ดีลพันล้านกลุ่มสิงห์ ซื้อซานตา เฟ่

ดีลพันล้านกลุ่มสิงห์ซื้อซานตา เฟ่

4 min read  

ฉบับย่อ

  • กลุ่ม​สิงห์ คอร์ปอเรชั่น ของตระกูล​ภิรมย์​ภักดีเข้าซื้อ ซานตาเฟ่​ สเต๊ก ​เป็นจำนวนเงิน​ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ​หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า​ 1,500 ล้านบาท​ ถือเป็นสัดส่วน​ 26% ของจำนวนหุ้นร้าน
    ซานตาเฟ่​ สเต๊ก ​ทั้งหมด
  • ร้าน ซานตาเฟ่ สเต๊ก นี้จะเป็นส่วนหนึ่งใน 6 เสาหลักของบริษัท​ บุญรอดบริวเวอรี่ จํากัด​ จำกัด​ ในส่วนของบริษัท​ ฟู้ด​ แฟคเตอร์ส​ ซึ่งเป็นธุรกิจ​ด้านอาหาร​ และซานตาเฟ่ สเต๊ก น่าสนใจตรงนี้มีรายได้และกำไร​ดี​ อีกทั้งยังอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม​อาหารที่มีอัตราการเติบโตสูง
  • ธุรกิจ​เหล้าและเบียร์​เป็นธุรกิจ​ที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต​สูงมาก​ ภาษีนี้มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการ​ว่า​ “ภาษีบาป” มาจากการที่รัฐบาลจะเก็บภาษีสินค้าที่ทำให้สุขภาพของประชาชนแย่ลงในอัตราสูง​ เพื่อจะนำเงินส่วนนั้นมาเป็นงบประมาณ​ส่งเสริมสุขภาพ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้​ พี่ทุยเห็นการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการหลายครั้งมาก​ ไม่แน่ใจ​ว่าเป็นเพราะมีเกิดขึ้น​เยอะจริง ๆ​ หรือว่าก่อนหน้านี้​ไม่ได้สังเกตเหมือนกัน ฮ่า ๆ​ และที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอยู่ในตอนนี้ก็คือ​ การที่ “สิงห์ คอร์ปอเรชั่น” ของตระกูลภิรมย์​ภักดีได้เข้าซื้อหุ้น​ 90% ของบริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัดหรือร้านสเต๊กชื่อดัง​ Santafe steak ที่ เลคชอร์​ แคปิตอล ถืออยู่​ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน​ 26% ของหุ้นซานตาเฟ่ทั้งหมด​ ด้วยราคา​ 50​ ล้านเหรียญ​ดอลลาร์สหรัฐ​หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า​ 1,500 ล้านบาท

และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้​ กิจการทั้งสองก็ได้เข้าพิธีแต่งงานกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว​ ตอนนี้มาดู ​Presentation งานเเต่งของเค้ากัน​เถอะ​ เราจะได้รู้จักเจ้าบ่าวกระเป๋าหนักอย่างกลุ่ม สิงห์ คอร์ปอเรชั่น และเจ้าสาวอย่าง ซานตาเฟ่ สเต๊ก มากขึ้น​ ว่าเจ้าสาวเค้ามีดีอะไรนะ​ ถึงได้มีสินสอดแพงขนาดนี้

กลุ่มสิงห์​ คอร์ปอเรชั่น​ และอาณาจักรอาหาร​

ชื่อของกลุ่ม สิงห์ คอร์ปอเรชั่น แห่งตระกูลภิรมย์​ภักดีที่ติดหูคนไทยทุกคนในฐานะ​เบียร์ยี่ห้อเก่าแก่​ซึ่งอยู่คู่คนไทยมานานมาก​ เริ่มตั้งเเต่ช่วงสมัยปลายรัชกาลที่​ 7​ โดยพระยาภิรมย์​ภักดี​ ผู้ก่อตั้งบริษัท​ บุญรอดบริวเวอรี่ จํากัด​ จำกัด ท่านได้ขออนุญาต​จากรัฐบาลในสมัยนั้นเปิดโรงกลั่นเบียร์​แห่งแรกสำเร็จในปี​ พ.ศ. 2476 ในตอนแรกบริษัทมีเบียร์หลายยี่ห้อเลยนอกจากตราสิงห์​ เช่น​ ตราว่าว ตราพระปรางค์ ตรารถ ตรากุญแจ และตราหมี​

แต่จุดที่ทำให้เบียร์สิงห์ยืนหนึ่ง​ คือเมื่อ พ.ศ. 2477 ในงานของสโมสรคณะราษฎร​ พระยาภิรมย์ภักดีได้นำเบียร์สดยี่ห้อต่าง ๆ​ มาให้คนในงานชิม และปรากฏว่า​ คนชอบเบียร์ตราสิงห์กันมากที่สุด​ บริษัท​ก็เลยยุบยี่ห้อทั้งหมด​ มาผลิตเเต่เบียร์สิงห์อย่างเดียว​ ทุกวันนี้เบียร์​สิงห์มีอายุเกือบจะครบศตวรรษ​แล้ว​ ถ้าเป็นคน​ อาจจะทำอะไรไม่ค่อยได้มากนักด้วยศักยภาพ​ทางร่างกายที่จำกัด​ แต่เบียร์​สิงห์ในวัย​ 86 ปีกลับยังกระปรี้กระเปร่า​และพร้อมที่จะแตกไลน์​ธุรกิจ​ใหม่ ๆ​ เสมอ

การเข้าซื้อด้วยเงินจำนวนมหาศาลในครั้งนี้ก็ไม่ใช่การเข้าซื้ออย่างบุ่มบ่ามหรือไม่มีเป้าหมายนะ​ แต่เป็นการเข้าซื้อตามแผนที่ทางกลุ่มสิงห์มีมาก่อนหน้านี้​แล้ว​ เพราะทาง บุญรอดบริวเวอรี่ ที่เป็นต้นขั้วของกลุ่มสิงห์​ ได้ก่อตั้งบริษัทในเครือขึ้นมาอีกหนึ่งบริษัท​เพื่อเน้นลุยตลาดอาหารโดยเฉพาะเลย​ ซึ่งก็คือ​ บริษัท​ ฟู้ด​ แฟคเตอร์​ส​ จำกัด (food factors) โดยมีเงินทุนอยู่​ 5,000​ ล้านบาท และคุณ​ปิติ​ ภิรมย์​ภักดีทายาทรุ่นที่​ 4 ก็ตั้งเป้าว่าภายในสามปีนี้จะทำรายได้ในธุรกิจ​ด้านนี้ให้ทะลุ​ 5,000​ ล้านบาทให้ได้​ แม้ตลาดนี้จะมีการเเข่งขัน​ที่รุนแรงมาก​ก็ตาม

ในปัจจุบันนี้บริษัทในเครือ บุญรอดบริวเวอรี่ ​มีอยู่ด้วยกัน​ 6 เสาหลัก​

1.การผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ น้ำดื่ม และโซดา (บุญรอดบริวเวอรี่)
2.การผลิตขวดแก้ว (บีซีจี กรุ๊ป)
3.ธุรกิจการค้าในภูมิภาค (สิงห์ เอเชียโฮลดิ้ง)
4.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (สิงห์ เอสเตท)
5.ธุรกิจซัพพลายเชน (บุญรอดซัพพลายเชน)
6.ธุรกิจอาหาร (ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส)

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเบียร์​สิงห์มีส่วนเเบ่งทางการตลาดในตลาดเบียร์​บ้านเราจัดเป็นอันดับ​ 3 รองจากอันดับที่​ 1 เบียร์​ลีโอและอันดับที่​ 2 เบียร์​ช้าง​ ซึ่งปัจจุบัน​ เค้าค่อนข้างมาเน้นธุรกิจ​ด้านอาหาร​ เดี๋ยว​มาดูกันว่าทำไม​ พี่ทุยขอแปะไว้ก่อนนะ​ รู้จักเจ้าบ่าวเเล้ว​ เราไปทำความรู้จักฝั่งเจ้าสาวกันบ้างดีกว่า

ซานตาเฟ่ สเต๊ก อาหารฝรั่งราคาคนไทยคือใครกันนะ?

ก่อนที่จะมาเป็นร้านสเต๊กโด่งดังที่มีกว่าร้อยสาขาทั่วไทยอย่างทุกวันนี้​ ซานตาเฟ่ สเต๊ก ถือกำเนิดมาจากมนุษย์​เงินเดือนคนนึงชื่อว่า​ “คุณสุรชัย​ ชาญอนุเดช” ในตอนแรก​เขาเก็บประสบการณ์​จากการทำงานที่ร้าน​ S&P​ และได้ความรู้​ในเรื่องการออกแบบ การประสานงาน​ ระบบต่าง ๆ​ เป็นต้น​ ต่อมาคุณสุรชัยก็ได้ลงทุนเปิดร้านอาหารตามสั่งชื่อว่า​ “ครัวไท” ในโรงพยาบาลพญาไท​และร้านนี้ประสบความสําเร็จ​มาก​ ภายใน​ 2 อาทิตย์​ก็คืนทุน​แล้ว​ จนสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว​ แต่ปัญหาก็เริ่มต้นขึ้นที่จุดนี้น่ะแหละ​ เพราะการขยายสาขา​มีปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมได้ยาก​ เช่น​ การบริหารคน​ การควบคุมคุณภาพ​ ร้านครัวไทก็เลยเริ่มไม่เวิร์ค​ จนขาดทุนถึง​ 92​ ล้านบาท​ สุดท้ายคุณสุรชัย​ก็เลยตัดสินใจ​ยอมตัดแขนขาก่อนที่มะเร็งจะลามไปทั่วทั้งตัว​ โดยการปิดร้านครัวไทลง

ซึ่งจุดสิ้นสุดของครัวไทกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ซานตาเฟ่ สเต๊ก

อาจเรียกได้ว่า​ ซานตาเฟ่ คือนกฟีนิกซ์​ดี ๆ​ นี่เอง​ เพราะถือกำเนิดมาจากกองเถ้าถ่านของร้านที่มีจุดจบไม่สวยนัก ชื่อร้านซานตาเฟ่​ มาจากชื่อเมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก​ โดยตั้งใจขายอาหารตะวันตกในราคาที่คนส่วนมากเอื้อมถึง​ เพราะก่อนหน้านี้​ร้านสเต๊ก​มักแบ่งออกเป็น​ 2 เกรด คือ​ สเต๊ก​ขึ้นห้าง​ ราคาพรีเมี่ยมและสเต๊ก​ Street food ราคาย่อมเยา​ ซานตาเฟ่จึงตั้งใจจะเข้ามาอยู่ตรงกลางที่ว่างอยู่นี้​ โดยขายสเต๊กคุณภาพ​ดี​ แต่มีราคาปานกลาง​ ตั้งแต่ไม่ถึงร้อยบาทจนถึงประมาณ​ 300​ กว่าบาท​ ที่สำคัญ​ยังจัดโปรโมชั่น​ลดราคาบ่อย ๆ​ ด้วยนะ​ ราคาชุดละไม่ถึงร้อยนี่พี่ทุยเห็นประจำเลย

รายได้และกำไรของ ซานตาเฟ่ สเต๊ก

ปี 2558 มีรายได้รวมกว่า 929 ล้านบาท กำไรกว่า 28 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้รวมกว่า 1,076 ล้านบาท กำไรกว่า 29 ล้านบาท
ปี 2560 มีรายได้รวมกว่า 1,147 ล้านบาท กำไรกว่า 48 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้รวมกว่า 1,158 ล้านบาท กำไรกว่า 46 ล้านบาท

ซึ่งถึงแม้อัตราการเจริญเติบโต​ของรายได้และกำไรจะไม่ได้หวือหวาอะไรมากมายนัก​ แต่ซานตาเฟ่ก็มีจุดเด่นที่เเบรนด์ของเค้าแกร่ง​ เป็นที่ติดหูแล้ว​ นอกจากนี้ยังอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง​ อย่างธุรกิจ​อาหารด้วย อีกเหตุผลหนึ่งที่ธุรกิจ​อาหารดึงดูดให้สิงห์เข้ามาร่วมวงก็คือเรื่องของกำไรสุทธิ​ สิ่งที่ลิดรอนกำไรของพวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากเลยคือ​ “ภาษีสรรพสามิต​”

รู้หรือไม่ว่า​ เบียร์​ช้างของไทยเบฟฯ​ เปิดเผยยอดขายเสียภาษีสรรพสามิต​เป็นสัดส่วน​ถึง​ 57.7% และในเดือนมี.ค. 2562 รัฐบาลก็เก็บภาษีสรรพสามิตสุรา​ได้ ถึง​ 6,450 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 900 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนภาษีเบียร์เก็บได้ถึง​ 6,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,100 ล้านบาท เลยทีเดียว

สาเหตุที่ภาษีพวกนี้สูงกว่าภาษีในเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ​ ก็เพราะรัฐบาลมองว่า​ สินค้าพวกเหล้า​ เบียร์​ บุหรี่ หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มที่มีความหวานมาก ๆ​ จะทำให้สุขภาพของประชาชนเเย่ลง​ เค้าก็เลยจัดเก็บภาษีสรรพสามิต​สินค้าประเภทนี้มากเป็นพิเศษ​ จะได้เอาเงินส่วนนี้ไปเป็นงบประมาณ​ส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน​ ชดเชยสุขภาพดี ๆ​ ที่ถูกทำลายไปยังไงล่ะ​ นอกจากนี้​ถ้าเก็บภาษีสินค้าที่ไม่ดีต่อสุขภาพ​พวกนี้แพง ๆ​ ก็จะส่งผลให้สินค้าพวกนี้ราคาแพงขึ้น​ คนก็ซื้อน้อยลงด้วย​ ภาษีเหล่านี้เลยมีชื่อเล่นว่า​ “ภาษีบาป”

สะกิดนิดนึงว่าเห็นข่าวการช้อปปิ้งดีลระดับหลายพันล้านบ่อย ๆ​ อย่างนี้​ อย่าเคลิ้มแล้วนึกหึกเหิม​ว่าเค้ายังกล้าซื้อ​ เราอยากได้ของแพง ๆ​ ก็ต้องกล้าซื้อบ้างนะจ๊ะ​ เพราะถึงแม้นักธุรกิจ​บางคนจะตัดสินใจ​ซื้อของแพงระดับหลายพันล้าน​อย่างเช่น​ กิจการ​ จนบางครั้งอาจจะต้องเป็นหนี้​ แต่หนี้ที่เกิดขึ้นแบบนี้​เป็นหนี้ดีที่จะแตกหน่อออกมาเป็นผลกำไรนะ​ ดังนั้นเวลาจะซื้อของอย่าลืมดูนิดนึงว่า​ เค้าจะทำให้เกิดหนี้ดี​ ซึ่งถือเป็นการลงทุน แต่ถ้าดู ๆ แล้ว​เป็นหนี้เสีย​ ที่จะแตกหน่อออกมาเป็นดอกเบี้ยที่บ่อยครั้งแพงกว่าผลตอบแทนที่เราสามารถหาได้ พี่ทุยว่าแบบนี้ต้องอยู่ห่าง ๆ ไว้ก่อนเลยล่ะ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply