รายได้ของรัฐบาล มาจากไหนบ้าง ?

รายได้ของรัฐบาล มาจากที่ไหนบ้าง ? – เข้าใจง่าย ๆ ภายใน 3 นาที

3 min read  

ฉบับย่อ

  • แหล่งรายได้ของรัฐบาลมาจาก สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.) รายได้จากภาษีอากร และ 2.) รายได้ที่มิใช่ภาษีอากร
  • จากข้อมูลในอดีตของประเทศไทย โครงสร้างรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากภาษีทางอ้อมเป็นหลัก รองลงมาคือภาษีทางตรง และรายได้ที่มิใช่ภาษีอากร
  • ในบางครั้งการลงทุนในประเทศก็ไม่ได้ใช้เงินจาก “รายได้ของรัฐบาล” เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีที่มาจากส่วนอื่น ๆ เช่น การกู้ยืมเงิน เมื่อรัฐบาลเกิดภาวะขาดสภาพคล่อง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

รายได้ของรัฐบาล เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนชอบตั้งคำถามว่า รัฐบาลเอารายได้ตรงนี้ไปใช้ทำอะไรบ้าง ? แต่อีกมุมหนึ่ง เวลาที่เราได้ยินข่าวว่ารัฐบาลอนุมัติงบโครงการโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการช่วยเหลือหลักหมื่น-แสน-ล้านล้านบาท เคยมีความสงสัยกันมั้ยว่า รัฐบาลไปเอาเงินจากที่ไหนมาสร้าง บทความนี้พี่ทุยจะพามาหาคำตอบในแบบฉบับที่เข้าใจง่าย ๆ ให้ฟังกัน

แหล่งที่มารายได้ของรัฐบาลจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. รายได้ของรัฐบาล จากภาษีอากร (Tax Revenue)

“ภาษีอากร” ถือว่าเป็นรายได้หลักที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในรายได้ที่ถือว่ามาจากภาษีอากรก็คือ ภาษีที่เก็บจากประชาชนที่หลายคนบ่นว่าต้องจ่ายในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี (หรือบางคนโดนหักอยู่ในทุก ๆ เดือน) ซึ่งรายได้จากภาษีอากรแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบย่อย คือ

  • ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่จัดเก็บจากรายได้และทรัพย์สินต่าง ๆ โดยไม่สามารถผลักภาระภาษีไปที่ผู้อื่น
    เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
  • ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่จัดเก็บจากผู้บริโภค ซึ่งเป็นการผลักภาระทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับผู้ซื้อหรือผู้บริโภค เป็นผู้รับภาระภาษีแทนผู้ขาย
    เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีสรรพสามิต (สินค้าฟุ่มเฟือย) ภาษีศุลกากร (นำเข้า-ส่งออก)

ในส่วนนี้รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล และความสามารถในการเสียของประชาชนด้วย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องพยายามบริหารทรัพยากร จัดสรรรายจ่ายให้ประชาชนและธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้เก็บภาษีได้มากขึ้น และทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น งานนี้พูดง่ายแต่ทำยากมาก ๆ

2. รายได้ที่มิใช่ภาษีอากร (Non-Tax Revenue)

คือรายได้จากแหล่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีแหล่งที่มาจากภาษีอากร หลัก ๆ แล้วเราก็จะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  • รายได้จากการอุดหนุนและการให้
    มาจากเงินบริจาคหรือเงินให้เปล่าของประชาชน ภาคเอกชน หรือรัฐบาลประเทศอื่น เช่น การบริจาคเงินให้โรงพยาบาล โรงเรียน หรือหน่วยงานรัฐ
  • รายได้จากการขายสิ่งของและบริการ
    เป็นรายได้ที่เกิดจากการบริหารงานของรัฐบาล เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าขายหรือเช่าทรัพย์สินของรัฐ ค่าขายของกลางที่ยึดมาจากคดีต่าง ๆ
  • รายได้จากการประกอบการรัฐวิสาหกิจ
    มาจากการที่รัฐบาลเข้าไปลงทุนในรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทต่าง ๆ พอมีกำไรก็จะเอาเข้าคลังมาเป็นรายได้ของรัฐบาล
  • รายได้อื่น ๆ
    เช่น ค่าปรับ แสตมป์อากร เงินคืนจากส่วนเหลือจ่ายปีก่อน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เป็นต้น

จากข้อมูลในอดีตของประเทศไทย โครงสร้างรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากภาษีทางอ้อมเป็นหลัก รองลงมาคือภาษีทางตรง และรายได้ที่มิใช่ภาษีอากร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว รายได้ของรัฐบาลอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการลงทุนพัฒนาประเทศที่ต้องใช้เงินเป็นหลักแสนล้านหรือล้านล้านบาท อย่างที่พี่ทุยเกริ่นไปตอนแรกหรอก

เพราะในบางครั้งการลงทุนในประเทศก็ไม่ได้ใช้เงินจาก “รายได้ของรัฐบาล” เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีที่มาจากส่วนอื่น ๆ อีก เช่น เงินกู้ มองง่าย ๆ รัฐบาลก็เหมือนกับบุคคลนั่นแหละ ถ้าเราอยากซื้อบ้านราคา 3,000,000 บาท แต่เรามีรายได้แค่ 50,000 ต่อเดือน สิ่งที่เราทำ ๆ กัน คือ ไปกู้ยืมเงินจากธนาคาร รัฐบาลก็เช่นเดียวกัน เวลาที่มีรายได้ไม่เพียงพอก็ไปกู้เงินมาจากที่อื่นแทน อย่างที่เราได้เคยเห็นการกู้ยืมเงินของรัฐบาลในช่วงก่อนหน้านี้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การกู้เงินของรัฐบาล 5 แสนล้านบาท ในช่วงโควิด-19

หรือถ้าใครอยากติดตามคอนเทนต์แบบอัปเดตทุกวันเกี่ยวกับความคืบหน้าในการใช้เงินของรัฐบาล Add LINE ของ Money Buffalo ไปได้เลย คลิกที่นี่

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย