3 ขั้นตอนการตรวจสอบผลการดำเนินงานของ "กองทุน"

3 ขั้นตอนการตรวจสอบผลการดำเนินงานของ “กองทุน”

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ถึงแม้ “กองทุน” จะมีมืออาชีพคอยดูแลให้ แต่ยังไงก็ไม่มีใครดูแลเงินตัวเราได้ดีกว่าตัวเราเอง การตรวจสอบฝีมือของกองทุนเลยเป็นสิ่งจำเป็น
  • การตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นวิธีนึงที่ช่วยลดโอกาสขาดทุนในการลงทุนในกองทุนได้ ถึงแม้การลงทุนในกองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ เชี่ยวชาญกว่าเราคอยดูแลให้อยู่แล้วก็ตาม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

มีหลายคนที่ลงทุนซื้อ “กองทุน” ไปแล้ว ก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น ไม่ได้กลับมาตรวจสอบดูแลผลประกอบการของกองทุนเลย จะมาดูอีกทีก็ตอนที่กำลังจะขายนั่นแหละ ถ้าเลือกกองมาดีแล้วขายถูกจังหวะก็กำไรไป แต่ถ้าโชคร้ายขายแล้วขาดทุน มันก็น่าเจ็บใจนะ ลงทุนมาตั้งนานขาดทุนซะงั้น

การตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นวิธีนึงที่ช่วยลดโอกาสขาดทุนในการลงทุนในกองทุนได้ ถึงแม้การลงทุนในกองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ เชี่ยวชาญกว่าเราคอยดูแลให้อยู่แล้ว เราก็ยังต้องหมั่นคอยติดตามข้อมูลการลงทุนของเราอยู่ดี เพราะยังไงขึ้นชื่อว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงเป็นของคู่กันอยู่แล้ว

ทีนี้พี่ทุยก็เลยมีเทคนิคเบื้องต้นในการตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในทุกๆไตรมาส ที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ง่ายๆแค่ 3 ขั้นตอน ได้แก่

1. เช็คเป้าหมายการลงทุนของตัวเองก่อน

ก่อนเลือกซื้อกองทุนรวมทุกครั้งพี่ทุยมักจะเน้นย้ำให้เลือกกองทุนรวมที่เหมาะกับเป้าหมายของตัวเองก่อนเสมอ หลายๆครั้งที่พอเรามาเปิดดูพอร์ตการลงทุนของเราเอง เชื่อว่าต้องมีความรู้สึกว่าทำไมผลตอบแทนได้น้อยจัง เหตุก็เพราะว่าบางครั้งเป้าหมายการลงทุนที่เป็นเป้าหมายระยะสั้นมากๆ เราจะลงทุนเสี่ยงมากก็ไม่ได้ ดังนั้นก็ไม่แปลกที่ผลตอบแทนจะได้ไม่สูงมาก

แต่ถ้าเป้าหมายการลงทุนของเราเป็นแบบลงทุนได้ในระยะยาว แน่นอนว่าก็จะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่สูงหน่อย ก็แปลว่าในระยะสั้นถ้าตลาดหุ้นมีการปรับตัวลง แน่นอนว่าเมื่อเรามาดูผลตอบแทนของกองทุนรวมการที่ติดลบก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ที่พี่ทุยให้ตรวจสอบเป้าหมายการลงทุนของตัวเองก็เพราะว่าหลายๆครั้งพี่ทุยเจออารมณ์ประมาณว่ามีเป้าหมายการเงินระยะสั้นแต่ดันไปลงหุ้นหมดเลย หรือมีเป้าหมายการเงินระยะยาวๆ แต่ก็ลงแค่ตราสารหนี้หรือตลาดเงินอย่างเดียว แบบนี้จะทำให้เงินเราเสี่ยงมากและเสียโอกาสไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นอย่าลืมตรวจสอบเป้าหมายการลงทุนของตัวเองทุกครั้งก่อนลงทุน

2. เช็คผลตอบแทนของ “กองทุน”

วิธีที่ง่ายที่สุดในการดูผลตอบแทน คือ ดูจาก Fund Fact Sheet หรือหนังสือชี้ชวนกองทุนก็ได้ เลือกที่อัพเดทล่าสุดสามารถเสิร์ชหาใน google ได้เลย หลังจากนั้นก็เทียบผลตอบแทนของกองทุนเทียบกับผลตอบแทน Benchmark ซึ่งก็มีบอกใน Fund Fact Sheet เหมือนกัน ดูว่าผลตอบแทนของกองทุนเรายังชนะ Benchmark อยู่มั้ย ถ้าแพ้ล่ะก็ พี่ทุยว่าพิจารณาเตรียมหากองทุนใหม่ไว้ได้เลย

แต่ถ้ายังชนะอยู่ก็ลองไปเทียบกับกองทุนอื่นๆที่อยู่ในประเภทเดียวกันว่ากองทุนที่เราถือชนะมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับกองอื่นๆ ถ้ามีกองอื่นที่ดูแล้วให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสม่ำเสมอกว่า เราก็อาจเปลี่ยนไปกองทุนรวมนั้นก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่าลืมคำนวณเรื่องค่าธรรมเนียมกันด้วย

3. เช็คนโยบายการลงทุน

ในบางครั้งกองทุนที่เราถืออยู่ อาจมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการลงทุน เช่น จากเดิมเคยเน้นลงทุนหุ้นตัวใหญ่ใน SET50 ก็อาจเปลี่ยนเป็นลงทุนในหุ้นตัวเล็กในตลาด Mai แทนก็ได้ หรือ อาจเปลี่ยนจากลงทุนในพันธบัตรไปลงทุนในหุ้นกู้เอกชนมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนมีการปรับเปลี่ยนตาม และอาจจะไม่ตรงกับเป้าหมายในการลงทุนของเราในตอนแรกก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็ควรที่จะเปลี่ยนกองทุนใหม่ให้ตรงกับเป้าหมายของเรา

พี่ทุยขอย้ำว่านี่เป็นวิธีในการตรวจสอบผลการดำเนินงานกองทุนแบบคร่าวๆ แค่เบื้องต้นเท่านั้นนะ แต่ในความเป็นจริงเรายังดูในรายละเอียดที่ลึกลงไปอีกมากกว่านี้ แต่ยังไง 3 ขั้นตอนที่พี่ทุยแนะนำไป ก็พอจะสามารถบอกเราได้แล้วล่ะว่าเราควรที่จะขายกองทุนที่เราถืออยู่หรือเปลี่ยนไปซื้อกองอื่นได้แล้วหรือยัง 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย