ทำไมราคาปาล์มถึงตกลงกว่า 70% ?

ทำไม “ราคาปาล์ม” ถึงตกลงกว่า 70% ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ล่าสุดมีการประกาศจากกรมการค้าภายในเพื่อช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์มทำให้เราเห็นน้ำมมันปาล์มขวดละ 24 บาทขยับเป็น 34 บาททันที
  • ราคาปาล์มตกจากกิโลกรัมละ 5.71 บาท เหลือเพียง 1.6 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น เหตุจากน้ำมันปาล์มโดนแบนจาก EU และ อินเดียขึ้นภาษี ทำให้ความต้องการปาล์มลดลงอย่างรวดเร็ว
  • การผลิตปาล์มของประเทศไทยคิดเป็นประมาณ 3% ของมูลค่าปาล์มทั้งโลกเท่านั้น ห่างจากที่ 1 และที่ 2 ก็คือ อินโดนีเซียและมาเลเซียที่รวมกันได้ 90% อยู่พอสมควร
  • นโยบายช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาลช่วยได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น ส่วนในระยะยาวสิ่งที่ควรจะต้องทำ คือ การรู้จักสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เมื่อไม่กี่วันก่อนได้มีข่าวที่สร้างความฮือฮาอีกเช่นเคย (อะไรจะฮือฮาบ่อยขนาดนี้ ฮ่า) นั่นก็คือภาพที่ใครหลายๆคนแชร์ว่า ห้างสรรพสินค้าต่างๆมีการขึ้นราคาน้ำมันปาล์มจากขวดละประมาณ 24 บาท เป็น 34 บาท เรียกว่าขึ้นทีนึงเกินกว่า 40% อีก และที่ยิ่งแรงกว่านั้นคือ ในข้อความระบุชัดเจนว่าเพื่อสนับสนุนนโยบายของกรมการค้าภายในฯ เพื่อช่วยเกษตรชาวสวนปาล์ม ซึ่งพี่ทุยบอกได้เลยว่านี่ไม่ใช่การช่วยครั้งแรก แต่มีนโยบายออกมามากมายเพื่อแก้ปัญหานี้ บทความนี้พี่ทุยเลยจะมาเล่าให้ฟังว่ามันเกิดอะไร กับ “ราคาปาล์ม” พร้อมกับวิเคราะห์ในเชิงวิชาการว่าสุดท้ายแล้วนโยบายแบบนี้ได้ผลหรือไม่

ก่อนอื่นเลย พี่ทุยอยากจะบอกว่าการที่ราคาปาล์มที่ตกขนาดนี้ จริง ๆ แล้วพี่ทุยคิดว่าเป็นวิกฤตหรือ Shock รูปแบบหนึ่ง เพราะถ้าเราย้อนกลับไปในปี 2016 ราคาปาล์มสูงมากเลย อยู่ที่ประมาณ 5.71 บาทต่อกิโลกรัมหรือแปลงเป็นตันก็ตันละ 5,710 บาท ในขณะที่ต้นทุนรวมค่าเก็บเกี่ยวอยู่ที่ประมาณ ตันละ 800 บาท นั่นหมายความว่า จะได้กำไรตันละ เกือบ 5,000 บาทกันเลยทีเดียว

และยิ่งไปกว่านั้น ในตอนนั้น ปาล์มก็ดูจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มาแรงแซงทางโค้งจริง ๆ นั่นแหละ เพราะช่วงนั้นหากยังจำได้กัน น้ำมันจำพวกไบโอดีเซล กำลังมาแรงเลย ซึ่งปาล์มก็เป็นหนึ่งในพืชที่สามารถนำไปผลิตได้ ยังไงซะความต้องการในการใช้พลังงานพวกนี้ก็มีตลอดแน่นอน จึงทำให้ใคร ๆ ก็คิดว่าปาล์มนี่แหละจะมาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงเกิดนโยบายให้ขยายพื้นที่เพาะปลูก เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

แต่หารู้ไม่ว่า ไอการที่ใครก็คิดแบบนี้ก็เลยทำให้ผลผลิตปาล์มออกมามาก นอกจากนี้ยังซวยซ้ำซวยซ้อน เนื่องจากจู่ ๆ EU ก็ประกาศแบนน้ำมันปาล์มเฉยเลย บอกว่ามีโอกาสทำให้เป็นโรคหัวใจ แถมมีบางประเทศบอกว่าการปลูกปาล์มมีการถางป่ารับไม่ได้ เลิกซื้อ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างอินเดียก็มาประกาศขึ้นภาษีซะงั้นเลย จาก 15% เป็น 40% เลยให้ทำของแพงขึ้น คนก็เลยไม่อยากซื้อ เรียกว่า ความต้องการ (Demand) ของปาล์มในขณะนี้ลดลงไปมากเลย ทั้งจากอินเดียและยุโรป เรียกได้ว่าตลาดใหญ่ ๆ ทั้งนั้น

เมื่อเราดูด้าน Demand ไปแล้วเรามาดูด้าน Supply บ้าง

จริงๆแล้ว ประเทศไทยเราเป็นผู้ผลิตปาล์มอันดับ 3 ของโลกเลยนะ แต่มันก็ช่างห่างไกลจากอันดับ 1 อย่างอินโดนีเซียและอันดับ 2 มาเลเซียมาก ๆ เนื่องจากการผลิตของทั้ง 2 ประเทศก็ล่อไปเกือบ 90% แล้ว เราผลิตเพียงแค่ 3 % ของทั้งโลกเท่านั้นเอง ซึ่งพี่ทุยเห็นหลายคนก็พยายามจะบอกว่าเป็นเพราะตอนนั้นรัฐบาลสนับสนุนให้ปลูกจนผลผลิตออกมามากเกินไป จริง ๆ พี่ทุยว่าประเทศไทยเรายังห่างไกลจากการกำหนดราคาในตลาดโลกอีกเยอะเลย เราก็เป็นได้เพียงผู้รับราคาจากตลาดโลกเท่านั้น

การที่ราคาปาล์มตกต่ำนั้นเป็นเพราะราคาโลกตกต่ำ เพราะเราผลิตเพียง 3% ของมูลค่าทั้งหมดด้วยปริมาณเท่านี้ไม่สามารถกำหนดราคาตลาดโลกได้

ดังนั้น ตามที่พี่ทุยบอกเลย พอ Demand จากตลาดโลกหาย เลยทำให้ “ราคาปาล์ม” เหลือเพียงกิโลกรัมละ 1.60 บาทเท่านั้นเอง จากที่เคยสูงถึงกิโลกรัมละ 5.71 บาท แสดงว่าจะได้กำไรต่อตันประมาณแค่ไม่ถึง 1,000 บาท ลดลงมาก ๆ เลย จากเกือบ 5 พันบาท เงินหายไปเยอะเลยนะ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจก็ออกนโยบายช่วยเหลือมากมายเลย เช่น ในปี 2018 มีการให้เงินอุดหนุนไร่ละ 1,500 บาท แก่เกษตรกรจำนวน 150,000 รายทั่วประเทศไทย ใช้วงเงินกว่า 2พันล้านบาท เท่านั้นยังไม่พอใน ช่วงมีนาคม 2562 ที่ผ่านมาเหมือนนโยบายนี้จะเป็นที่นิยมจึงให้เงินอุดหนุนอีกครั้งหนึ่งแก่เกษตร 100,000 ครัวเรือน ใช้วงเงินไป 1.3 พันล้าน รวม ๆ แค่ 2 มาตรการก็ปาไป 3,000 กว่าล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ยังมีนโยบายให้เอาปาล์มไปผลิตทั้งน้ำมันและไฟฟ้าอีก เรียกว่าช่วยกันสุดตัวจริง ๆ

จนกระทั่งมาถึงนโยบายล่าสุดในการขอความร่วมมือไม่ให้จัดโปรโมชั่นในการขายน้ำมันปาล์ม ซึ่งก็ได้ผลดีมากเลยนะ ทำให้ราคาขยับจาก 1.6 บาทต่อกิโลกรัมเป็นประมาณ 3.2 – 3.5 บาทแล้ว จริง ๆ พี่ทุยคิดว่าการช่วยเหลือแบบนี้ก็ได้ผลแค่ในระยะสั้นเท่านั้นเอง เนื่องจากว่า ผลผลิตในตลาดโลกมันก็ไม่ได้หายไปไหนนะ EU ก็ยังคงแบนอยู่ ภาษีของอินเดียก็ยังคง 40% ตลาดบ้านเราก็ยังเล็กเหมือนเดิม พี่ทุยว่ามันก็แค่รอวันที่ราคาจะกลับไปอยู่ที่ดุลยภาพเท่านั้นแหละ

นอกจากนี้ หากว่ากันแบบตรงๆ ตามหลักวิชาการแล้ว การทำแบบนี้เขาเรียกว่าการกำหนด “ราคาขั้นต่ำ” ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกราคา หากใครที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์ต้องจำได้กันอย่างแน่นอน (ใครจำได้พี่ทุยก็มีกราฟมาโชว์ให้หายคิดถึงกันด้วยนะ) การไปกำหนดราคาให้มันอยู่สูงกว่าราคาดุลยภาพ ผลที่ตามมาก็คือคนจะซื้อของน้อยลง ของแพงขึ้นคนก็ต้องการน้อยลง แต่กลับกัน สำหรับคนขายหรือคนปลูกจะรู้สึกอยากปลูกมากขึ้นเพราะของราคาก็จะสูงขึ้น จะเห็นว่า Demand มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ Supply มันมากขึ้น ก็เลยยิ่งไปซ้ำเติมปัญหา Supply ล้นตลาดอีกอยู่ดี และหนำซ้ำผู้บริโภคยังได้รับผลกระทบอีกด้วย เพราะต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้นโดยปริยาย

ทำไมราคาน้ำมันปาล์มถึงตกลงกว่า 70% ?

ซึ่งทางออกของปัญหานี้แก้ได้ 2 ทาง คือ

1. เพิ่ม Demand พยายามเชิญชวนให้คนมาใช้

ซึ่งที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่าจะทำไปหมดแล้ว ตามที่พี่ทุยบอกไปว่ามีการให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปผลิตเป็นพลังงาน ก็ยังไม่สามารถจะสร้าง Demand อะไรได้มากมายนัก ตัวเลือกนี้จึงเป็นอันตกไป

2. รัฐบาลต้องรับซื้อ Supply ส่วนเกินทั้งหมดมา

คล้าย ๆ กับนโยบายจำนำข้าวนั่นแหละ ซึ่งพี่ทุยว่าก็คงไม่พ้นทางเลือกนี้หรอก แต่ยังไงก็ตามพี่ทุยก็ยังยืนว่าการช่วยแบบนี้ แก้ปัญหาได้แค่สั้น ๆ เท่านั้นเอง ไม่เชื่อลองดูอย่างจำนำข้าวได้เลย มีมากี่ครั้งแล้ว สุดท้ายก็ยังมีปัญหาอยู่ดี จริง ๆ แล้วสิ่งควรทำน่าจะเป็นการช่วยสร้างมูลค่ากับสินค้าเสียมากกว่าหรือไม่ก็การลดต้นทุนซึ่งจะให้ผลในระยะยาวที่ดีกว่านั่นเอง

โดยสรุปแล้วพี่ทุยคิดว่า หากมองย้อนกลับไปคงไม่มีใครทราบว่าราคาจะตกต่ำได้ขนาดนี้ ซึ่งพี่ทุยคิดว่ามันเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น และการรอให้รัฐบาลมาช่วยแก้ไขอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของเกษตรกร จากเรื่องนี้มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าในการทำธุรกิจหรือกิจการใด ๆ การรู้จักปรับตัว การรู้จักคิดคำนวณความเสี่ยงก่อนดำเนินกิจการเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่นเดียวกับการซื้อหุ้นที่เรามักรวมค่าตอบแทนจากความเสี่ยงเข้าไปเพื่อตัดสินใจซื้อขายด้วยนั่นเอง ไว้มีนโยบายอะไรสนุก ๆ พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังอีกนะ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply