เมื่อไหร่จึงควรตัดสินใจ "ลาออก" ?

เมื่อไหร่จึงควรตัดสินใจ “ลาออก” ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ลาออกหรือเปลี่ยนงานของมนุษย์เงินเดือนถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก ๆ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จึงควรตัดสินใจลาออกอย่างมีเหตุผลไม่ใช่ด้วยอารมณ์
  • งานลักษณะเดิม ๆ ที่ทำงานมาเป็นเวลานานและไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่อยากลาออก
  • แม้ว่าเงินเดือนจะไม่ใช่ทุกสิ่ง แต่งานที่ให้ผลตอบแทนที่น้อยเกินไป โดยเฉพาะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของคนในสายงานเดียวกันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจลาออก
  • การแข่งขันในตลาดแรงงานค่อนข้างสูง ดังนั้นก่อนจะยื่นใบลาออกแนะนำว่าให้ได้งานใหม่ซะก่อน จะได้มีช่วงว่างงานไม่นานจนเกินไป

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

มนุษย์เงินเดือนกับการ “ลาออก” เป็นสิ่งที่ยังไงวันนึงก็ต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว บางคนเปลี่ยนงานหรือลาออกจากงานเดิมทุก 3-5 ปี บางคนก็ทำงานที่เดิมเป็น 10 ปีขึ้นไป ในขณะที่มนุษย์เงินเดือนบางคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ๆ เปลี่ยนงานหรือลาออกกันบ่อย เช่น ปีละ 1-2 ครั้ง แต่อย่าลืมว่าการลาออกนั้นเป็นสิ่งสำคัญและควรคิดพิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจ หรือยื่นใบลาออก เพราะตัดสินใจมีผลต่อภาพลักษณ์และการทำงานในอนาคตของเราด้วยเหมือนกันนะ

การลาออก หรือเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติมากของมนุษย์เงินเดือนทุกคน อาจจะอยากขยับขยายหรือเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ด้วยเหตุผลแตกต่างกันออกไป เช่น บางคนเพื่อนร่วมงานไม่โอเค บางคนเจองานหนักเกินไปไม่มีเวลาชีวิต หรือบางคนก็เปลี่ยนเพราะต้องการความก้าวหน้า หรือเงินเดือนที่สูงขึ้น “ควรลาออกดีมั้ย?” บางคนมีความลังเลสงสัยว่าตัวเองว่าแล้วเมื่อไหร่ถึงจะรู้ว่าถึงเวลาที่ตัวเองควรตัดสินใจลาออกได้แล้วหรือยังอย่างมีเหตุผลไม่ได้ใช้อารมณ์ที่ช่วยให้ชีวิตการทำงานใหม่ดีขึ้นและก้าวหน้ามากขึ้นด้วย แล้วมีเหตุผลอะไรบ้างที่ควรเป็นสิ่งที่ช่วยตัดสินใจ “ลาออก”

1. ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้น 

โดยทั่วไปพี่ทุยว่าคนเรามีความชอบเอาชนะ และความท้าทายในชีวิตเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่มีสุดท้ายโอกาสที่จะเกิดสภาวะหมดไฟในการทำงาน ส่วนตัวพี่ทุยคิดว่าอันตรายมากถ้าเกิดแบบนี้กับตัวเรา ลองย้อนคิดไปว่าเมื่อเริ่มต้นเป็นมนุษย์เงินเดือนใหม่ ๆ ก็มักจะตื่นเต้นและท้าทายที่จะได้เริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ หลังจากเรียนจบ

แต่เมื่อทำงานไปสักพักนึงงานที่เคยทำแล้วสนุกและท้าทายเมื่อ 2-3 ปีก่อนสนุกน้อยลงและเริ่มจะไม่ได้เรียนรู้งานอะไรใหม่ ๆ เพิ่มเติมเลย จนทำให้ไม่ได้พัฒนาทักษะและความสามารถ ได้แต่ทำงานวนลูปแบบช่วงแรก ๆ จนถึงปัจจุบันมันจึงน่าเบื่อหน่ายเหมือนกับว่ามาทำงานและนั่งรอรับเงินเดือนไปวัน ๆ พี่ทุยก็อยากให้ลองคิดถึงการเปลี่ยนงานใหม่ หรือเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ที่ทำให้เราเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากขึ้น

แต่พี่ทุยไม่อยากให้รีบตัดสินใจทันทีเลยนะ อยากให้ลองพิจารณาให้ดีซะก่อน ลองเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของตัวงานว่าไม่ได้เกิดจากตัวเราเองที่ขาดความกระตือรือร้น แต่เป็นเนื้องานไม่ได้ช่วยพัฒนาศักยภาพหรือความสามารถอะไรแล้วค่อยตัดสินใจลาออกอาจจะดีกว่านะ

อีกอย่างนึงพี่ทุยคิดว่าพนักงาน หรือลูกจ้างที่มีทักษะการทำงานที่ดีและมีความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ  มักจะเป็นที่มองหาและต้องการของนายจ้างนะ ดังนั้นการลาออกจากงานที่ทำงานเดิมเพื่อไปเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่และเก็บประสบการณ์ใหม่ ๆ จากสภาพแวดล้อมอื่นที่ช่วยให้ตัวเองพัฒนาทักษะและความสามารถให้ดียิ่งขึ้น พี่ทุยว่ามันก็เป็นผลดีต่อชีวิตการทำงานในอนาคตด้วย

2. รายได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 

ต้องยอมรับว่า หลายคนทำงานเพราะต้องการค่าตอบแทนเป็นหลัก ข้าวต้องกิน เที่ยวก็ต้องเที่ยว ภาระก็มากมาย (ฮ่า) แต่บางคนอาจจะเลือกงานที่มีค่าตอบแทนไม่มาก แต่โอกาสก้าวหน้าสูงในอนาคตเมื่อเราเลือกซื้อหุ้นตัวเล็กหวังว่าจะเติบโตเร็วแบนั้นแหละ บางคนก็ยอมรับเงินเดือนน้อยแต่สามารถนำงานที่ทำไปต่อยอดกับงานประเภทอื่น ๆ ได้ก็มี แต่บางทีมันก็ไม่เป็นแบบที่เราหวังทำมาหลายปีเงินเดือนก็ขึ้นแค่ไม่กี่ร้อยก็มีเหมือนกัน (ฮ่า)

และถึงแม้ว่าบางคนอาจจะชอบงานที่ตัวเองทำอยู่มากแค่ไหน หรือจะรักและเคารพหัวหน้าที่แสนจะใจดีจนไม่อยากจะย้ายไปไหน ด้วยอาจจะความสบายใจในการทำงานต่าง ๆ แต่ถ้าเงินเดือนหรือผลตอบแทนนั้นน้อยจนเกินไปก็อดคิดเรื่องลาออกไม่ได้เหมือนกันจริงมั้ยล่ะ?

อันนี้พี่ทุยแนะนำว่าให้ลองพิจารณาจากเพื่อนหรือกลุ่มคนในงานลักษณะเดียวกัน อาจจะต้องแอบถามหน่อยเพราะเรื่องประสบการณ์พอ ๆ กันเนอะ ถ้าหากว่าเพื่อน ๆ หรือคนในสายงานเดียวกัน ลักษณะงานคล้าย ๆ กันแต่ต่างกันเพียงแค่ทำงานคนละที่คนละบริษัท ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้รับเงินเดือนค่อนข้างแตกต่างมากกกกกกก นั่นหมายความว่าที่เดิมกดเงินเดือนเรา ให้เราต่ำกว่าบริษัทอื่น ๆ โดยเฉลี่ย ก็ควรจะเริ่มมองหาโอกาสใหม่ ๆ ได้แล้วล่ะ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป พี่ทุยว่าการเรียนรู้ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ที่ทำงานหรอก เดี๋ยวนี้การเรียนรู้เปิดกว้างมากกว่านั้นเยอะมาก ทั้งหมดอยู่ที่ตัวเรามากกว่า

3. ได้งานใหม่ที่ดีกว่า

ก่อนที่จะยื่นใบลาออกพี่ทุยแนะนำว่า เราก็ควรจะมีการวางแผนสำหรับชีวิตภายหลังการลาออกไปแล้วจะใช้ชีวิตต่อไปยังไงนะ ทำอะไรต่อ ทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร และอย่าใช้อารมณ์ในการลาออกเด็ดขาด! เพราะพี่ทุยว่าคงจะไม่ดีต่ออนาคตการทำงานสักเท่าไหร่ ทางที่ดีควรจะมีงานใหม่รองรับเลยก็จะดีกว่า อาจจะเริ่มทำหลังจากงานเดิมซักนิดก็ได้เผื่อใครอยากพักก่อนเริ่มที่ใหม่ ถึงโอกาสได้พักแบบพักจริงๆสัก 2-4 สัปดาห์กำลังสวย 

และที่สำคัญการลาออกในช่วงที่ฮอตฮิต คือ ช่วงหลังจากเงินโบนัสออกที่คนส่วนใหญ่มักจะเปลี่ยนงานกันค่อนข้างมาก ทำให้ตลาดแรงงานมีการแข่งขันก็สูงไปด้วย ทางที่ดีพี่ทุยว่าควรจะได้งานก่อนจะลาออกจะได้ไม่ต้องลาออกไปแบบไม่มีเงินเดือนใช้ ไม่ต้องจมอยู่กับความเครียดว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อ ซึ่งมันจะเคว้งคว้างมากจนบางครั้งทำให้เราตอบตกลงทำงานที่อาจจะไม่ได้ตรงกับบุคลิกและความสามารถอย่างที่หวังไว้ และชีวิตการทำงานก็จะวนเวียนอยู่กับอะไรแบบนี้ๆ ไปตลอด พี่ทุยว่าก็คงไม่โอเคซักเท่าไหร่นะ 

4. เงินสำรองฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่สำคัญ

การออกจากงานส่งผลต่อฐานะทางการเงิน ภาระหนี้สินที่มีอยู่ รวมถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นต่าง ๆ และสภาพคล่องทางการเงินอย่างแน่นอนที่สุด! ดังนั้นพี่ทุยว่า “เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” จึงสำคัญมาก

ในช่วงหลังมานี้มีข่าวคราวของการบอกเลิกจ้างบ่อยครั้งก็อาจจะทำให้หลาย ๆ คนเกิดความกังวล เพราะบางทีเราก็ไม่ได้เป็นฝ่ายเลือกเสมอไป บางทีที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ เราก็อาจจะโดนเด้งได้ และถ้าหากว่าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นกับเราจริงละก็ เราจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย ซึ่งถ้าเกิดว่าเราไม่ได้มีการวางแผนทางการเงินที่ดี ไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินก็จะทำให้ลำบากได้

พี่ทุยว่าในช่วงที่ทำงานอยู่ก็ควรเตรียมพร้อมรับมือ เพราะเกิดตกงานขึ้นละแย่เลย งานก็ไม่มี เงินก็ไม่มี ทำให้ต้องใช้ชีวิตลำบากมากขึ้นในช่วงที่กำลังหางานใหม่ ดังนั้น พี่ทุยว่าควรเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้อย่างน้อย  6-12 เดือนของรายจ่ายก็จะดีนะ อาจจะค่อย ๆ ออมเงินในแต่ละเดือนให้ครบตามที่กำหนด

นอกจากนั้นแล้วพี่ทุยว่า เรายังสามารถสร้างเงินส่วนเพิ่มจากแค่เงินออมหรือสำรองไว้ตอนฉุกเฉินที่อาจจะถูกเก็บไว้เฉยๆ ด้วยนะ เพียงแค่เงินออมไปสร้างผลตอบแทนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ๆ หน่อย ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น ฝากธนาคารในบัญชีออมทรัพย์ หรือนำไปลงทุนในกองทุนรวมก็ได้ จะได้มีเงินมากขึ้นและมีใช้เวลาลำบากนะ

การตัดสินใจลาออกเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ และก่อนจะตัดสินใจลาออก พี่ทุยว่าควรจะคิดพิจารณาให้ดีซะก่อน และควรจะมีเหตุผลในการลาออกที่ดีต่อตัวเอง รวมถึงทำให้ชีวิตการทำงานในอนาคตดีขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้นอีกด้วย อย่างที่บอกกันไปว่าเราก็ไม่ควรลืมคิดถึงเรื่องของเงินสำรองฉุกเฉิน เพราะชีวิตเราในแต่ละวันไม่แน่นอนแต่ที่แน่นอนคือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ใครที่จะตัดสินใจดีแล้วและจะลาออกในช่วงนี้พี่ทุยก็ขอให้ได้งานที่ชอบงานที่ใช่เร็ว ๆ นะจ๊ะ เพี้ยง!!!

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply