ถ้า "เงินเฟ้อ" พุ่งขึ้นหลังโควิด-19 จะรับมืออย่างไร ?

ถ้า “เงินเฟ้อ” พุ่งขึ้นหลังโควิด-19 จะรับมืออย่างไร ?

2 min read  

ฉบับย่อ

  • การอัดฉีดสภาพคล่องอย่างหนักของแต่ละประเทศ เพื่อช่วยกันพยุงเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า “เงินเฟ้อ” อาจจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่วิกฤตผ่านไปแล้ว จากสภาพคล่องที่อัดฉีดเข้ามาและล้นอยู่ในระบบ
  • เงินเฟ้ออ่อน ๆ เป็นสิ่งที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่หากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเร็วเกินไป จะทำให้อำนาจซื้อหายไป และยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนรวมถึงแผนการเงินในอนาคต
  • หากเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ จากสถิติที่ผ่านมาราคาของทองคำมีแนวโน้มจะแปรผันตรงกับเงินเฟ้อ รวมถึง อสังหาริมทรัพย์ และหุ้นที่ให้ปันผลสูงที่มีค่า Beta น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 จะเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ดีในสภาวะนี้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

วิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่ได้ผ่านพ้นไป ทำให้ความเสี่ยงที่หลายคนกังวลในเวลานี้คือ การขาดสภาพคล่องเพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ ทางเลือกในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นที่แต่ละประเทศเลือกใช้กันก็คือ การอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ โดยมากแล้วผลลัพธ์จากการกระทำใดมักจะไม่ได้มีด้านเดียวเสมอ ซึ่งการอัดฉีดเงินก็เช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าเงินที่พิมพ์ออกมาจำนวนมาก จะช่วยต่อลมหายใจให้กับหลายธุรกิจได้ในเวลานี้ แต่วันหนึ่งเมื่อวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป เงินที่เอ่อล้นอยู่ในระบบเหล่านี้ก็มีโอกาสจะผลักให้ “เงินเฟ้อ” พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ของโลกบางราย อย่าง Paul Tudor Jones และ Crispin Odey บอกไว้ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นแน่ ๆ หลังจากที่โควิด-19 ผ่านไป และเมื่อดูจากตัวเลขการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศรวมกันในปีนี้น่าจะพุ่งไปสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในเชิงทฤษฎี เงินเฟ้อแบบอ่อน ๆ หรือมีเงินเฟ้อในระบบเล็กน้อยเป็นสิ่งที่ดี เพราะเมื่อสินค้าราคาแพงขึ้น จะช่วยหนุนให้กำลังธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เกิดการลงทุน จ้างงาน และมีเงินหมุนในระบบมากขึ้น แต่หากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเร็วเกินไป มูลค่าของเงินที่เรามีกันอยู่ทุกวันนี้ก็จะลดลงไปมากเช่นกัน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เงินที่เรามีอยู่ในจำนวนเท่าเดิม จะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ลดลง เพราะสินค้าและบริการต่าง ๆ แพงขึ้นอย่างมาก ไม่เพียงแค่ผลกระทบต่อกำลังซื้อเท่านั้น เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมากเกินไปยังกระทบต่อการลงทุน รวมถึงแผนการเงินต่าง ๆ ในอนาคตของเราด้วย อย่างเช่น โดยปกติแล้วเราลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% หากเงินเฟ้อ 3% เท่ากับว่าผลตอบแทนที่เราได้รับจริง ๆ แค่ 7% หากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเป็น 5% ผลตอบแทนที่เราได้รับจริง ๆ ก็จะยิ่งลดลงไปอีก ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้อาจจะยืดออกไป

แม้ว่าเรายังไม่จำเป็นจะต้องตื่นตระหนกกับ “เงินเฟ้อ” ในเวลานี้ แต่การเตรียมพร้อมที่จะรับมือและปรับพอร์ตการลงทุนเมื่อมีสัญญาณว่าเงินเฟ้อกำลังจะพุ่งขึ้นจะช่วยทำให้เราได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อน้อยลงได้

“ทองคำ” จัดเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะแก่การลงทุนในช่วงที่เงินเฟ้อเป็นขาขึ้น และจากสถิติที่ผ่านมา ราคาทองคำมักจะวิ่งไปในทิศทางเดียวกันกับเงินเฟ้อเสมอ แต่ข้อจำกัดของทองคำคือ การเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ให้กระแสเงินสดกลับคืนมา จนกว่านักลงทุนจะตัดสินใจขายออกไป

ในส่วนของการลงทุนในหุ้นเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ สิ่งสำคัญคือการเลือกบริษัทที่มีการเติบโต ก็สามารถจ่ายเงินปันผลสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยให้เรามีรายรับเข้ามามากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโตและจ่ายปันผลสูงขึ้น นักลงทุนก็มักจะให้ความสนใจเพิ่มขึ้นด้วย โดยการเลือกหุ้นที่มีค่าเบต้าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ซึ่งหมายถึงหุ้นที่มีความผันผวนต่ำกว่าตลาด จะช่วยให้เราสามารถลงทุนเพื่อรับเงินปันผลโดยที่มีความเสี่ยงลดลง

นอกจากนี้ สินทรัพย์อย่างอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงเงินเฟ้อขาขึ้น และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในส่วนของประเภทสินทรัพย์ ในปัจจุบันการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็ทำได้ง่ายขึ้นผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภท REITs ซึ่งสามารถซื้อขายผ่านทางตลาดหลักทรัพย์เหมือนหุ้นทั่วไป

ท้ายที่สุดแล้ว พี่ทุยว่าเราคงจะไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้แน่นอนว่าเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นหรือไม่ เพราะปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจนั้นมีมากมาย แต่ไม่ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้น เงินฝืดจะยืดออกไป สิ่งที่เราน่าจะทำได้ดีที่สุดคือ การเตรียมพร้อมรับมือกับแต่ละสถานการณ์ที่อาจจะเป็นไปได้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply