บริษัทสัญชาติจีน “Pinduoduo” เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ Alibaba หรือไม่

บริษัทสัญชาติจีน “Pinduoduo” เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ Alibaba หรือไม่

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้มีผู้เข้าแข่งรายใหม่จากจีน ที่อาจหาญเข้ามาแข่งในตลาด “อีคอมเมิร์ซ” ที่ดุเดือดอันนี้และมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จเสียด้วย คู่แข่งนั้นคือ “Pinduoduo”
  • ทีเด็ดของ Pinduoduo อีกอย่างหนึ่งก็คือการมีแคมเปญ “Group Buying” คือการที่กำหนดราคาสินค้าให้ถูกลง ถ้าหากเรารวบรวมคนที่ต้องการซื้อสินค้าตัวเดียวกับเราได้ และกดซื้อพร้อมกัน คล้าย ๆ กับการที่ซื้อของได้ถูกลงจากการขายสินค้าส่งนั่นเอง
  • ถ้าหากเราซื้อหุ้น Pinduoduo ตั้งแต่วันแรกที่ IPO แล้วยังไม่ขาย วันนี้คุณจะได้กำไรไปแล้วกว่า 246% (ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2020)

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ทุกวันนี้ในสนามแข่งขันอีคอมเมิร์ซที่แม้จะดุเดือดมากแค่ไหน แต่ก็ยังดึงดูดให้ผู้เล่นหน้าใหม่ไฟแรงที่กล้าหาญ มาสู้เก็บส่วนแบ่งดังกล่าวเข้ามาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดจีนที่เรามักจะคุ้นเคยผู้ขายหน้าเดิม ๆ เช่น JD.com, Alibaba แต่รู้ไหมว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้มีผู้เข้าแข่งรายใหม่จากจีน ที่อาจหาญเข้ามาแข่งในตลาดที่ดุเดือดอันนี้และมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จเสียด้วย คู่แข่งนั้นคือ “Pinduoduo” พี่ทุยจะพามาดูว่าเขาจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวขนาดไหน

Pinduoduo (อ่านว่า พินตัวตัว ในภาษาจีน) ก่อตั้งโดยนาย Colin Huang อดีตพนักงานวิศวกร บริษัทกูเกิ้ล เขาเกิดในปี 1980 ปัจจุบันอายุ 40 ปี จบการศึกษาด้าน Computer Science ที่ Zhejiang University ในมณฑล Hangzhou บ้านเกิดของเขา และศึกษาต่อที่ University of Wisconsin, Madison ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจบการศึกษาเขาได้ฝึกงานกับบริษัท Microsoft

หลังจบออกมาเขาเลือกที่จะทำงานกับบริษัทกูเกิ้ล จากคำแนะนำของอาจารย์ผู้ชี้แนะ ให้เริ่มศึกษาแนวทางการทำธุรกิจของกูเกิ้ลอย่างน้อย 3 ปีก่อนและหลัง จากนั้นค่อยออกมาทำธุรกิจเอง เขาตั้งตัวได้จากการทำงานที่กูเกิ้ล ทั้งยังมีหุ้นอยู่ส่วนหนึ่งและเป็นอิสระจากการเงินทันทีหลังจากที่กูเกิ้ลได้เข้าทำการ IPO ที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้เริ่มศึกษาเล็งเห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจสตาร์ทอัพ

ในปี 2015 เขาได้ก่อตั้งบริษัท Pinduoduo อีคอมเมิร์ซ สัญชาติจีน ที่ทำการขายสินค้าออนไลน์โดยขายทุกอย่างเท่าที่จะขายได้ ตั้งแต่กระดาษทิชชู่ไปจนถึงผลไม้สด สมาร์ตโฟน ซึ่งจุดขายคือ “ราคาถูก” กว่าเจ้าอื่นอย่างชัดเจน ซึ่งรูปแบบธุรกิจที่เป็นจุดเด่น คือการที่ประยุกต์ใช้โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท โดยนักการตลาดบางท่านเรียกว่า “โซเชียลอีคอมเมิร์ซ” โดยได้มีการร่วมมือกับแอปพลิเคชัน เช่น WeChat ของจีนทำให้การสั่งสินค้าทำได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว

และทีเด็ดของเขาอีกอย่างหนึ่งก็คือการมีแคมเปญ “Group Buying” คือการที่กำหนดราคาสินค้าให้ถูกลง ถ้าหากเรารวบรวมคนที่ต้องการซื้อสินค้าตัวเดียวกับเราได้ และกดซื้อพร้อมกัน คล้าย ๆ กับการที่ซื้อของได้ถูกลงจากการขายสินค้าส่งนั่นเอง ซึ่งสามารถทำได้ผ่านหลายแพลตฟอร์มเช่น แอปพลิเคชันของเขาเอง หรือจะเป็น WeChat หรือ QQ ก็ได้เช่นกัน

มนุษย์เรามีจิตวิทยาหมู่ร่วมกันในการซื้อสินค้าใด ๆ ชนิดหนึ่ง ถ้าหากว่าเราสามารถซื้อมันได้ในราคาที่ถูกกว่าคนอื่น เราจะมองว่ามันเป็นชัยชนะ และรู้สึกดีถ้าทำเช่นนั้นได้ รวมถึงบางครั้งเวลาที่เราต้องการจะซื้อสิ้นค้าสักชิ้น การที่ได้เห็นคนอื่น ๆ ซื้อพร้อม ๆ กับเรานั้นก็อาจจะเป็นการให้ความมั่นใจโดยอ้อม ๆ ได้ว่า ขนาดคนอื่นยังซื้อกับเรา มันน่าจะต้องเป็นสินค้าที่ดีแน่ ๆ และไม่น่าโดนหลอก

Colin Huang ได้ให้ความเห็นว่าเหตุที่ Pinduoduo ประสบความสำเร็จเป็นเพราะเขาได้มอบประสบการณ์การซื้อของที่สนุกและถูก เสมือนเป็นการผสมผสานกันระหว่าง Costco (ร้านค้าปลีกราคาถูกรายใหญ่จากสหรัฐฯ) และ Disney (บริษัทด้านความบันเทิงจากสหรัฐฯ) นั่นเอง และโด่งดังจากการมีจุดขายจากการที่เน้นจับกลุ่มผู้บริโภคตลาดล่างที่เน้นราคาของถูกเป็นหลัก ในขณะที่ Alibaba และ JD.com นั้นเน้นการจับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่ชื่นชอบสินค้าที่แปลกใหม่ และเน้นนวัตกรรมที่ดึงดูดใจมากกว่า มีการสำรวจว่า 65% ของรายได้นั้นมาจากการกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรืออาศัยอยู่ในชนบทหรือเมืองชั้นรอง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีเวลาว่างในชีวิตที่พร้อมจะใช้ไปกับการช้อปปิ้งออนไลน์มากกว่าคนในกลุ่มอื่น

Pinduoduo ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ที่สหรัฐอเมริกา ในตัวย่อ PDD เมื่อช่วงกรกฏาคม 2018 ระดมทุนไปได้กว่า 1,600 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ ส่งผลให้ Colin Huang กลายเป็นเศรษฐีพันล้านไปในทันที โดยราคาแรกที่เข้าตลาดคือ 19$ ดอลลาสหรัฐฯ โดยล่าสุดบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent ก็ได้เข้ามาเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักอีกด้วย

ปัจจุบัน PDD มีมูลค่าตลาดที่ 306,437 ล้านดอลลาสหรัฐฯ (ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2020) ยังไม่มีการประเมิน PE เนื่องจากบริษัทเพิ่งเข้าตลาดได้ไม่นานนัก

ในปี 2016 มีรายได้ 504.8 ล้านหยวน มีขาดทุนสุทธิ 292 ล้านหยวน
ในปี 2017 มีรายได้ 1,744.1 ล้านหยวน มีขาดทุนสุทธิ 525 ล้านหยวน
ในปี 2018 มีรายได้ 13,119 ล้านหยวน มีขาดทุนสุทธิ 10,217 ล้านหยวน
ในปี 2019 มีรายได้ 30,142 ล้านหยวน มีขาดทุนสุทธิ 6,968 ล้านหยวน

แม้ว่าจะเผชิญการขาดทุนจากการดำเนินการอย่างหนักแต่บริษัทก็ยังไม่ท้อถอย แต่การจะเอาชนะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีข้อได้เปรียบเรื่องทุนที่หนากว่า ก็อาจจะต้องเอาชนะด้วยไอเดีย การตลาด การดำเนินการที่เหนือกว่า รวมถึงการจับตลาดล่างเป็นหลัก จะเป็นจุดแข็งที่สามารถใช้ได้ต่อไปในอนาคต หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ควรต้องให้การติดตามกันต่อไป ถึงแม้ช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกจะประสบกับวิกฤตโควิด-19 แต่ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยบวกให้กับ Pinduoduo เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ทั่วโลก Lockdown ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นกว่า 80% เลยทีเดียว

ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ ถ้าหากเราซื้อหุ้น Pinduoduo ตั้งแต่วันแรกที่ IPO แล้วยังไม่ขาย วันนี้คุณจะได้กำไรไปแล้วกว่า 246% (ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2020)

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply