สาหร่าย TKN ยังอร่อยอยู่มั้ย ?

สาหร่าย TKN ยังอร่อยอยู่มั้ย ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • หุ้น​ TKN ของ บริษัท​ เถ้าแก่น้อย​ ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง​ จำกัด (มหาชน)​ เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์​ที่ราคา​ 4 บาทต่อหุ้น​และขึ้นไปทำราคาสูงสุดเกือบที่ 30​ บาทภายในระยะเวลาแค่​ 1 ปี
  • TKN​ มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ​ 61% และในประเทศ​ 39% โดยรายได้จากการขายสินค้าในต่างประเทศทั้งหมด​ มาจากจีนมากถึง​ 40%
  • กำไรของ​บริษัท​สะดุดลงเพราะจำนวนนักท่องเที่ยว​จีนชะลอตัวและมีปัญหาเรื่องสินค้าลอกเลียนแบบ
  • ต้นทุนการผลิตลดลง​ เพราะสาหร่ายมีราคาถูกลง​ 15% และบริษัท​ได้ทำการสต๊อก​สาหร่ายไว้ปริมาณมาก​ จนสามารถใช้ได้ถึงปี​ 2563 ซึ่งคงจะส่งผลถึงกำไรในไตรมาสต่อๆ​ไป

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ถ้าพูดถึงหุ้นเติบโต​ P/E แรง​ แต่ราคาก็ยังพุ่งฉุดไม่อยู่​ พี่ทุยขอมอบตำแหน่งนี้ให้ “TKN” อีกราย​ เพราะหลังจาก​ที่เข้าจดทะเบียน​ในตลาดหลักทรัพย์​เมื่อเดือนธันวาคม​ ปี2558​ ที่ราคา​ 4 บาทต่อหุ้น​ เค้าก็บินขึ้นไปชนเพดานที่ราคา​ 29.50 คิดเป็นผล​ตอบแทน​กว่า​ 7​ เด้งในเวลาเพียงแค่ปีเดียว! ก่อนที่จะถูกยิงร่วงเหมือนนกปีกหักจนราคาลงมาแตะจุดต่ำสุดในรอบ​ 52​ สัปดาห์​ที่ราคา​ 6.70 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ช่วงที่ผ่านมา​ พี่ทุยเห็นข่าวการเปิดตัวทำนั่นทำนี่ของเถ้าแก่น้อยบ่อยๆ​ ทั้งการเปิดร้านขายข้าวแกงกะหรี่​ แบรนด์​ที่ซื้อมาจากญี่ปุ่น​ในชื่อ​ “Hinoya Curry” และเปิดตัวสาขาแรกที่ห้าง​ The Market แว่วๆ​มาว่ากระแสตอบรับดีเลยแหละ​ คนเข้าร้านแน่นเอี๊ยดจนบางทีถึงกับต้องรอคิวทีเดียว​ นอกจากนี้​ TKN​ ยังพยายามทำ​ Idol Marketing (การตลาดโดยใช้ศิลปิน) โดยการดึง​ F4 มาเป็นพรีเซนเตอร์​ให้กับแบรนด์​ที่ส่งขายที่จีนโดยเฉพาะ​ ก่อนหน้านี้ ​TKN ได้เปิดตัว​ ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์​ ที่เปิดตามห้างต่างๆ​ และสร้างภาพลักษณ์​ให้เป็น​ ร้านขายของฝาก​ที่นักท่องเที่ยว​อยากจะแวะซื้อของติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้าน​ และเมื่อไม่นานมานี้เอง​ TKN​ ก็ได้ขยายธุรกิจ​ออกนอกกรอบการขายสาหร่าย​ โดยเปิดตัวแบรนด์​เครื่องดื่ม​เวย์โปรตีน​ ซึ่งมีชื่อว่า​ “MY WHEY”

พูดง่ายๆ​ ว่า ​TKN ได้พยายามกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาสินค้าอย่างเดียวในพอร์ต​ของตัวเองได้น่าชื่นชมไม่น้อย​ แม้ว่าเค้าจะขึ้นแท่นเป็นยักษ์​ใหญ่ในธุรกิจ​สาหร่ายแล้ว​ เพราะครองส่วนแบ่งตลาด​ไปถึง​ 69%

แต่สิ่งหนึ่งที่พี่ทุยตั้งคำถามขึ้นมาในใจทันทีหลังจากได้อ่านรายงานประจำปีของ​ TKN​ คือ​ เค้าจะมีวิธีกระจายความเสี่ยงในด้านอื่นๆ​ ด้วยหรือเปล่า ? เอาเป็นว่าก่อนจะมาพูดกันถึงเรื่องนี้​ พี่ทุยขอเอาตัวเลขทางการเงินมาให้ดูก่อนนะ

ในช่วง​ 3 ปีหลังนี้​ รายได้รวมของ​ TKN​ เพิ่มขึ้นตลอด​ แต่เมื่อมาดูที่กำไรสุทธิกลับลดลง​สวนทางกันเลย​ เกิดอะไรขึ้นกับ TKN ไปดูกันเลยดีกว่า

สาหร่าย TKN ยังอร่อยอยู่มั้ย ?

ทางบริษัท​บอกว่าสาเหตุที่กำไรของปี​ 2561​ ลดลงจากปี​ 2560 เป็นเพราะ

  1. จำนวนนักท่องเที่ยว​จีนชะลอตัวลง​
  2. ภาวะการแข่งขัน​ทางการตลาดที่ดุเดือด
  3. ปัญหาเรื่องผู้แทนจำหน่าย ​(Distributor) รายหนึ่งในจีน​ ที่ทำสินค้าลอกเลียนสาหร่ายเถ้าแก่​น้อย​ ภายใต้ชื่อ​ “Xiao Lao Ban” เหมือนกัน​ ทำให้กำไรลดลงต่ำกว่าคาดพอสมควรเลย​ ทาง​ TKN​ ได้จัดการกับปัญหาเรื่องนี้​ รวมถึงยื่นฟ้องแล้วด้วย​ โดยการเปลี่ยนผู้แทนจำหน่ายรายใหม่​ ซึ่งประเด็นในข้อ 3 นี้​ นอกจากจะส่งผลกระทบถึงกำไรในตอนที่มีการปล่อยสาหร่าย​ก๊อปปี้ออกมาขายแล้ว​ ยังส่งผลกระทบถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจาก​ปี​ 2560 ประมาณ​2% เพราะการเปลี่ยนตัวผู้แทนจำหน่ายย่อมมีค่าใช้จ่ายพิเศษ​ เช่น​ ค่าทำลายสินค้าและบรรจุภัณฑ์​ แล้วพอเปลี่ยนไปใช้บริการผู้แทนจำหน่ายคนใหม่​ ก็ยังต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าปรับเปลี่ยน​บรรจุภัณฑ์​ (Re-Packaging) ​ก่อนจะส่งไปขายใหม่อีกครั้ง​ พอมีต้นทุนส่วนนี้เพิ่มถึงรายได้จะดีขึ้น​ แต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า​ กำไรก็เลยลดลง
  4. แต่ก็จะโทษว่าที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นรัวๆ​ เป็นผลมาจากเรื่องผู้แทนจำหน่ายรายเก่าในจีนก๊อปปี้สินค้าอย่างเดียวก็ไม่ได้​ เพราะเค้ายังใช้ต้นทุนเพิ่มจากการทำการตลาดในต่างประเทศ​ เช่น​ จีน​ อินโดนีเซีย และประเทศ​กลุ่ม​ CLMV อย่างการจ้าง F4 มาเป็นพรีเซนเตอร์​ในจีนโดยตรงใช้งบประมาณ​ถึง​ 40​ ล้านบาทเลยนะจ๊ะ
  5. มีค่าใช้จ่ายครั้งเดียว (One-time Cost) เกิดขึ้น​ เช่น​ ค่าจัดการขยะ​และค่าเปลี่ยนผู้แทนจำหน่าย​ที่ได้เล่าไปแล้ว

สิ่งที่น่าจับตามอง คือ​ สัดส่วนรายได้จากภายในประเทศ​และต่างประเทศ​ของ TKN​

รายได้​ในปี​ 2561​ ที่​ 5,662.7 ล้านบาท​นี้คิดเป็นสัดส่วนรายได้จากในประเทศ​ 39% และเป็นรายได้ที่เกิดจากต่างประเทศถึง​ 61% ซึ่งใน​ 61% นี้​ คิดเป็นรายได้จากจีนถึง​ 65% ถ้ามองภาพรวมของรายได้ 100% แล้ว​ TKN​ มีรายได้จากจีนคิดเป็น​ 39% จากรายได้รวมทั้งหมด​เลย เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรกระทบต่อความนิยมในสาหร่ายของคนจีน​หรือมีปัจจัยอื่นๆ​ที่ทำให้ขายสาหร่ายให้จีนได้น้อยลง​ ทั้งผู้บริหารและผู้ถือหุ้นคงต้องกุมขมับ

สาหร่าย TKN ยังอร่อยอยู่มั้ย ?

สาหร่าย TKN ยังอร่อยอยู่มั้ย ?

จากรูปจะเห็นได้ว่า รายได้ไตรมาสที่​ 4 จากการขายสาหร่ายในจีนของปีที่แล้วมีการสะดุด​ กำไรโดยรวมก็เลยสะดุดไปด้วยเพราะเค้าพึ่งพารายได้จากส่วนนี้เยอะ

มาดูด้านที่ดีของ TKN กันบ้าง​ ในช่วง​ 3 ปีที่ผ่านมานี้​ กำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้น​เล็กน้อย​ (แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้จากการขายรวมจะลดลงเล็กน้อย​ เพราะปัญหาต่างๆ​ที่เล่าไป)​ สาเหตุมาจากการที่ต้นทุนของสาหร่ายลดลง​ ประกอบกับค่าเงินบาท​ที่แข็ง​ ทำให้บริษัทซื้อสาหร่ายได้ในราคาที่ถูกลง​ถึง​ 15% เลยส่งผลถึงกำไรขั้นต้น​ยังไงล่ะ

และด้วยราคาของสาหร่ายที่ถูกลงมาก​ขนาดนี้​ ทางบริษัทจึงได้สต๊อกเก็บไว้ให้ใช้ได้จนถึงปี​ 2563 เลยแหละ และบันทึกรายการไว้เป็นสินค้าคงเหลือ​ โดยคิดเป็นสัดส่วน​ถึง​ 37.7% ของสินทรัพย์​รวมทั้งหมด​ เพิ่มขึ้นจากปี​ 2560​ ที่มีสินค้าคงเหลือเพียง​ 729.7 ล้านบาทเป็น​ 1,427.11 ล้านบาท​ คิดเป็นเปอร์เซ็น​คือ​ เพิ่มขึ้นถึง​ 95.6% ซึ่งส่วนของต้นทุนที่ลดลง​ คงจะสะท้อนออกมาในงบการเงินไตรมาสต่อๆ​ไป

สาหร่าย TKN ยังอร่อยอยู่มั้ย ?

อีกสิ่งหนึ่งที่พี่ทุยเห็นตลอดในสินค้าของ TKN​ คือการที่เค้าพยายามปรับรูปลักษณ์​ให้เข้าถึงคนในประเทศปลายทางได้ง่ายขึ้น​ เช่น​ การจ้างพรีเซนเตอร์​คนจีนเพื่อโปรโมทสินค้าในจีน​ หรือการมีรูปแบบซองสินค้าที่ต่างออกไปในต่างประเทศ​ เช่น​ จีน​ เมื่อไม่นานมานี้​ TKN​ ก็ได้บุกตลาดอเมริกาและขายสาหร่ายแบ่งออกเป็น​ 2 แบรนด์​คือ “Nora” เพื่อเจาะตลาดกลุ่มคนอเมริกัน​และแบรนด์​เถ้าแก่น้อยดั้งเดิม​ สำหรับชาวเอเชียที่อยู่ที่นั่น​

คงต้องดูกันต่อไปว่า​ TKN​ จะกลับมาเป็น​ “สาหร่ายทองคำ” ได้หรือเปล่า​ พี่ทุยเห็นทางบริษัท​มีโครงการลงทุนขยายสาขาเพิ่มหลายอย่าง​ เช่น​ เถ้าแก่น้อยแลนด์​และร้านข้าวแกงกะหรี่แบรนด์​ Hinoya ที่เพิ่มขึ้นแน่ๆ​ คือต้นทุน​ แต่ที่ยังไม่รู้และต้องลุ้นกันต่อไป​ คือ​ การหว่านเมล็ดในครั้งนี้​ จะออกดอกออกผลมาดีมั้ย​ อร่อยหรือเปล่า​ เอาเป็นว่าพี่ทุยรอชมและรอชิมนะจ๊ะ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply