ทำอย่างไรเมื่อ Online Banking ล่ม ?

ทำอย่างไร ? เมื่อ “Mobile Banking” ล่ม และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย

 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

จากปัญหา Mobile Banking ล่มในวันนี้ (วันที่ 31 สิงหาคม 2561) จนทำให้หลายๆคนไม่สามารถถอนโอนจ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นได้ จนติดเทรนด์ใน Social Media ต่างๆ ทั้ง Twitter และ Facebook ของธนาคาร ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดเป็นครั้งแรก และไม่ได้เกิดเพียงแค่ธนาคารในไทยเท่านั้น พี่ทุยจะมาแนะนำวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นกัน

สาเหตุการล่มของ “Mobile Banking”

เหตุผลที่ Mobile Banking ล่มนั้นเกิดจากปริมาณการทำธุรกรรมที่เข้ามาพร้อมๆกันเป็นจำนวนมาก แต่ทุกธุรกรรมต้องผ่านระบบ Swithching กลาง อันเดียวกัน ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรม จึงทำให้เมื่อมีธุรกรรมจำนวนมากเข้ามาที่ธนาคารนึงจนระบบล่ม โดยสิ่งที่รองรับธุรกรรมเหล่านี้ก็คือ Core Banking หรือแกนกลางของธนาคาร ลองนึกภาพง่ายๆคงคล้ายๆท่อน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งก็สามารถรับปริมาณน้ำได้จำนวนมาก ซึ่งน้ำที่ผ่านทุกวันนั้นก็ยังมีที่เหลือเฟือให้น้ำผ่านมาได้อีกเยอะ แต่ปรากฏว่าทุกๆสิ้นเดือนมีประมาณน้ำมหาศาลกว่าช่วงเวลาปกติ หลายเท่ามากๆไหลเข้ามา ทำให้ท่อน้ำหรือแกนกลางธนาคารไม่สามารถรับภาระเหล่านี้ได้ ระบบจึงล่ม โดยกลุ่มลูกค้าที่ไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากนี้เป็นของธนาคารกสิกรไทย

เป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้วว่าธนาคารกสิกรไทย (KBank) มีกลุ่มลูกค้าเป็นจำนวนมากและหลายบริษัทก็จ่ายเงินเดือนผ่านธนาคารกสิกรไทย ทำให้เมื่อทุกคนพร้อมใจทำธุรกรรมเป็นจำนวนมหาศาล ระบบจึงล่ม และไม่ได้เป็นเพียงแค่ธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น แต่ Mobile Banking ของหลายๆธนาคารก็ล่มไปตามๆกัน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงศรีฯ ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ ก็ใช้งานไม่ได้พร้อมกันเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบ Mobile Banking หรือ การกดเงินผ่านตู้ ATM เองก็ตาม และธนาคารอื่นๆที่ระบบไม่ล่มก็ได้รับปัญหาไปด้วยหากโอนเงินหรือทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องธนาคารที่ระบบล่ม ซึ่งใครที่มีธุรกรรมสำคัญด่วนและหวังพึ่ง Call Center ของธนาคารก็อาจจะไม่ได้รับการตอบกลับเพราะมีคนแจ้งปัญหาพร้อมกันเต็มไปหมดเลย

Mobile Banking ล่ม ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย

การล่มแบบนี้ก็จะโทษแต่พี่ไทยไม่ได้นะ เพราะปัญหานี้พี่ทุยบอกได้เลยว่าไม่ได้เกิดเพียงแค่ในไทยเท่านั้น แบงค์ใหญ่ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น HSBC, Citibank หรือ US Bank ก็ประสบปัญหานี้เหมือนกัน ถึงขั้นในต่างประเทศมีเว็บสำหรับเช็คปัญหาการล่มของธนาคารด้วย โดยล่าสุดในวันที่ 30 สิงหาคม (เวลาที่ต่างประเทศ) วันเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในไทย จากข้อมูลธนาคาร HSBC พบการร้องเรียนปัญหาผ่านทวิตเตอร์กว่า 140 ครั้ง และ US Bank ถูกร้องเรียนกว่า 200 ครั้ง โดยการร้องเรียนปัญหาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน สิ่งที่พี่ทุยสังเกตได้ชัดเลย คือ ปัญหาส่วนใหญ่มักจะเกิดในช่วงปลายเดือน หรือเป็นช่วงที่เงินเดือนของบริษัทส่วนใหญ่จะออกพร้อมๆกันนั่นเอง ทำให้เกิดการทำธุรกรรมจำนวนมหาศาลของมนุษย์เงินเดือนที่เงินหมดและต้องการใช้เงินด่วน พร้อมใจกันทำธุรกรรมเป็นจำนวนมากในระยะเวลาเดียวจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะส่งผลให้ระบบล่มได้

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ระบบที่เคยถูกแก้ไขแล้วยังล่มได้ เกิดจากตัวเลขธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกรรมออนไลน์ในปัจจุบันเริ่มเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตของเราแล้ว ทำให้การใช้ธุรกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยในปีที่แล้วข้อมูลจากทางธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ช่วงเดือน กันยายน และ สิงหาคมของปีที่แล้ว มีการทำธุรกรรมอิเล็กทรอกนิกส์เดือนละ 8 ล้านครั้ง แต่ปัจจุบันตัวเลขการทำธุรกรรมโตขึ้นจาก 8 ล้านครั้งในช่วงเวลาไล่ๆกัน กลายเป็น 53 ล้านครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนการทำธุรกรรมที่สูงมาก เยอะกว่าเดิมเกือบ 7 เท่า และยิ่งธุรกรรมส่วนใหญ่มักจะกระจุกตัวอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันในปลายเดือนทำให้เป็นสาเหตุของการล่มของระบบ

แต่ปัญหาก็เหมือนจะไม่ได้แก้ง่ายๆอย่างที่คิด เพราะตัวแปรสำคัญอย่าง Core Banking เองหากจะทำการเปลี่ยนทีก็จะต้องรื้อระบบเพื่อเปลี่ยนชุด และมีมูลค่าทางการลงทุนมหาศาลมาก ต้องมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี เพราะตัวระบบเองค่อนข้างซับซ้อน และยุ่งยาก

แต่สิ่งที่สบายใจได้อย่างนึง คือ ปัญหานี้ส่วนใหญ่มักจะถูกแก้ไขในวันหรือใช้ระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรืออาจจะสั้นกว่านั้น ซึ่งมีผลแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือไม่วันเท่านั้น ซึ่งถ้าหากเราไม่ได้ฉุกเฉินหรือต้องรีบทำธุรกรรมในเวลานั้นก็จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ดังนั้นหากปัญหาในอนาคตยังไม่ถูกแก้ สิ่งที่เราจะสามารถทำได้คือเราควรมาวางแผนรับมือกันดีกว่า หาก Mobile Banking ล่มอีกครั้งในอนาคต จะทำอย่างไรให้ตัวเราเองไม่เดือดร้อน

  1. เลี่ยงการทำธุรกรรมปลายเดือน – คนที่เคยไปสาขาธนาคารต่างๆปลายเดือนจะรู้กันดีว่าคิวยาวมากกกกก เนื่องจากเงินเดือนออกกันนั่นเอง ดังนั้นทางออกที่ดี คือเราควรเลี่ยงที่จะไปทำธุรกรรมช่วงนั้น
  2. เก็บเงินสดสำรองไว้กับตัวบ้าง – หลายๆครั้งที่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็อาจจะเกิดขึ้นได้กับระบบดิจิตอล ดังนั้น เก็บเงินสดไว้กับตัวซักนิดนึงเผื่อฉุกเฉินบ้าง อย่าชะล่าใจคิดว่ามีมือถือจะโอนเมื่อไหรก็ได้
  3. ไม่นัด หรือ สัญญาจะทำธุรกรรมปลายเดือน – ก็อย่างที่รู้ๆกันการธุรกรรมปลายเดือนนั้นเยอะมาก ดังนั้นจะสัญญาคืนเงิน หรือโอนเงินช่วงที่เงินเดือนตัวเองออก เช่น จ่ายค่าบัตรเครดิตตอนเงินเดือนออกเป๊ะๆ ก็เป็นความเสี่ยง การเลื่อนวันจ่ายไว้ซักหน่อยก็อาจจะเป็นการดีกว่า
  4. อย่าใช้เงิน “เดือนชนเดือน” – อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ายังใช้เงินเดือนชนเดือนอยู่แสดงว่ายังไม่ได้เริ่มวางแผนการเงิน หรือเริ่มออมเงินเลย ดังนั้นเราก็มาเริ่มเก็บออมกัน หารายได้เพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้มาก

ส่วนในรูปแบบบริษัท อาจจะมีการเลื่อนวันจ่ายเงินเดือนเป็นช่วงกลางเดือนหรือต้นเดือนแทนเพื่อลดการกระจุกตัวของธุรกรรมเหล่านี้

ทั้งหมดนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่ก็ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงปัญหาหลักๆที่จะส่งผลกระทบได้ นอกจากจะเป็นวิธีการเอาตัวรอดของตัวเราเองแล้ว หากทุกคนช่วยกันลดการใช้งานช่วงปลายเดือนด้วยกัน ปัญหาหลักๆก็จะทุเลาลงหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยก็ได้ สถานการณ์แบบนี้เป็นสถานการณ์ที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ด้วยตนเอง พี่ทุยก็ขอเอาใจช่วยให้ธนาคารสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และเตรียมแผนรับมือสำหรับการเติบโตของธุรกรรมออนไลน์ในอนาคตได้ เพื่อที่จะทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์คล้ายๆแบบนี้ขึ้นอีก

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย