หินยักษ์ที่ก้นทะเลแปซิฟิก จุดเริ่มต้นของ "เงิน" ที่มองไม่เห็น

หินยักษ์ที่ก้นทะเลแปซิฟิก จุดเริ่มต้นของ “เงิน” ที่มองไม่เห็น

 

ฉบับย่อ

  • จุดเริ่มต้นของเงินอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 50 เมื่อคนอเมริกันต้องพกบัตรเครดิตหลายใบเพื่อไปช็อปปิ้ง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานบัตรเครดิตอย่าง VISA บัตรใบเดียวช้อปปิ้งได้ทั่วโลก
  • เกาะแยป เป็นเกาะที่นักเศรษฐศาสตร์เข้าไปศึกษาเกี่ยวกับวิธีการใช้เงิน “หินยักษ์ เพราะไม่ต้องเคลื่อนย้ายเงินไปไหน แต่ใช้วิธีการประกาศให้ทุกคนได้รู้ว่า เงินได้ถูกเปลี่ยนเจ้าของเรียบร้อยแล้ว ด้วยแนวคิดที่ว่า “ยิ่งมีคนรู้เยอะ ยิ่งปลอดภัย”
  • Blockchain และ เกาะแยป มีความคล้ายกันเรื่องแนวคิด แต่ Blockchain ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ไฮเทคกว่า เพราะต้องเป็นการประกาศให้คนทั้งโลกเป็นพยานรับรู้ หรือคนในทุกๆที่ที่ร่วมเป็นเครือข่ายคนใช้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ในปัจจุบันที่โลกกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับการโอนรับเงินผ่านโทรศัพท์กันเป็นอย่างดี และหลายคนก็น่าจะมีบัตร ATM ที่มีสัญลักษณ์ของ VISA หรือ Mastercard กันอยู่บ้าง บทความนี้พี่ทุยจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับ “เงิน” ที่มองไม่เห็น กัน โดยเริ่มจากการถือกำเนิดขึ้นของบัตรเครดิตยี่ห้อแรกๆ ที่ทำให้เงินของเราอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบทุกวันนี้

เงินอิเล็กทรอนิกส์ เงินที่เรามองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่ซื้อขายของได้

ในยุคแรกเริ่มของบัตรเครดิตนั้น จะเป็นบัตรของร้านต่างๆ คือ บัตรใบนึงใช้ได้เฉพาะร้านเดียวเท่านั้น จึงทำให้เราต้องยุ่งยากพกบัตรหลายใบ แต่ระหว่างปี 1946 ถึง 1958 ก็มีความพยายามที่จะสร้างบัตรเครดิตที่สามารถใช้ได้ทุกที่มาตลอด โดยธนาคารขนาดเล็กในอเมริกา แต่ก็ไม่มีใครทำสำเร็จ จนกระทั่ง ปี 1958 โจเซฟ พี วิเลียม (Joseph P. Williams) หัวหน้าฝ่ายวิจัยการให้บริการลูกค้าของ Bank of America ได้คิดสร้างบัตรที่จะสามารถพกไปจ่ายได้กับทุกร้านค้าในบัตรเดียวได้สำเร็จเป็นเจ้าแรก มีชื่อว่า “Bank Americard” เปิดตัวครั้งแรกที่รัฐแคลิฟอร์เนีย และขยายไปรัฐอื่นๆ อย่าง ซานฟรานซิสโก ลอสแอนเจลิส และ ซาคราเมนโต

ตัวอย่างบัตรเครดิต “Bank Americard”

แม้ช่วงแรกจะมีคนเบี้ยวจ่ายเงินเยอะมาก ส่งผลให้ Bank of America ขาดทุนไปเกือบ 9 ล้านดอลล่าร์ จนคุณโจเซฟ ต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกในปีต่อมา แต่โครงการนี้ ก็ยังคงถูกผลักดันต่อไป โดย Bank of America

หลังจากนั้น การจ่ายเงินแบบพกบัตรเดียวที่สามารถใช้จ่ายได้ทุกที่ ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในและนอกสหรัฐฯ ในปี 1976 กลุ่มพันธมิตรบัตรเครดิตธนาคารต่างๆ นำโดย Bank Americard, Barclay Card, Carte Bleue, Chargex และ Sumitomo Card ตัดสินใจรวมเครือข่ายกันและกลายเป็นบัตรเดียวกันชื่อว่า “VISA” ก่อนจะขยายเครือข่ายจนทำให้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

โดยการทำงานของ VISA จะแบ่งธนาคารเป็น 2 ประเภท คือ ธนาคารที่ออกบัตร (Issuer) กับ ธนาคารที่รับบัตร (Acquirer) เมื่อคนถือบัตรใช้มันชำระสินค้า คำสั่งรายการชำระเงินจะถูกส่งไปยัง ธนาคารที่รับบัตร จากนั้นจะติดต่อไปยัง ธนาคารที่ออกบัตร เพื่อตรวจสอบว่า คนถือบัตร มีวงเงินเพียงพอในการชำระมั้ย ผ่านระบบของ VISA ดังภาพด้านล่าง

50 หินยักษ์ที่ก้นทะเลแปซิฟิก จุดเริ่มต้นของ เงิน ที่มองไม่เห็น PIC1

ตัวอย่างการทำงานของ VISA เมื่อคนถือบัตรรูดซื้อสินค้า

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนนึงของระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ในยุคก่อนสมาร์ทโฟน ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับระบบเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะผู้บริโภคแบบเราๆ ที่ไม่ต้องพกเงินสดคราวละมาก ๆ ไม่ต้องเสียเวลาทอนเงินกันให้ยุ่งยาก ซึ่งหากมองย้อนกลับไปมันก็คล้ายตอนที่มนุษย์เราใช้ทองคำเป็นตัวกลาง

แต่พอถึงจุดนึง เมื่อการซื้อขายแต่ละครั้งมีขนาดใหญ่โตขึ้นและระยะทางไกลขึ้น การขนทองคำไปจับจ่ายกันคราวละมากๆ ก็เป็นอะไรที่ยุ่งยากและเสี่ยงโดนปล้นหรือสูญหายระหว่างทาง ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นให้มนุษย์คิดค้นเงินกระดาษขึ้นมาแทนเพื่อความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับบัตรเครดิต ที่เข้ามาแทนเงินกระดาษ

และไม่น่าเชื่อว่าตอนนี้เรากำลังเดินทางต่อไปสู่ยุคที่การพกบัตรพลาสติกใบเดียวกลายเป็นความลำบากแล้ว เพราะต่อไป ทุกอย่างจะอยู่ในสมาร์ทโฟนของพวกเราแล้ว จริงๆพี่ทุยว่าตอนนี้อาจมีบางคนเลิกพกบัตรพลาสติกแล้วด้วยซ้ำ และจับจ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือแทน

เงินหินยักษ์รูปโดนัท เงินที่จับต้องได้แต่ย้ายไม่ได้

พี่ทุยจะพาทุกคนไปเที่ยวเกาะแห่งหนึ่งบนมหาสมุทรแปซิฟิกกัน เกาะนี้ชื่อว่า “แยป (Yap)” อยู่ไกลออกไปทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ความพิเศษของเกาะนี้ คือ ในสมัยโบราณเมื่อหลายร้อยปีก่อน พวกเค้านำหินปูนขนาดยักษ์ ที่พวกเค้าเรียกกันว่า “Rai Stone” มาเกลามันให้เป็นรูปวงกลมและเจาะรูตรงกลาง ใช้มันเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ มาอย่างยาวนาน และถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน บนเกาะแยปมีหินแบบนี้เป็น 1,000 ก้อน และก้อนที่ใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 ฟุต และหนักมากถึง 4 ตัน

50 หินยักษ์ที่ก้นทะเลแปซิฟิก จุดเริ่มต้นของ เงิน ที่มองไม่เห็น PIC1

ตัวอย่าง “Rai Stone”

เนื่องจากบนเกาะแยปไม่มีโลหะมีค่า บรรพชนของชาวแยปจึงพยายามออกไปเสาะแสวงหาของมีค่ามาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน จนได้ข้อสรุปเป็น “หินปูนยักษ์” ที่ต้องออกทะเลไปไกลกว่า 482 กิโลเมตรและขนมันกลับมาทางเรือแพ ซึ่งเป็นหินปูนยักษ์ที่หาไม่ได้บนเกาะและบริเวณใกล้เคียง

พวกเค้ามีวิธีการใช้เงินหินโดนัทยักษ์เหล่านี้แตกต่างไปจากเงินทั่วๆไปที่เราคุ้นเคยกัน เพราะมันเปลี่ยนเจ้าของโดยไม่ต้องเปลี่ยนมือ เพราะไม่มีใครคิดจะย้ายมัน ชาวแยปใช้วิธีที่ง่ายดายกว่า เพียงแค่พวกเค้าประกาศให้ทุกคนบนเกาะรับรู้ว่าเงินนี้กลายเป็นของใคร และให้ทุกคนบนเกาะช่วยกันจดจำว่าส่วนไหนของหินก้อนไหนเป็นของใคร พวกเค้ารู้หมดว่ามันเคยผ่านมือใครมาบ้าง ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นไปได้สำหรับชุมชนขนาดเล็กที่ทุกคนรู้จักกันหมดอย่างทั่วถึง

มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาในหมู่ชาวแยปเรื่องนึงที่ทำให้พี่ทุยประทับใจ ในตอนที่พวกเค้าร่องเรือเอาหินยักษ์กลับมา ระหว่างทางพวกเค้าเจอพายุใหญ่ และจำเป็นต้องทิ้งหินยักษ์ลงทะเลเพื่อเอาตัวรอด ทำให้มีหินยักษ์หลายก้อนต้องจมอยู่ใต้ทะเลแปซิฟิกมาจนถึงปัจจุบัน แต่เรื่องที่พี่ทุยทึ่งก็คือ เมื่อพวกเค้ารอดชีวิตกลับมาถึงเกาะ และเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้คนบนเกาะฟัง ทุกคนจึงตกลงกันว่า

“โอเค หินก้อนนั้นเราก็ยังนับมันนะ เพราะมันยังคงอยู่ที่ก้นทะเล มันจึงยังคงเป็นของคนที่ไปเอามันมา”

เหตุผลหลัก ๆ คือ ทุกคนรับรู้ว่ามันยังคงอยู่ตรงนั้น และไม่ได้หายไปไหน พวกเค้าแค่ต้องช่วยกันจำ ว่าตอนนี้หินก้อนนั้นเป็นของใคร แม้ตอนนั้นพวกเค้าจะมองไม่เห็นมันก็ตาม ระบบของชาวแยป แสดงให้เราเห็นถึงสายใยสัมพันธ์ในชุมชนเล็กๆที่ทุกคนไว้ใจกัน พอจะเล่าเรื่องราวต่างๆแก่กัน

หินยักษ์ที่ก้นทะเลแปซิฟิก จุดเริ่มต้นของ "เงิน" ที่มองไม่เห็น

ภาพถ่าย “Rai Stone” อายุหลายร้อยปี ที่จมอยู่ก้นทะเลแปซิฟิก

สิ่งที่ทำให้ระบบเงินของแยปแตกต่างจากเงินอิเล็กทรอนิกส์ของพวกเราก็คือ มันไม่ต้องมีตัวกลางใด ๆ มาช่วยให้มันดำเนินการไปได้ ไม่ต้องมีธนาคาร ไม่มีรัฐบาล หรือบริษัทอย่าง VISA เพื่อมาช่วยจดจำสิ่งต่างๆ พวกเค้าช่วยกันจำแทน

“ยิ่งมีคนรู้เยอะ ยิ่งปลอดภัย”

แต่เหตุการณ์คล้ายๆกันนี้ ก็เคยเกิดขึ้นในโลกตะวันตกเช่นกัน ในปี 1932 ธนาคารแห่งฝรั่งเศสขอแลกเงินดอลล่าร์ที่ตนถือครองอยู่กลับไปเป็นทองคำ กับทางรัฐบาลสหรัฐฯ แต่การจะขนส่งทองคำจำนวนมหาศาลข้ามไปยุโรปนั้นเป็นเรื่องที่ลำบากและเสี่ยงเกินไป พวกเค้าจึงใช้วิธีการตกลงกัน ประกาศให้ทั่วโลกรับรู้ว่าทองคำจำนวนนี้ทั้งหมด เป็นของธนาคารแห่งฝรั่งเศสแล้วนะ เมื่อทุกประเทศรับทราบ ทองนั่นก็เป็นของฝรั่งเศส โดยไม่ต้องขนย้ายให้ลำบากเลย

เมื่อได้เห็นวิธีการของชาวเกาะแยปกันไปแล้ว หลายคนอาจจะสะกิดใจว่ามันมีความคล้ายกับเทคโนโลยียอดฮิตที่ถูกกล่าวถึงอย่างหนาหูมาตลอดปี 2017 นั่นคือ Blockchain พี่ทุยจะเล่าให้ฟังต่อไปว่ามันสอดคล้องกันอย่างไรกับวิธีการของชาวแยป

Blockchain กับหินยักษ์ของชาวแยป ฉันทามติของเครือข่ายคนใช้

หลายๆคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินคำว่า “Blockchain” แต่ถ้าพี่ทุยพูดคำว่า “Bitcoin” หลายคนน่าจะคุ้นกว่า ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกันในปี 2008 เมื่อโปรแกรมเมอร์ที่ใช้ชื่อว่า “ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto)” คิดค้นเงินดิจิตอลที่สามารถส่งถึงกันได้โดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งตัวกลาง ขึ้นมา

ส่วนสำคัญที่ทำให้มันเป็นไปได้ คือ โครงสร้างแบบ Blockchain ที่เหมือนวิธีการของชาวเกาะแยป โดยการทำงานของมันคือ เมื่อมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น ข้อมูลดังกล่าวจะถูกอัพเดทไปสู่เครือข่ายคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่องทั่วโลกแบบทันทีทันใด และเมื่อทั้งหมดเกิด “ฉันทามติ” ร่วมกันแล้ว มันก็จะถูกบันทึกไว้ เหมือนกับที่ชาวแยปช่วยกันจดจำว่าหินยักษ์แต่ละก้อนเป็นของใคร และเคยเป็นของใครมาก่อน

หินยักษ์ที่ก้นทะเลแปซิฟิก จุดเริ่มต้นของ "เงิน" ที่มองไม่เห็น

ตัวอย่าง เมื่อ ALICE ส่งเงินให้ BOB ทุกคนในเครือข่ายจะช่วยกันเก็บข้อมูลนี้ไว้

แต่สิ่งที่ต่างกันคือ Blockchain สามารถใช้ได้กับโลกทั้งใบ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ละตินอเมริกา จีน แอฟริกา หรือบางกอกน้อย เราทุกคนก็สามารถมีฉันทามติร่วมกันได้ เราสามารถช่วยกันจำได้ว่าใครมีเงินเท่าไหร่ เงินทุกหน่วยจะมีที่มาที่ไปเสมอ และมีความปลอดภัยสูงด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่องทั่วโลกที่ทำงานตรวจสอบและบันทึกธุรกรรมอยู่ตลอดเวลา

หลายคนอาจจะมีคำถามบ้างอยู่ว่า

“ระบบธนาคารแบบปกติ หรือบริษัทตัวกลางอย่าง VISA, Master Card และ Paypal ก็ใช้ได้ดีนะ ทำไมเราต้องสนใจเทคโนโลยีอย่าง Blockchain ด้วยล่ะ ?”

พี่ทุยขออธิบายว่า เพราะนี่เป็นครั้งแรก ที่อำนาจเหนือเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นของพวกเราคนใช้โดยแท้จริง โดยที่เรา ไม่ต้องขออนุญาตใครเพื่อจะโอนเงินของเรา และยังไม่มีใครสามารถมาแช่แข็งหรือปิดบัญชีของเราได้

นอกจากนั้น “ความเร็ว” ในการส่งเงินของพวกเราจะไม่ได้ถูกจำกัดไว้ด้วยความเร็วในการดำเนินการของธนาคารหรือบริษัทใดอีกต่อไป เพราะนึกดูดีๆ เมื่อเงินกลายเป็นอิเล็กทรอนิกส์แล้ว มันควรจะทำให้เราสามารถส่งเงินข้ามโลกถึงกันได้อย่างรวดเร็ว แต่ความเป็นจริงมันกลับต้องใช้เวลานานหลายวัน และมีค่าธรรมเนียมที่แพงอีกต่างหาก

Blockchain คือการรวมกันของเทคโนโลยีกับวิธีการคิดแบบชาวแยป ที่ทำให้เครือข่ายคนใช้ทั่วโลก กลายเป็นชุมชนเดียวกัน ที่ไว้ใจกันได้ โดยไม่ต้องรู้จักกัน

สรุป

พี่ทุยสรุปอีกนิดว่า “สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน” นั้นมันไม่ได้จำกัดอยู่ที่ว่ามันจะต้องเป็น ทองคำ, เงินกระดาษ, หินยักษ์ของชาวแยป, ตัวเลขในคอมพิวเตอร์ หรืออะไรที่เป็นวัตถุอื่นๆ แต่ทุกอย่างสามารถเป็นสื่อกลางได้ เมื่อพวกเราเชื่อเหมือนกันว่าสิ่งนั้นมีค่า และใช้ได้ดีในการแลกเปลี่ยน

เงิน คือ เรื่องที่มนุษย์สมมุติขึ้นมา เพื่อความสะดวกสบายในการแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆซึ่งกันและกันเท่านั้น ซึ่งเงินโดยตัวมันเองไม่มีมูลค่าอะไรเลยหากปราศจากมนุษย์ เพราะมูลค่าที่แท้จริงนั้น มันไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลเลย แต่มันอยู่ในตัวพวกเราทุกคน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย