออกมาเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐได้ เพราะซิมบับเวยกเลิกการใช้สกุลเงินของตนเองไปเมื่อ ปี 2009 และต้องใช้สกุลเงินต่างประเทศ รวมถึง Bitcoin

สรุป

จากมหากาฬวิกฤตเศรษฐกิจที่พี่ทุยเคยเล่าทั้ง วิกฤตเศรษฐกิจที่ไวมาร์ ประเทศเยอรมนี และวิกฤตเงินเฟ้อที่ซิมบับเว วิกฤตเงินเฟ้อที่ซิมบับเว รวมถึงวิกฤตการณ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในช่วงปีนี้ คือ เวเนซุเอลา น่าจะทำให้พวกเราเห็นว่า หลายครั้งธนาคารกลางและรัฐบาลก็มีโอกาสบริหารผิดพลาด พาระบบเศรษฐกิจ และชีวิตของประชาชนไปสู่ความพินาศได้

พวกเราจึงควรศึกษาทำความเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ไว้ และป้องกันความเสี่ยงในทรัพย์สินของตนเอง โดยกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายรูปแบบ ไม่ควรเก็บมันไว้ในรูปของเงินสดในธนาคารแต่เพียงอย่างเดียว เพราะถึงแม้จะไม่เกิดสภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขนาดเหตุการณ์ทั้ง 3 ข้างต้นแล้ว ในภาวะปกติเงินก็จะเฟ้อในระยะยาวเสมอ โดยเฉลี่ยเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1-3% ต่อปี เพราะธนาคารกลางก็สามารถพิมพ์เงินออกสู่ระบบได้เรื่อยๆ ทำให้มันเป็นสาเหตุของการกัดกร่อนความมั่งคั่งของพวกเราไปเรื่อยๆนั่นเอง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย