เรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนไทยมากที่สุดในตอนนี้ก็คือ เรื่องของสายการบินประจำชาติของเราอย่าง “การบินไทย” หรือที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นในตัวย่อว่า THAI หลังจากหาข้อสรุปกันมาระยะหนึ่ง ซึ่งเสียงก็แตกออกเป็นหลายฝ่ายทั้งฝ่ายที่บอกว่าควรอุ้มและบอกว่าควรปล่อยมือ
และในวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ก็ได้ข้อสรุปเรียบร้อยเเล้วว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ “การบินไทย” เข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ โดยจะเปลี่ยนรูปแบบจากรัฐวิสาหกิจ (เพราะรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) ให้เป็นเอกชน โดยก่อนหน้านี้ผู้ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดคือกระทรวงการคลังที่ถือหุ้น THAI อยู่ถึง 51% รองลงมาก็จะเป็นกองทุนวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซีและ บลจ.กรุงไทย ซึ่งเป็นกองทุนที่รัฐถือหุ้นอยู่ประมาณ 30% โดยหลังจากนี้รัฐจะลดสัดส่วนการถือหุ้น THAI ลงจนต่ำกว่า 50%
โดยการฟื้นฟูกิจการนี้ไม่เหมือนกับการล้มละลายนะ พี่ทุยคิดว่าที่บางคนเข้าใจว่า “การฟื้นฟูกิจการเท่ากับการล้มละลาย” อาจจะเป็นเพราะว่าบทบัญญัติของกฏหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการถูกบรรจุอยู่ใน พรบ.ล้มละลาย แต่ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา การฟื้นฟูกิจการหรือ Chapter 11 ก็ถูกบรรจุอยู่ใน กฏหมายล้มละลายเหมือนกันนะ
ข้อแตกต่างของการล้มละลายและฟื้นฟูกิจการอย่างคร่าว ๆ มีดังนี้
ในตอนนี้ที่ผลสรุปออกมาอย่างชัดเจนเเล้วว่า “การบินไทย” ไม่ได้จะล้มละลายแต่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแทน ซึ่งหมายความว่า…
1. ยังไม่มีการนำเอาทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น พวกเครื่องบินของเค้าออกมาขายทอดตลาดแล้วเเบ่งเงินคืนให้แก่เจ้าหนี้ตามลำดับขั้นนะ
2. เจ้าหนี้ต่าง ๆ ยังทวงเงินจากการบินไทยไม่ได้เพราะได้รับการพักชำระหนี้
3. พนักงานทั้งหมดกว่า 20,000 ชีวิตของการบินไทย ทั้งนักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานภาคพื้นดิน ช่างเทคนิคและอื่น ๆ ก็จะไม่ตกงานหรือถ้าตกงานก็แค่บางส่วน เดี๋ยวเรื่องนี้พี่ทุยจะมาขยายความอีกทีนะ
4. การบินไทยจะเปลี่ยนจากการเป็นรัฐวิสาหกิจมาเป็นเอกชน และมีผู้บริหารจากภายนอกเข้ามา
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดเรื่องดี ๆ ก็ได้ เหมือนที่สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ (JAL) ที่เป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นเคยทำได้มาเเล้ว ในปี ค.ศ. 2010 (พ. ศ. 2553) สายการบินนี้ขาดทุนไป 7 แสนล้านบาท ในตอนนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นก็เข้าไปอุ้มโดยการอัดฉีดเงินเข้าไปช่วย 350,000 ล้านบาท โดยส่ง “คาซูโอะ อินาโมริ” เข้าไปเป็นผู้บริหาร
และภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี เจแปน แอร์ไลน์ ก็พลิกกลับมาทำกำไรได้ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรและการลดรายจ่าย เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้มากที่เมื่อการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเหมือน เจแปน แอร์ไลน์ จะมีการ Makeover หลายอย่าง เช่น การลดจำนวนพนักงานเพื่อประหยัดต้นทุน ในขณะที่บางสายการบินมีจำนวนพนักงานที่เกี่ยวข้องแค่เพียง 5 คนต่อลำเท่านั้น การบินไทยกลับใช้พนักงานโดยเฉลี่ยต่อลำมากถึง 42 คน ซึ่งส่งผลโดยตรงไปถึงกำไรส่วนต่าง เพราะเพิ่มต้นทุนต่อที่นั่งโดยสาร (Cost to Ask) เต็ม ๆ นี่เป็นอะไรที่ขัดกับหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่ว่า “ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด” มาก และทรัพยากรจำกัดของการบินไทยก็คือเงินนั่นเอง คงต้องลองดูว่าเค้าจะแก้โจทย์ข้อนี้ยังไง นอกจากนี้การเปลี่ยนเป็นเอกชนอาจจะทำให้เค้าทำอะไรได้คล่องตัวขึ้น เพราะเเต่เดิมจะทำอะไรก็ต้องรอการอนุมัติทำให้จะดำเนินการแต่ละอย่างก็ล่าช้ามาก ๆ อีกประเด็นคือ ก่อนหน้าที่หวยจะมาออกที่การฟื้นฟูกิจการ มีหลายคนถามความเห็นพี่ทุยว่า
ถ้าหากการบินไทยล้มละลายจะเกิดอะไรกับผู้ถือหุ้น ?
คำตอบของคำถามข้อนี้คือขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นผู้ถือหุ้นประเภทไหนเป็นหุ้นกู้หรือหุ้นสามัญ ถ้าเป็นผู้ถือหุ้นสามัญ เราจะมีฐานะเป็นเจ้าของร่วม มีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุมของบริษัท รับรายงานประจำปี เวลาจะมีการปรับเปลี่ยนหรือขยับขยายอะไรในบริษัท เค้าจะส่งจดหมายมาบอกเราเสมอ และในเมื่อฐานะของเราคือเจ้าของบริษัทร่วมก็จะได้รับผลตอบแทน 2 รูปแบบคือ
1. ส่วนต่างราคา (Capital Gain) เมื่อกิจการโตขึ้น สามารถทำกำไรได้มากขึ้น (แต่ถ้าหากกิจการแย่ลง เราก็ขาดทุนนะ)
2. เงินปันผล (Dividend) พูดง่าย ๆ ว่าเป็นเหมือนเงินโบนัส เมื่อบริษัททำกำไรได้มากขึ้น ก็อาจจะเพิ่มเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น แต่ก็มีข้อเสียคือเมื่อบริษัทล้มละลายผู้ถือหุ้นจะได้เงินคืนเป็นอันดับท้ายสุดเลยนะ
ถ้าเป็นผู้ถือหุ้นกู้ เราจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ไม่มีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุม เค้าจะทำอะไรก็ไม่ปรึกษาเรา บริษัทจะโตขึ้นเป็นสิบเท่าหรือสร้างกำไรได้เพิ่มขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็น เราก็จะไม่ได้อะไรมากไปกว่าดอกเบี้ยที่กำหนดเอาไว้แล้ว ผลตอบแทนที่เราได้จากการถือหุ้นกู้หรือเข้าไปเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทก็คือดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ข้อดีก็คือ ถ้าเกิดบริษัทล้มละลายก็จะเจ็บตัวน้อยกว่าผู้ถือหุ้นเยอะนะ เพราะเค้าจะเอาทรัพย์สินขายทอดตลาดและคืนเงินให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ก่อนเลย ซึ่งก็แล้วแต่ว่าทรัพย์สินที่เหลืออยู่จะมากน้อยแค่ไหน ผู้ถือหุ้นกู้อาจจะได้เงินคืนครบ คืนเเค่บางส่วนหรือไม่ได้คืนเลยก็ได้ และในกรณีนี้ไม่ต้องพูดถึงผู้ถือหุ้นเลย…
แต่สำหรับกรณีการบินไทยเนี่ยต้องลุ้นกันอีกสักพักว่าจะออกไปในทิศทางไหน ถึงแม้จะเข้าฟื้นฟูกิจการแต่ก็ไม่ใช่ทุกกิจการจะไปรอด แต่พี่ทุยก็เชื่อว่าการบินไทยยังไงเดี๋ยวก็น่าจะกลับมาได้ และจะเป็นกำลังใจให้คนการบินไทยทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดีนะ
Comment