ทำไมผู้ชายถึงชอบ "ความเสี่ยง" มากกว่าผู้หญิง ?

ทำไมผู้ชายถึงชอบ “ความเสี่ยง” มากกว่าผู้หญิง ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ส่วนใหญ่แล้วผู้ชายจะชอบความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง ทำให้ผู้ชายมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงกว่าผู้หญิงซึ่งในระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ยกเว้นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง คือ การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ (Impact Investing) ที่ผู้หญิงจะชอบลงทุนมากกว่าผู้ชายแม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูงกว่าแต่มีประโยชน์ต่อสังคม
  • มิติทางวัฒนธรรมการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (Collectivism) การให้ความสำคัญในเรื่องระยะยาว (Long-term Orientation) และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Uncertainty Avoidance) จะส่งผลต่อระดับความต้องการดอกเบี้ยผลตอบแทนและความเต็มใจที่จะรอผลตอบแทนของนักลงทุน
  • เมื่อเรารับรู้ความแตกต่างด้านเพศและวัฒนธรรมที่มีผลต่อการรับรู้ความเสี่ยงของนักลงทุน และสามารถจัดการกับความคาดหวังและอารมณ์ความรู้สึกในการลงทุนของเราก่อนตัดสินใจลงทุนได้ จะช่วยให้เราลงทุนได้ดีขึ้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เราต้องเจอกับความเสี่ยงและต้องยอมรับกับ “ความเสี่ยง” ในทุก ๆ วัน ไล่ไปตั้งแต่กิจกรรมพื้น ๆ อย่างการเล่าเรื่องตลกให้เพื่อนฟังก็มีความเสี่ยงที่เพื่อนจะไม่ขำ การยกมือตอบคำถามหรือถามคำถามในชั้นเรียนก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เพื่อนหมั่นไส้ การขับรถเร็วก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบติเหตุ หรือหากใครลงทุนอยู่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้

ในบางกิจกรรม การเผชิญหน้ากับความเสี่ยงและการยอมรับความเสี่ยงก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น บางคนมีเรื่องตลกที่อยากเล่าให้เพื่อนฟังแต่เลือกที่จะเงียบเพราะกลัวเพื่อนฟังแล้วไม่ขำ แต่บางคนก็กล้าที่จะเล่าเพราะคิดว่าอย่างแย่ที่สุดก็คือเพื่อนจะไม่ขำ

ปัจจัยอย่างเรื่องเพศมีผลสำคัญที่ทำให้เรารับความเสี่ยงได้ต่างกัน และในวงการวิชาการมีการศึกษาเรื่องนี้มาอย่างยาวนานซึ่งเราก็พอจะคาดเดาได้ว่าผู้ชายน่าจะกล้าสู้กับความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง แต่มันจะเป็นแบบนี้เสมอไปไหมนะ ?

ผู้ชายกล้าเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง

ในงานศึกษาของ Byrnes, Miller และ Schafer ที่รวบรวมและวิเคราะห์งานศึกษา 150 งานที่เกี่ยวกับความแตกต่างของผู้ชายและผู้หญิงในการสู้กับความเสี่ยง พบว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ชายจะกล้าสู้กับความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงแต่จะมากน้อยแค่ไหนจะแตกต่างกันไปตามกิจกรรมและช่วงอายุ

โดยกิจกรรมที่พบว่าผู้ชายกล้าที่จะเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่สุดเลยคือการขับรถ ผู้ชายจะขับรถประมาทกว่าผู้หญิงตั้งแต่ช่วงที่กฎหมายเริ่มอนุญาติให้ขับรถได้ และจะขับรถประมาทมากกว่าผู้หญิงขึ้นเรื่อยๆเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยมหาวิทยาลัยและวัยทำงาน

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งโดย Weber, Blais และ Betz แบ่งกิจกรรมเป็น 5 หมวด คือ 1) การตัดสินใจด้านการเงิน 2) สุขภาพ/ความปลอดภัย 3) การพักผ่อนหย่อนใจ 4) คุณธรรม และ 5) การเข้าสังคม และวัดว่าผู้ชายกับผู้หญิงสามารถเผชิญกับความเสี่ยงในแต่ละหมวดกิจกรรมได้มากแค่ไหน

ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ชอบทำกิจกรรมโลดโผนสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น การไปกระโดดร่ม ไม่ได้หมายความว่าจะชอบการลงทุนเสี่ยงๆเสมอไป จริงๆแล้วมันขึ้นอยู่กับประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละกิจกรรมเป็นสำคัญ

จากทั้ง 5 หมวดมีอยู่เพียงหมวดหนึ่งที่ผู้หญิงกล้าเผชิญหน้ากับความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย ลองทายดูว่าหมวดไหน ?

ใช่แล้ว! ผู้หญิงจะกล้าเข้าสังคมมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีความคุ้นเคยกับการเข้าสังคมมากกว่า แต่ถ้าพูดถึงในเรื่องของการตัดสินใจด้านการเงิน ผู้หญิงจะระมัดระวังในการลงทุนมากกว่าเพราะมองว่าการลงทุนมีความเสี่ยงมากกว่าที่ผู้ชายคิด

ในระยะยาวผู้หญิงได้ผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยกว่า

การที่ผู้หญิงรับความเสี่ยงได้น้อยกว่าผู้ชายในการลงทุนแม้อาจจะเพียงแค่เล็กน้อย แต่ถ้าพูดถึงการลงทุนในระยะยาว เช่น การลงทุนสำหรับวัยเกษียณก็อาจสร้างความแตกต่างได้มาก แต่อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่ายิ่งเราลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงกว่าในระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

งานศึกษาหนึ่งของการลงทุนในวัยเกษียณ ในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Farrell พบว่าผู้ชายจะลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงกว่าผู้หญิง

หากทุกคนหักเงินเดือน 9% เท่ากันเพื่อลงทุนในวัยเกษียณ ผู้หญิงจะมีเงินในวัยเกษียณประมาณ 90% ของเงินในวัยเกษียณของผู้ชาย หรือถ้าคิดเป็นจำนวนปีที่จะได้รับเงินเดือนหลังเกษียณครึ่งหนึ่งของเงินเดือนก่อนเกษียณ ผู้ชายจะมีเงินใช้ไปอีก 17.6 ปีหลังเกษียณหรือมีเงินใช้จนถึงอายุ 72.6 ปี (หากเกษียณอายุตอนอายุ 55 ปี) ซึ่งนานกว่าผู้หญิง 2 ปีเลยทีเดียว

ยังไม่นับว่าในช่วงที่ทำงาน ผู้หญิงจะมีรายได้และมีเวลาทำงานที่น้อยกว่าผู้ชายเพราะอาจต้องลางานมาเลี้ยงลูก แต่ในช่วงหลังเกษียณผู้หญิงดันมีอายุเฉลี่ยที่ยาวกว่าผู้ชาย มิหนำซ้ำต้องเผชิญกับค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นด้วย

แต่ก็ไม่ต้องกังวลจนตกใจเกินไป เพราะผู้หญิงสามารถทำความเข้าใจการลงทุนจากการตามอ่านบทความจาก Money Buffalo เพื่อทำให้เกิดความคุ้นชินกับการลงทุนและสามารถลดการรับรู้ความเสี่ยงที่มากเกินจริงไปได้ หรือผู้ชายเองที่อาจจะมองการลงทุนในแง่ดีเกินไป ก็สามารถตามอ่านบทความของ Money Buffalo ได้เช่นกันที่เกี่ยวกับความเสี่ยงจากการลงทุนเพื่อจะได้มองความเสี่ยงการลงทุนตามสภาพความเป็นจริง

Impact Investing แม้จะเสี่ยงแต่ผู้หญิงชอบมากกว่า

อย่างไรก็ตามมีการลงทุนอยู่ประเภทหนึ่งที่ผู้หญิงสนใจมากกว่าผู้ชาย แม้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนปกติ การลงทุนประเภทนี้เรียกว่าการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ (Impact Investing)

การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ คือการลงทุนในกิจการที่มุ่งหวังผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนด้านการเงินด้วย

เช่น ในประเทศอังกฤษ รัฐบาลต้องการลดปัญหาการกลับเข้าเรือนจำของนักโทษจำคุก จึงออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนให้กับองค์กรด้านสังคมให้ช่วยเหลือนักโทษ ตั้งแต่การฝึกทักษะนักโทษเพื่อการประกอบอาชีพ การดูแลสุขภาพจิตนักโทษและครอบครัว ไปจนถึงการช่วยเหลือด้านการเงินและที่อยู่อาศัย ซึ่งหากอัตราการกลับเข้าคุกของนักโทษลดลงเกินกว่าที่กำหนดไว้ รัฐบาลจะจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้นักลงทุนตามที่กำหนด

จากรายงานของสถาบัน Women’s Philanthropy มหาวิทยาลัยอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าโดยรวมแล้วผู้หญิงจะลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบมากกว่ากว่าผู้ชายไม่มากนัก แต่ผู้หญิงมีความสนใจในการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบมากกว่าผู้ชาย และผู้หญิงยินดีที่จะลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเพิ่มเติมจากการบริจาคปกติ ในขณะที่ผู้ชายเมื่อลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบแล้วก็จะไม่บริจาคเพิ่มเติมอีก

แม้ในรายงานจะไม่ได้บอกเหตุผลโดยตรงถึงความแตกต่างตรงนี้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าผู้หญิงจะเห็นประโยชน์จากการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบที่มากกว่าผู้ชาย หากเราเลือกลงทุนโดยวัดจากประโยชน์และความเสี่ยงจากการลงทุน

นอกเหนือจากปัจจัยด้านเพศที่ส่งผลต่อการรับรู้ความเสี่ยงแล้ว ปัจจัยทางวัฒนธรรมก็มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้เรารับรู้ความเสี่ยงต่างกัน

คนเอเชียชอบ “ความเสี่ยง” มากกว่าชาติอื่น

งานวิจัยของ Weber และ Hsee ได้ทำการสำรวจการรับรู้ความเสี่ยงและการตอบสนองต่อความเสี่ยงของนักลงทุนในหลายประเทศ พบว่านักลงทุนชาวจีนจะชอบการลงทุนที่เสี่ยงกว่านักลงทุนอเมริกา โดยนักลงทุนชาวจีนจะยอมจ่ายมากกว่าให้กับการลงทุนที่เสี่ยง

เหตุผลที่เป็นแบบนี้เพราะคนจีนหรือคนเอเชียรวมทั้งประเทศไทยด้วยมีวัฒนธรรมแบบอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นครอบครัวใหญ่ (Collectivism) คือถ้าเราลงทุนผิดพลาดก็ยังมีครอบครัวที่ยังคอยช่วยเหลืออยู่ทำให้เรากล้าที่จะเสี่ยง

อีกงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจของ Wang, Rieger และ Hens ทดสอบความพึงพอใจของนักลงทุนที่จะยอมรอรับเงินในอนาคตแทนจะที่รับเงินเดี๋ยวนี้

นักลงทุนในประเทศแถบแอฟริกาและยุโรปตะวันออกต้องการดอกเบี้ยที่สูงเพื่อแลกกับการรอรับเงิน ต่างกับนักลงทุนในประเทศไทย เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และสวีเดน ที่ต้องการผลตอบแทนน้อยกว่า ซึ่งหมายความว่านักลงทุนในประเทศเหล่านี้สามารถรอรับเงินในอนาคตได้

เหตุที่เป็นอย่างนี้ก็ขึ้นอยู่กับมิติทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศว่ามีวัฒนธรรมแบบอยู่กันเป็นกลุ่มหรือเปล่า มีการให้ความสำคัญในเรื่องระยะยาว (Long-term Orientation) แค่ไหน และมีการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Uncertainty Avoidance) อย่างไร

สำหรับประเทศที่มีวัฒนธรรมอยู่กันเป็นกลุ่ม หรือ ให้ความสำคัญกับเรื่องระยะยาวมาก หรือ มีการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงน้อย จะเป็นประเทศที่นักลงทุนต้องการดอกเบี้ยต่ำและเต็มใจที่จะรอรับผลตอบแทนในอนาคต

เมื่อนักลงทุนรู้อย่างนี้แล้ว พี่ทุยก็แนะนำให้ไปศึกษาความแตกต่างของผลตอบแทนในสินทรัพย์เสี่ยงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การเข้าใจความเสี่ยงในแต่ละสินทรัพย์จะช่วยให้เราลงทุนได้ดีขึ้น บทความที่พี่ทุยได้เขียนเอาไว้ก็มีเยอะแยะ เลือกอ่านตามที่ชอบเลย (ฮา)

ความแตกต่างด้านเพศและวัฒนธรรมล้วนมีผลต่อการรับรู้ความเสี่ยงของนักลงทุน เราต้องตระหนักและจัดการกับความคาดหวังและอารมณ์ความรู้สึกในการลงทุนของเราเองก่อนตัดสินใจลงทุน แม้มันอาจจะไม่ได้ทำให้เราปราศจากอคติในการลงทุนได้ทั้งหมดหรือทำให้พอร์ตของเราได้กำไรสูงที่สุด แต่มันก็จะช่วยให้เราจัดการกับการรับรู้ความเสี่ยงของเราที่เปลี่ยนแปลงไปได้ 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย