เจาะลึกนโยบายส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก 3%

เจาะลึกนโยบายส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก 3%

6 min read  

ฉบับย่อ

  • ธนาคารเอาเงินไปฝากให้เรา 1% แต่กลับเอาเงินเราไปปล่อยกู้ 6-8% ซึ่งเรามักจะคิดว่าโดนธนาคารเอาเปรียบ แต่การคิดแค่เอาส่วนต่างมาลบตรงๆแบบนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างมาก
  • ก่อนการศึกษาเรื่องเหล่านี้ในเรื่องนี้ เราจำเป็นที่จะต้องรู้จักคำว่า NIM หรือ Spread บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกลไกของธนาคารให้มากขึ้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เมื่อไม่กี่วันก่อนในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ลุงมิ่งผู้ที่ใช้นโยบายนำในการหาเสียงได้เริ่มปล่อยของออกมาเรื่อยๆ พี่ทุยมองว่าเป็นเรื่องดีเลยแหละ เพราะมันทำให้เราได้มีโอกาสตัดสินใจจากตัวนโยบายจริงๆ (ทำได้หรือไม่เราต้องตัดสินใจเอง 1 คน 1 เสียงเท่ากัน) ได้มีโอกาสที่จะวิเคราะห์ถึงอนาคตภายหลังการเลือกตั้งได้อย่างเห็นภาพมากขึ้น ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักลงทุนอย่างเรา แต่ละแต่นโยบายของลุงมิ่งก็เรียกได้ว่ากระแสดีจริงๆ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่มีอยู่นโยบายหนึ่งที่หลายๆคนอาจมองข้ามไป แต่พี่ทุยบอกได้เลยว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ นั่นก็คือ “นโยบายส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก” ช่องว่างไม่เกิน 3 %” นโยบายนี้เป็นเรื่องสำคัญและบอกได้เลยว่าน่าสนใจมากๆ

เจาะลึกนโยบายส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก 3%

มีหลายๆคนเคยหลังไมค์เคยถามพี่ทุยมาเหมือนกันว่า ทำไมธนาคารเอาเปรียบเรามากมายขนาดนี้เอาเงินไปฝากให้เรา1% แต่กลับเอาเงินเราไปปล่อยกู้ 6-8% หนักเข้าก็มี 10%++ เลยก็มี พี่ทุยอยากจะบอกว่า การคิดแค่เอาส่วนต่างมาลบตรงๆแบบนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างมาก ถ้าใครลองไปศึกษาเรื่องพวกนี้ดูจะต้องเจอคำว่าคำว่า NIM หรือ Spread มาแน่นอน 2 คำนี้คล้ายกันแต่ความหมายต่างกันอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ตามพี่ทุยมาโล้ดเดี๋ยวจะไปพาทำความรู้จักกลไกของธนาคารให้มากขึ้น

เริ่มกันที่ตัวแรกเลย “Nominal Spread” แปลตามความหมายตรงตัวเลย คือ ส่วนต่างดอกเบี้ยในรูปของ Nominal หรือราคาปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งอันนี้ก็จะคำนวณได้ง่ายสุดเลยคือการนำ “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลบด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก” และน่าจะเป็นอันที่หลายๆคนนึกถึง ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เอาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ลบด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์แบบนี้ก็จะได้ Nominal Spread ทันที มาถึงตรงนี้คงจะมีหลายคนที่สงสัยว่า แล้วเราจะหยิบดอกเบี้ยตัวไหนมาใช้ล่ะ ในเมื่อมันมีตั้งหลายตัวแบงก์ๆหนึ่งไม่ได้มีแค่อัตราเดียวซะหน่อย พี่ทุยอยากจะบอกว่าใช่เลย Nominal Spread มันมีข้อจำกัดที่สำคัญอยู่มากๆ เลยนั่นคือ ลูกค้าแต่ละคนไม่ได้เสียหรือได้ดอกเบี้ยเท่ากัน ดังนั้น Nominal Spread มันไม่ได้สะท้อนรายได้หรือกำไรของธนาคารจริงๆ มันได้แค่ประมาณคร่าวๆ เท่านั้นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดการคำนวนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแบบที่ 2 ขึ้นมา เราเรียกมันว่า Effective Spread คำอธิบายง่ายๆ ก็คือ Spread ที่ธนาคารได้หรือเสียจริงๆ นั่นเอง โดย Spread แบบนี้คำนวนโดยการนำอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดของธนาคารมาเฉลี่ยกันโดยให้น้ำหนักตามยอดสินเชื่อที่ปล่อย นึกภาพง่ายๆก็เหมือนตอนเราคิดเกรดเฉลี่ยสมัยมหาลัยนั่นแหละ ที่ต้องคิดเรื่องหน่วยกิตด้วยเพราะแต่ละวิชามีหน่วยกิตมากน้อยไม่เท่ากัน

เจาะลึกนโยบายส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก 3%

อันนี้ก็เช่นกัน ซึ่งการคำนวนแบบนี้จะคำนึงถึงดอกเบี้ยเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารได้ทุกประเภทจึงทำให้มันสะท้อนรายได้ต่างๆของธนาคารได้ดีกว่าแบบแรก แต่ Effective Spread ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ดีนะ เนื่องจากจะเห็นได้ว่าเรานำแค่พวกสินเชื่อและเงินฝากมาคิดอย่างเดียวแสดงว่าเราคิดถึงธนาคารในสถานะตัวกลางทางการเงินที่ทำหน้าที่รับเงินฝากปล่อยเงินกู้เท่านั้น ซึ่งพี่ทุยบอกได้เลยว่า เดี่ยวนี้โลกมันพัฒนาไปมากแล้วธนาคารพาณิชย์ทำหน้าที่ได้มากกว่านั้นเยอะเลย เช่น ค่าใช้จ่ายจากการออกตราสารหนี้ ค่าธรรมเนียมอื่นๆ จะไม่ได้นับรวมอยู่ใน Effect Spread

มาถึงประเภทสุดท้ายก็คือ NIM หรือ Net Interest Margin แปลเป็นไทยก็คือ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ พูดก็คือได้รวมรายได้ทั้งหมดที่เกิดจากดอกเบี้ยไว้แล้ว ง่ายๆก็คือการเอา Effect Spread มาทำให้ครอบคลุมขึ้นนั่นเอง ซึ่งมันจะรวมหมดเลยไม่ว่าจะเป็น ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินกู้ ตราสารหนี้ รวมถึงดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมหรือปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ด้วย เท่านั้นยังไม่พอยังรวมเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูต่างๆด้วย เรียกว่าครบทุกเม็ดจริงๆ

ดังนั้น NIM จะสะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์ในส่วนของดอกเบี้ยได้ดีที่สุดแล้วในบรรดา 3 แบบที่พี่ทุยเล่าไป ขีดเส้นใต้เลยว่าต้องดูที่ NIM เท่านั้นจะเห็นภาพชัดมากที่สุด ไม่ใช่แค่เอา Nominal Spread หรือการเอา ดอกเบี้ยเงินกู้ ลบ เงินฝาก แล้วก็คิดว่าเป็นรายได้ของธนาคารเลยแบบนั้น

แต่ถึงแม้ว่า NIM จะรวมรายได้รายจ่ายของดอกเบี้ยไว้ทุกประเภทแล้วก็ตาม มันก็ยังคงเป็นแค่เครื่องมือในการวัดผลกำไรของธนาคารแบบ “เบื้องต้น” เท่านั้นเอง

ยังไม่ได้สะท้อนกำไรจริงๆ (แต่กำไรจากดอกเบี้ยก็นับเป็นส่วนใหญ่แล้วแหละ) เนื่องจาก ถ้าดูวิธีการคำนวนที่ตะกี้พี่ทุยได้เล่าไป จะเห็นว่าพี่ทุยไม่ได้พูดถึงต้นทุนตัวอื่นเลยด้วยซ้ำนอกจากดอกเบี้ย เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าจ้างพนักงาน หรือว่าจะในแง่ของรายได้พี่ทุยก็พูดถึงแค่รายได้จากดอกเบี้ยเท่านั้นเอง แบงก์ยังมีรายได้จากทั้ง ค่าธรรมเนียม แล้วตอนนี้ก็ลดลงไปเยอะเหมือนกัน เพราะปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการโอน การจ่ายบิลต่างๆ แทบไม่เสียค่าธรรเมนียมกันแล้ว เราจะเห็นได้ว่า เหล่าธนาคารทยอยลดสาขา รวมถึงพยายามรายได้ช่องทางอื่นเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องด้วย ที่เราเดินเข้าธนาคารแล้วโดนขายประกันรัวๆก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การหาค่าธรรมเนียมเพิ่มด้วยเช่นกัน

ทีนี้เรามาดูกันว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยแต่ละประเภทที่พี่ทุยได้เล่าไป มีค่าเท่าไหร่กันบ้าง พี่ทุยขอก็เลยเอาตัวเลขที่แบงก์ชาติเคยคำนวณและเผยแพร่ไว้ในปี 2017 ไตรมาส 2 แล้วกัน แม้ว่าข้อมูลอาจจะไม่ได้อัพเดทล่าสุด แต่สภาวะตลาดจริงๆก็ไม่ได้มีการปรับตัวมาก ถึงแม้บ้านเราเพิ่งมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเมื่อปีปลายที่แล้ว แต่จากที่พี่ทุยตามๆดูดอกเบี้ยของแต่ละแบงก์ก็ยังไม่ได้ปรับขึ้นตามนัก NIM ในปี 2017 กับ 2018 ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

เจาะลึกนโยบายส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก 3%

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย บทความ “ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย”

จะเห็นว่า จริงๆแล้ว NIM ของบ้านเราไม่ได้เกิน 3% เลย นอกจากนี้ Effective Spread ก็ยังค่อนข้างใกล้เคียง 3% แล้วอยู่ที่ 3.61 เท่านั้นเอง จะมีก็เพียงแต่ Nominal Spread เท่านั้นแหละที่ค่อนข้างสูงอยู่ที่ 6.7% ทีนี้ก็มาเข้านโยบายของลุงมิ่งกัน พี่ทุยว่าลุงมิ่งน่าจะอยากปรับ Nominal Spread ตัวนี้แหละ ที่ลุงมิ่งอยากจะลดมันลงมาให้ไม่เกิน 3% เพราะถ้าปรับ Effective Spread ดูไม่ว้าวและไม่น่าส่งผลอะไรกับตลาดมากมายขนาดนั้น พี่ทุยเลยลองเดาว่าน่าจะหมายถึง Nominal Spread แน่ๆ

ซึ่งอย่างที่พี่ทุยบอกไปตอนต้นเลยว่าตัว Nominal Spread มันใช้ดูแทบไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้สะท้อนต้นทุนของผู้กู้ผู้ฝากเลยด้วยซ้ำเพราะแต่ละคนได้รับดอกเบี้ยไม่เท่ากัน อย่างดีที่สุดถ้าไม่ดู NIM ก็ยังแนะนำให้ดูที่ Effective Spread แล้วกันมันยังพอจะสะท้อนได้บ้างจริงๆแล้ว NIM ของบ้านเราถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยถ้าเทียบกับประเทศในภูมิภาค ของไทยเราจะอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้สูงหรือต่ำขนาดนั้น

เจาะลึกนโยบายส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก 3%

ที่มา: World Bank

ทีนี้ตามที่พี่ทุยได้อธิบายไป Spread พวกนี้มันมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมากนะ โดยจะเห็นว่า Nominal จะกว้างที่สุด ต่อมาคือ Effective และสุดท้ายคือ NIM ถ้าคุณมิ่งขวัญลด Nominal ลงให้เหลือแค่ 3% เดาง่ายๆ NIM มันก็คงลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่งเช่นกัน นั่นหมายความว่า NIM ก็จะเหลือเพียงแค่ไม่ถึง 2% เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าดูจากกราฟข้างบนจะเห็นว่า 2% เนี่ยมันจะไปใกล้เคียงกับ ประเทศอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมถึงเกาหลีใต้ ที่โดยมากแล้วแบงก์ของประเทศพวกนี้มักจะทำธุรกิจกับลูกค้าขนาดใหญ่เป็นหลัก

ประเทศไทยบ้านเราเน้นทำธุรกิจกับ SME ที่มีความเสี่ยงที่สูงกว่าจึงทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ย่อมสูงตามไปด้วยอยู่แล้ว เพราะคุณภาพของคนที่มากู้แตกต่างกัน

หากลองคิดง่ายๆเร็วๆ ดูการที่จะให้ NIM เหลือเพียงไม่ถึง 2% แบงก์ต่างๆคงต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจกันน่าดู คงเลือกปล่อยกู้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อที่จะลด NIM ลดมาก ซึ่งน่าจะทำให้ลูกค้ารายย่อยหมดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้การลงทุนย่อมติดขัดและลดลงอย่างแน่นอน แล้วที่พี่ทุยกลัวที่สุดก็คือ ถ้ารายย่อยเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้แล้ว ปัญหาเรื่องแหล่งเงินกู้นอกระบบอาจจะตามมาอีกก็เป็นไปได้ ตอนนี้ก็เป็นปัญหาไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

การที่จะลด NIM ได้นอกจากเปลี่ยนปรับโมเดลธุรกิจแล้ว ยังสามารถทำได้โดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งพี่ทุยอยากจะบอกว่าอันนี้ก็เป็นไปได้ค่อนข้างยากมากเช่นกัน อยากให้ลองคิดง่ายๆว่า NIM ก็เปรียบเสมือนเครื่องชี้วัดในการทำกำไรจากดอกเบี้ย มันก็เหมือนกับการที่เราจะไปลงทุนแล้วได้กำไรตอบแทนกลับไม่ถึง 2 % อันนี้พี่ทุยว่ามันดูจะน้อยไปเหมือนกันนะ เพราะจริงๆแล้ว แบงก์พาณิชย์ก็แบกรับต้นทุนและความเสี่ยงต่างๆไว้มากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ปล่อยกู้ไปแล้วโยคนมากู้ไม่จ่ายคืนบ้าง ซึ่งแบงก์แต่ละเจ้าก็ต้องกันเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ (เงินส่วนนี้ก็อดเอาไปทำกำไร) เผื่อกรณีมีลูกค้าเบี้ยวแบงก์จะได้ไม่ล้ม แล้วยิ่งช่วงหลังๆนี่บอกเลยว่าต้นทุนตรงนี้มันมากขึ้นเรื่อยๆนะ เนื่องจากอัตราการเบี้ยวหนี้มันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีค่าดำเนินงานต่างๆ อีกซึ่งตรงนี้ก็นับเป็นต้นทุนของแบงก์เช่นกัน

โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ Nominal Spread จะดูค่อนข้างสูง แต่จริงๆแล้วการดูส่วนต่างของดอกเบี้ยควรจะดูที่ NIM จะตรงจุดและถูกต้องมากกว่า แล้วตามที่พี่ทุยบอกไป NIM ของประเทศไทยยังไม่ได้สูงมากนัก ถ้ามีการออกนโยบายที่ทำให้ NIM ลดลงอย่างรวดเร็ว พี่ทุยว่าอาจส่งผลกระทบทางลบมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เลยลองคิดเล่นๆว่า NIM มันต่ำกว่า 3% แล้วเรายังต้องลดช่องว่างลงอีกมั้ย

แต่ยังไงก็ตาม พี่ทุยค่อนข้างเห็นด้วยกับลุงมิ่ง ที่ว่าถ้า Spread (ไม่ว่าจะตัวไหน) ลดลงได้ก็น่าจะทำให้ผู้บริโภค Happy ขึ้นได้ แต่พี่ทุยคิดว่าต้องระมัดระวังเรื่องวิธีการอยู่เหมือนกัน อาจจะไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ยกันตรงๆ  แต่อาจจะต้องผ่านการลดลงผ่าน “ต้นทุน” อย่างแรกเลยแบงก์ต่างๆ อาจจะต้องเข้มงวดมากขึ้นเพื่อให้อัตราการผิดชำระหนี้ลดลงต้นทุนในส่วนนี้จะได้ลดลง

อีกประเด็นที่น่าช่วยได้คือการเพิ่มการแข่งขันในภาคธุรกิจธนาคารให้มากขึ้น เนื่องจากหากมีการแข่งขันมากๆ มีคู่แข่งมากๆ ก็ย่อมทำให้แบงก์ต่างๆ ไม่สามารถคิดอัตรากำไรให้สูงเกินได้ และยิ่งต้องพยามที่จะลดต้นทุนให้มากที่สุด ซึ่งนายวิลเลม เเวน เดอ กีสท์ ผู้นำทีมวิจัย ECORYS เคยกล่าวไว้ว่า ไทยควรจะให้ใบอนุญาตแบงก์เพิ่มด้วย ซึ่งหากทำได้จริงๆ แบงก์ต่างๆ สามารถลดต้นทุนได้ก็จะทำให้แบงก์ส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงให้แก่ประชาชนในรูปแบบของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ลดลงได้ ถ้าเกิดการแข่งขันมากขึ้นคนทีได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือผู้บริโภคแบบเราๆเนี้ยแหละวิธีนี้ก็น่าสนใจ

ดังนั้น ตามพี่ทุยได้เคยกล่าวไว้ว่า ให้วิเคราะห์นโยบายของลุงมิ่งโดยลองมองข้ามเรื่องตัวเลขไปก่อน พี่ทุยคิดว่าหลักการนโยบายของคุณมิ่งขวัญ  “นโยบายส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก” มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากเลย แต่อยากจะให้เน้นที่วิธีการลดด้วยเช่นกัน และคิดว่าการลดต้องเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หาสาเหตุของต้นทุนที่แท้จริงๆ ไม่ใช่แค่การออกกฎแล้วบังคบให้แบงก์ปฎิบัติตาม เพราะมันอาจส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึงและร้ายแรงกว่าเดิมได้นั่นเอง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply