วิธีสร้างประโยชน์จากการเป็นหนี้

วิธีสร้างประโยชน์จากการเป็นหนี้

3 min read  

ฉบับย่อ

  • หนี้ดี คือ หนี้ที่สามารถสร้างรายได้ให้เราได้ในอนาคต หนี้เลว คือ หนี้ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้เราได้ในอนาคต
  • การสร้างหนี้ถึงแม้จะมีรายได้ที่น้อยกว่าเงินชำระหนี้ในแต่ละงวด แต่ถ้ามองถึงระยะยาวแล้วสามารถสร้างรายได้ให้เราได้ ก็ถือเป็นหนี้ที่ดีได้เหมือนกัน
  • หนี้เลวเป็นสิ่งที่ไม่ควรสร้าง แต่ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ ควรเลือกเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมที่สุด

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

“เป็นหนี้” เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็เป็นกันทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะมีเงินเดือนหลักหมื่น หรือมีเงินหมื่นล้าน ทุกคนก็มีหนี้กันได้หมด แต่สิ่งที่แตกต่างก็คงจะเป็น เรื่องของการจัดการหนี้มากกว่า

หนี้ไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป บริหารให้เป็นกลับมีประโยชน์ซะอีก

หนี้ คือ การขอยืมเงินจากคนอื่นมาแล้วต้องคืนในอนาคต ต้นทุนของการกู้ยืมในครั้งนี้ก็คือดอกเบี้ย ยิ่งยืมนานก็ต้องยิ่งเสียมากขึ้น โดยปกติแล้วการยืมเงินเพื่อไปทำอะไรต่าง ๆ ก็มีผลกับดอกเบี้ยเหมือนกัน เพราะผู้ที่ให้ยืมก็ต้องคิดเหมือนกัน ว่าเงินที่จะยืมไปนั้นเอาไปทำอะไร มีโอกาสได้คืนหรือเปล่า

แต่ถ้ามองในมุมของคนยืมแล้ว การจะต้องเสียดอกเบี้ยไปปีละหลาย ๆ บาท เพื่อเอาไปทำอะไรก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ในทางการเงิน เราจะต้องมองว่าหนี้นั้นมี 2 ประเภท นั่นคือ “หนี้ดี” และ “หนี้เลว”

“หนี้ดี” คือ หนี้ที่สามารถสร้างรายได้ให้เราได้ในอนาคต ส่วน “หนี้เลว” ก็ตรงข้ามกัน นั่นคือ หนี้ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้เราได้ในอนาคต

การแบ่งหนี้ออกเป็นสองแบบนี้ ต้องใช้ผลของการเพิ่มรายได้เป็นหลัก เพื่อให้สามารถคำนวณการชำระหนี้ได้อย่างถูกต้อง ถ้าสมมติว่าเราซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่มา แล้วคิดว่าคอมพิวเตอร์สามารถทำงานหาเงินได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป รายได้ที่เข้ามา คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่นี้ไม่ได้มีส่วนร่วมกับรายได้เลย ดังนั้น หนี้สินจากการซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่นี้ ก็ไม่ถือเป็นหนี้ดีนะ

นอกจากหนี้ที่ดีจะสามารถเพิ่มรายได้แล้ว หนี้ที่จะทำให้เราลดรายจ่ายได้ก็ถือเป็นหนี้ดีเหมือนกัน อย่างหนี้บ้าน หรือคอนโด ที่จะประหยัดเงินค่าเช่าที่พักในแต่ละเดือนลงได้ หรือหนี้รถ ที่จะสามารถประหยัดค่าเดินทางลงได้ แต่ก็ต้องคิดให้ดีๆ ก่อนนะ ว่ารถยนต์จะประหยัดกว่าได้จริงหรือเปล่า

วิธีการคำนวณในการสร้างหนี้ดี

สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก่อนจะเริ่มสร้างหนี้ก็คือ จำนวนเงิน อัตราดอกเบี้ย รายได้จากการสร้างหนี้ รวมถึงความเสี่ยง เพื่อเราจะสามารถหาวันเวลาที่คาดว่าจะชำระหนี้หมดได้ ไปดูตัวอย่างการสร้างหนี้ดีของพี่ทุยกันดีกว่า

สมมติว่า พี่ทุยลงทุนสร้างร้านกาแฟ สร้างหนี้ทั้งหมด 1,000,000 บาท ดอกเบี้ย 10% ต่อปี (แบบไม่ลดต้นลดดอก) และสัญญากับทางธนาคารไว้ว่า จะชำระหนี้ให้หมดภายใน 5 ปี คาดว่าจะสร้างกำไรต่อเดือน 20,000 บาท ความเสี่ยงที่จะทำรายได้ไม่ถึงเป้าประมาณ 10%

เริ่มจากคำนวณฝั่งรายจ่ายก่อน

พี่ทุยจะต้องชำระหนี้ปีละ 200,000 บาท บวกดอกเบี้ยอีก 100,000 บาท ต่อปี รวมแล้วก็ 300,000 บาทต่อปี หรือ ตกเดือนละ 25,000 บาท 

ต่อมาก็คำนวณฝั่งรายรับ

พี่ทุยจะมีรายได้ต่อเดือนเท่ากับ 20,000 บาท และเมื่อขาย 10 เดือน จะมี 1 เดือนที่ไม่มีรายได้เลย เนื่องจากคิดความเสี่ยงไว้ที่ 10% ดังนั้นพี่ทุยจะมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเท่ากับ 18,000 บาท

ดูเหมือนว่า หนี้ที่พี่ทุยกำลังจะสร้างขึ้นดูเหมือนจะไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย เพราะทุกๆ เดือน พี่ทุยจะต้องมีรายได้ติดลบประมาณ 7,000 บาท แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ระยะสั้น เพราะเมื่อหลังจาก 5 ปี ที่พี่ทุยสามารถชำระหนี้ได้หมดแล้ว ฝั่งรายจ่ายก็จะเป็น 0 แต่ฝั่งของรายรับ พี่ทุยก็จะมีรายได้เดือนละ 18,000 บาท

เงิน 7,000 บาทที่พี่ทุยต้องจ่ายเพิ่มทุกเดือนเป็นเวลา 5 ปี ทั้งหมดก็จะเท่ากับ 420,000 บาท ชดเชยด้วยรายรับหลังชำระหนี้จนหมดเดือนละ 18,000 บาททั้งหมด 23 เดือน หรือประมาณ 2 ปี ก็จะคืนทุนแล้ว ที่เหลือมันก็คือกำไรล้วนๆ พี่ทุยมีเงินใช้เดือนละ 18,000 ทุกเดือนๆ แบบนี้มันก็คือสิ่งที่เรียกว่าหนี้ดีชัดๆ เลย

ดังนั้น ถ้าพี่ทุยมีรายได้จากที่อื่นอย่างน้อยเดือนละ 7,000 บาท เพื่อมาชำระหนี้ส่วนต่างจากการทำร้านกาแฟได้ หนี้ตรงส่วนนี้ก็คือหนี้ที่ดีก้อนหนึ่ง ที่จะสร้างรายได้ให้เราในทุกๆ เดือนแบบสบายๆ

แต่ถ้าพี่ทุยไม่มีรายได้จากส่วนอื่นเลย ก็ใช่ว่าจะเปิดร้านกาแฟไม่ได้สักหน่อย พี่ทุยอาจจะต้องลองคุยกับทางธนาคารเพื่อเพิ่มระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้ให้นานขึ้น เป็นสัก 10 ปี ก็จะเหลือปีละ 100,000 บาท บวกดอกเบี้ย 100,000 บาท รวมเป็น 200,000 บาท หรือ เดือนละประมาณ 16,666 บาท

ถึงแม้จะมีดอกเบี้ยที่สูงมาก (เท่ากับเงินต้นเชียวล่ะ) และใช้ระยะเวลานานกว่าจะหมดหนี้ แต่ก็สามารถทำให้พี่ทุยได้เปิดร้านกาแฟได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากส่วนอื่นเลย แบบนี้ก็เรียกว่าหนี้ที่ดีได้เหมือนกันนะ

สิ่งที่เรียกว่าการลงทุนจำเป็นที่จะต้องมีก็คือ เงินทุน บวกกับความสามารถในการเลือกหน่วยลงทุน แต่ดูร้านกาแฟของพี่ทุยสิ พี่ทุยไม่เห็นต้องมีเงินทุนสักบาทก็สามารถสร้างธุรกิจ เป็นการลงทุนของตัวเองได้ เหมือนกัน แต่ก็ต้องระวังด้วยว่าสิ่งที่คาดการณ์อาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ ถ้าความเสี่ยงที่คำนวณไว้สูงกว่าที่คาดก็อาจจะเกิดได้เหมือนกัน ไม่เช่นกันหนี้ที่เราคิดว่าจะเป็นหนี้ดี อาจจะเปลี่ยนร่างเป็นหนี้เลวได้เหมือนกัน

วิธีการคำนวณในการสร้างหนี้เลว

จริง ๆ แล้ววิธีคำนวณหนี้เลวมันก็มีแหละ แต่พี่ทุยคิดว่าหนี้เลวเป็นสิ่งที่ไม่ควรสร้างขึ้น สิ่งที่เราต้องการเพื่อความสุขส่วนตัว ไม่ควรสร้างหนี้ แต่ควรมาจากเงินเก็บของเราอยู่แล้วจะดีกว่านะ เพราะผลทางอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมนั้นจะสูงมากกว่าการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจอีก ยกเว้นแต่ว่าถ้ามีโปรโมชั่นผ่อนโดยไม่เสียดอกเบี้ย อันนี้พี่ทุยก็ว่าไม่เสียหายอะไรนะ ถ้าเราจะสามารถชำระหนี้ได้ตรงตามเวลาเสมอ

แต่บางทีหนี้เลวมันก็มาพร้อมกับความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การรักษาพยาบาล หรือ อุบัติเหตุฉุกเฉิน ที่ไม่คาดฝัน ถ้านอกเหนือจากการทำประกันและเงินสำรองฉุกเฉินแล้ว ยังต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม การสร้างนี้ในส่วนนี้ก็ควรจะเลือกให้ดี โดยดูจากเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยที่ถูกที่สุดเป็นหลัก

เห็นมั้ยว่าการ “เป็นหนี้” ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเสมอไปหรอกนะ เพราะหนี้มีหลายรูปแบบ ทั้งหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ และหนี้ที่ก่อให้เกิดความสุข ไม่ว่าจะเป็นหนี้แบบไหน ต้องรู้จักควบคุมและวางแผนถึงระยะยาว เพราะหนี้ก็คือการใช้จ่ายในเงินส่วนของอนาคต ต้องคิดให้ดีก่อนใช้ การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ แต่การมีหนี้ก็สามารถเป็นลาภอันประเสริฐได้เช่นกัน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply