ย้อนรอย “เศรษฐกิจไทย” กับความสำเร็จของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ย้อนรอย “เศรษฐกิจไทย” กับความสำเร็จของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ประวัติศาสตร์ “เศรษฐกิจไทย” สมัย ร.5 ความท้าทายและความสำเร็จของการปฏิรูปการปกครองรูปแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์
  • ปัญหาขาดแคลนรายได้ของรัฐทำให้ประเทศสยามมีกองทัพที่ไม่เข้มแข็ง และนำไปสู่การโดนรุกรานดินแดนจากชาวตะวันตก
  • สินค้าเศรษฐกิจคือสินค้าป่า สินค้าเกษตร (โดยเฉพาะ ข้าว) ฝิ่น สุรา ไม้สักและแร่ต่าง ๆ ส่วนภาคบริการคือการค้าและการขนส่งทางเรือ
  • ร.5 ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีศูนย์กลางในการขับเคลื่อนคือระบบข้าราชการพลเรือน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เคยสงสัยกันมั้ยว่ารูปแบบการปกครองของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีที่มาที่ไปอย่างไร หากเราเคยตั้งคำถามว่าทำไมข้าราชการถึงเป็นอาชีพที่ผู้หลักผู้ใหญ่ชื่นชม ทว่ากลับเป็นอาชีพที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจ หรือเคยอ่านบทวิเคราะห์ปัญหา “เศรษฐกิจไทย” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันชั้นนำหลายแห่งมักพูดถึงประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง (Structural Problems) ว่าเป็นรากฐานของปัญหาที่ขัดขวางการเติบโตของระบบเศรษฐกิจไทย วันนี้พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังว่าที่มาที่ไปมันเป็นอย่างไร

ที่มาและความสำคัญของรูปแบบการปกครองแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ย้อนกลับไปถึงความรู้สังคมศึกษาสมัยมัธยม การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศสยามในช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา คือความสำเร็จในการบริหารจัดการรูปแบบการปกครองรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ร.5 นั่นเอง เป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนที่จะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยหรือประเทศสยามในเวลานั้นมีการปกครองรูปแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ [1] และเผชิญความท้าทายสำคัญในการปกครองคือ

1. การบริหารจัดการกลุ่มอำนาจขุนนางตามหัวเมืองต่าง ๆ
2. การบริหารจัดเก็บรายได้ของรัฐหรือภาษีอากร
3. การสะสมทุนของประชาชน
4. บทบาทการค้าของพ่อค้าต่างแดน
5. การรุกรานล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก

แม้อำนาจของกษัตริย์จะสูงสุด ทว่าหัวเมืองที่ห่างไกลออกไปหลายแห่งก็มีการสืบทอดอำนาจของขุนนางในการปกครองเมืองตนเอง การแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์มีเพียงแค่การส่งส่วยให้เมืองหลวงหรือกรุงเทพฯ เท่านั้น อย่างไรก็ตามโดยเฉลี่ยแล้วมูลค่าส่วยที่ส่งมากรุงเทพฯ นั้นต่ำกว่ามูลค่าของขวัญ และอาวุธ ที่กรุงเทพฯ ส่งไปให้หัวเมืองต่าง ๆ เพื่อรักษาสัมพันธไมตรี จึงทำให้สถานะการเงินของกรมพระคลังมีปัญหาขาดแคลน อีกทั้งเจ้าเมืองเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์กับกษัตริย์แต่มีการสืบทอดอำนาจกันเอง สถานการณ์การเมืองสมัยนั้นยังคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะแหล่งรายได้สำคัญของ 2 ขั้วอำนาจประสบปัญหาด้วยกันทั้งคู่ โดยแหล่งรายได้ของขุนนางตามหัวเมืองคือสินค้าป่า ซึ่งมีการหดตัวลงของอุปสงค์ในขณะนั้น ในขณะที่แหล่งรายได้ของกรมพระคลังก็มีปัญหาในการจัดเก็บได้น้อย เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ภาษีอากรฉ้อโกงบ้างและไม่ได้รับความร่วมมือบ้าง ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ ร.5 ต้องปฏิรูปการปกครองให้มีลักษณะรัฐรวมศูนย์อำนาจและการเก็บภาษีอากรแบบใหม่ คือการรุกรานของชาวตะวันตก

ระบบเศรษฐกิจสมัยพุทธศตวรรษที่ 24

ในยุคสมัยการปกครองของ ร.5 ภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีบทบาทสำคัญ สินค้าเศรษฐกิจคือสินค้าป่า สินค้าเกษตร ฝิ่น สุรา ไม้สักและแร่ต่าง ๆ ภาคบริการที่สำคัญคือการค้าและการขนส่งทางเรือ ในช่วง พ.ศ. 2390-2400 สินค้าป่าถูกลดความสำคัญลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป อุปสงค์ของสินค้าป่าลดลง อุปสงค์ของสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าว มูลค่าส่งออกข้าวในช่วงปี พ.ศ. 2393 ถึงช่วงปี พ.ศ. 2470 เพิ่มขึ้นมากถึง 25 เท่า นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวนาเริ่มสะสมทุน และยืนได้โดยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาการดูแลของระบบศักดินา นอกจากนี้หัตถอุตสาหกรรมก็เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกัน

เม็ดเงินในระบบ “เศรษฐกิจไทย” ในตอนนั้นมีลักษณะกระจุกตัวอยู่ในการค้าและการขนส่งทางเรือ และสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ นั่นทำให้กรมพระคลังซึ่งดูแลท่าเรือ มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองสูง ในส่วนของกรมนาซึ่งดูแลชาวนาและเก็บภาษีอากรก็มีความสำคัญเป็นลำดับรองลงมา

รัฐชาติ อุดมการณ์สำคัญของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในขณะที่ ร.5 ต้องบริหารจัดการคุมอำนาจหัวเมืองต่าง ๆ และเผชิญปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงของนายภาษีอากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าจีนนั้น ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสก็เริ่มเแผ่อาณานิคมมาทางใต้และทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ร.5 ทรงเห็นว่าสถานะความเข้มแข็งของกองทหารไทยมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากมีรายได้ไปอุดหนุนไม่เพียงพอ จึงต้องจัดการปฏิรูปรายได้ภาษีอากร ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถต้านการรุกรานอาณานิคมจากชาวตะวันตกได้ ในปี พ.ศ. 2435 ทรงตั้งกระทรวงเพิ่มขึ้นจาก 4 เป็น 12 กระทรวง เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีกระทรวงสำคัญ ๆ ได้แก่กระทรวงพระคลังสมบัติ (กระทรวงการคลังในปัจจุบัน) กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรพานิชการ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน) และกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น อีกทั้งจัดตั้งระบบเทศาภิบาล เพื่อดูแลหัวเมืองชายแดนต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับการส่งข้าหลวงไปควบคุมหัวเมือง บทบาทของกระทรวงมหาดไทยที่สำคัญคือการจดชื่อประชาชนตามทะเบียนบ้าน และบริหารระบบตำรวจเพื่ออำนวยความสงบสุขของชาวบ้าน บทบาทของกองทัพไทยและระบบตุลาการเองก็มีจุดเริ่มต้นมาในช่วงปฏิรูปการปกครองแบบรัฐรวมศูนย์นี้เช่นกัน

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของศาสนาและการศึกษาในการปฏิรูปการปกครองเช่นกัน จึงจัดตั้งสถาบันพุทธศาสนาและมอบหมายให้นิกายธรรมยุต จัดการบริหารดูแลเชิดชูศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และผนวกการศึกษาไว้กับศาสนา เห็นได้จากวัดคือศูนย์กลางการเล่าเรียนในเขตหัวเมืองและผู้ที่ทำหน้าที่ครูก็คือพระสงฆ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2464 มีการกำหนดการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาแก่เยาวชนทุกคน โดยมีแก่นสำคัญในการศึกษาในขณะนั้นคือการเรียนภาษาไทยและเผยแพร่พุทธศาสนา เพื่อให้คนไทยใช้ภาษาและนับถือศาสนาเดียวกัน

การปฏิรูปการปกครองรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใช้เวลานานกว่าครึ่งศตวรรษและมาสำเร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ร.6 โดยสามารถยึดโยงความสำคัญของ 3 สถาบัน ได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ประชาชนต้องเคารพทั้ง 3 สถาบันไม่สามารถละทิ้งสถาบันใดสถาบันหนึ่งได้ ภายใต้การปกครองรูปแบบรัฐชาติ [2] โดยศูนย์กลางของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือระบบข้าราชการพลเรือน ซึ่งรับผิดชอบการบริหารแผ่นดินทุกส่วนและได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ เห็นได้จากรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น 35 เท่าในช่วง 30 ปี จำนวนข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีการก่อตั้งโรงเรียนมากกว่า 330 แห่ง และเป็นจุดกำเนิดของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

[1] ระบอบการปกครองที่กษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ กล่าวคือกษัตริย์คือกฎหมาย กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีอำนาจเหนือประชาชนและเป็นเจ้าของแผ่นดิน

[2] รัฐชาติ มีองค์ประกอบสามประการ คือ (1) มีประชากรแน่นอน (2) มีดินแดนแน่นอน และ (3) มีรัฐบาลที่แน่นอนเป็นของตนเอง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply