ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างไรเมื่อเกิดวิกฤต “โควิด-19”

ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างไรเมื่อเกิดวิกฤต “โควิด-19”

4 min read  

ฉบับย่อ

  • การมาของ “โควิด-19” ทำให้ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที คนทีปรับตัวได้ก็จะสามารถยืนระยะได้ ก็จะมีโอกาสรอดในวิกฤตและไม่แน่ว่าเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไปอาจจะพบสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ก็เป็นไปได้
  • ในทุกวิกฤตมีโอกาส การปรับตัวเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การปรับตัวเป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยากมาก การดูไอเดียธุรกิจอื่น ๆ แล้วกลับมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของเราก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

พี่ทุยเชื่อว่า ตอนนี้หลาย ๆ คนน่าจะเห็นกันแล้วว่า “โควิด-19” อาจจะเปลี่ยนโลกเราไปตลอดกาล จนทำให้เกิด New Normal ใหม่ ๆ ได้ บางคนก็แซวกันเล่น ๆ ว่า คนที่ทำให้สังคมเราเปลี่ยนไปสู่ยุค Digital เร็วขึ้น ไม่ใช่ทั้งรัฐบาล ไม่ใช่ทั้งผู้นำบริษัทเอกชนอย่าง CEO CTO แต่เป็น “โควิด-19” นี่แหละที่ทำให้เกิด Digital Transformation ในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว

ในยุคนี้การปรับตัวถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้องค์กรอยู่รอดได้ แต่การปรับตัวเนี่ยเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่เอาเข้าจริง ๆ ทำยากเหมือนกันนะ ทุกคนอยากจะเปลี่ยนแปลง อยากจะปรับตัวด้วยกันทั้งนั้น แต่ปัญหาก็คือจะปรับตัวยังไงให้เหมาะสมแล้วเข้ากับบริษัทของตัวเราได้ เคล็ดลับส่วนตัวของพี่ทุยก็คือไปส่องคนอื่น ๆ ธุรกิจอื่น ๆ กิจการอื่น ๆ  หาไอเดียเพื่อปรับตัวเนี่ยแหละ ซึ่งการปรับตัวบางอันพี่ทุยก็ว่าเออคิดได้ยังไงเหมือนกันนะ เจ๋งดี

การปรับตัวของธุรกิจขนส่ง

เริ่มจากการปรับตัวง่าย ๆ ก่อน ซึ่งการปรับตัวอันนี้ดูเป็น Happy Problem เหมือนกันนะสำหรับ “ธุรกิจประเภทขนส่ง” เพราะช่วงนี้ความต้องการใช้บริการขนส่งมีมากขึ้นเหลือเกิน จนตัวธุรกิจพบกับปัญหาด้านการดำเนินการ นั่นคือไม่สามารถที่จะหาพนักงานส่งของได้ ทำให้ลูกค้าจำนวนมากได้รับของล่าช้า จึงเป็นเหตุให้บริษัทเจอตำหนิและได้รับคำร้องเรียนถึงบริการที่แย่ลงเป็นจำนวนมาก แต่แล้วบริษัทก็นึกไอเดียดี ๆ โดยการดึงคนขับแท็กซี่มาช่วยส่งของ เรียกว่า วิน ๆ ทั้งสองจริง ๆ เนื่องจากช่วงนี้ แท็กซี่ต่างก็ต้องยอมรับว่าค่อนข้างว่างงาน เลยได้ประโยชน์ทั้งตัวบริษัทและคนขับแท็กซี่ เป็นการแก้เกมที่พี่ทุยชอบมากอันนึงเลย

การปรับตัวของธุรกิจอาหาร

อีกอันที่พี่ทุยอยากยกมาเล่าให้ฟัง ก็คือธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งธุรกิจร้านอาหารดูเหมือนว่าจะมีแนวทางการปรับตัวที่ทำได้ง่ายและเห็นภาพชัดเจน นั่นก็คือการหันมา “ขายออนไลน์” เปลี่ยนจากหน้าร้านมาให้บริการแบบซื้อกลับบ้านหรือส่งแทน ดูผิว ๆ ก็เหมือนจะปรับตัวง่าย แต่เอาเข้าจริง ๆ ไม่ได้ง่ายอย่างที่ตาเราเห็นเลย โดยเฉพาะสำหรับร้านอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ โดยปกติแล้ว ร้านที่ให้บริการแบบนี้มีจุดเด่นเรื่องการเสิร์ฟแบบไม่อั้น แต่ตอนนี้ถ้าต้องขายออนไลน์ จะเสิร์ฟแบบไม่อั้นได้ยังไง ซึ่งพี่ทุยมองว่าเราอาจจะไม่ได้กินบุฟเฟ่ต์กันอีกนานจนกว่าจะมีวัคซีน เพราะหลักการทำร้านบุฟเฟ่ต์ ก็คือลูกค้า 1 รอบที่เข้าไปในร้านต้องเข้าไปให้ได้เยอะที่สุด การบริหารที่นั่งต่าง ๆ ให้กับลูกค้าให้ได้มากที่สุดในพื้นที่จำกัดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก แต่ด้วยเงื่อนไขการนั่งกินที่ร้านที่ต้องมี Social Distancing ทำให้ประสิทธิภาพในการนั่งหายไปอย่างไม่ต้องสงสัยเลย

แต่ก็มีร้านบางแห่งเหมือนกันที่เข้าใจในจุดแข็งของธุรกิจตัวเอง จริง ๆ แล้วร้านบุฟเฟ่ต์ ถ้าคิดให้ลึกแล้วข้อสำคัญที่ทำให้สามารถเสิร์ฟแบบไม่อั้นได้ นั่นก็เพราะว่าหลายร้านสามารถหาแหล่งวัตถุดิบที่ราคาถูกกว่าทั่ว ๆ ไปในท้องตลาดได้ จึงเริ่มเห็นร้านบุฟเฟ่ต์บางแห่งออกมาขายส่งวัตถุดิบแบบสด ๆ กันแทนนั่นเอง โดยส่วนมากแล้วจะเป็นวัตถุดิบที่ต้องรักษาอุณหภูมิในการส่งมีทั้งแบบที่แช่เย็นกับแบบแช่แข็งเลย จริง ๆ อันนี้ก็เป็นการปรับตัวง่าย ๆ นะ แต่ที่พี่ทุยอยากยกขึ้นมาเล่าเพราะพี่ทุยคิดว่าก่อนจะปรับตัวแบบนี้ได้ต้องอาศัยความเข้าใจในจุดแข็งของธุรกิจตัวเองก่อน พี่ทุยจึงคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ  ไม่แน่ว่าอาจจะได้เปิดไลน์ธุรกิจใหม่เลยก็เป็นไปได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ เรื่องของธุรกิจอาหารยังไม่จบเพียงเท่านี้ ต้องบอกว่าเมื่อก่อนคนที่รับวัตถุดิบแบบเย็น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นภาคธุรกิจมากกว่า เช่น ร้านอาหารสั่งซื้อจากตลาดปลา ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการค้าขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) นั่นเอง แต่จากที่พี่ทุยได้เล่าไป ของเย็นบางอย่างตอนนี้ไปถึงมือลูกค้าโดยตรงเสียแล้ว (B2C)  จึงทำให้ธุรกิจขนส่งบางเจ้าเห็นช่องทางตรงนี้ และเริ่มปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น บริษัท JWD ได้ลงทุนเพิ่มเติมในคลังแช่เย็นให้กระจายทั่ว ๆ หลายพื้นที่เพราะคิดแล้วว่าต่อไปต้องมีการขนส่งของเย็น (B2C) เยอะมากขึ้นแน่ ๆ รวมถึงการร่วมมือกับบริษัท CJ Logistics ในการทำ cold chain express delivery หรือการขนส่งด้วยรถเย็นอย่างรวดเร็วนั่นแหละ เมื่อก่อนก็มีอยู่บ้างแต่พี่ทุยเชื่อเลยว่าต่อไปต้องเห็นเยอะขึ้นอย่างแน่นอน

เรื่องของกินก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ พี่ทุยอยากยกตัวอย่างอีกร้านที่พี่ทุยคิดว่าเป็นการปรับตัวเองโดยยังรักษาภาพลักษณ์ที่ดีไว้ได้ ก็คือร้าน “R-HAAN” มิชลิน 1 ดาว ซึ่งนับว่าเป็นร้านหรูมาก ๆ ของเมืองไทยถึงกับได้มิชลินแบบนี้ จะส่งธรรมดาแบบร้านทั่ว ๆ ไป มันก็กระไรอยู่ ร้านนี้จึงลงทุนใช้รถบรรทุกขนาดเล็กติดป้ายโฆษณาแบบยิ่งใหญ่อลังการเลย การทำแบบนี้แม้จะไม่ได้ต่างจากการส่งแบบธรรมดามากนักแต่ก็ต้องยอมรับว่าสร้างความแตกต่างทำให้ร้านคุณดูพิเศษขึ้นมากกว่าร้านอื่นจริง ๆ

ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างไรเมื่อเกิดวิกฤต “โควิด-19”

การปรับตัวของธุรกิจยานยนต์

ข้ามมาธุรกิจที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากแต่ก็เกิดขึ้นกันบ้าง กับธุรกิจขายรถยนต์  พี่ทุยเชื่อว่าคนที่กำลังจะซื้อรถทุกคนจะมีหนึ่งสิ่งที่ต้องทำแน่นอนก็คือ การทดลองขับนั่นเอง โดยปกติเราก็จะไปทดลองกันที่ Showroom มีพื้นที่จัดสรรไว้ให้ หรือ อาจจะขับออกถนนจริงก็ได้แล้วแต่บริษัทจะกำหนด แต่ว่าช่วงนี้ Lockdown ขนาดนี้ คนก็ไม่อยากออกไปทดลองขับรถกันหรอก เนื่องจากว่าอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดโรค ทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลงอย่างชัดเจนเลย ทาง Peugeot ได้เห็นถึงความสำคัญตรงนี้จึงได้ดำเนินการให้มีการทดลองขับได้ โดยแค่เข้ามาลงชื่อผ่านทางออนไลน์เท่านั้น บริษัทจะเอารถมาให้ลองถึงหน้าบ้านกันเลยทีเดียวพร้อมฆ่าเชื้อให้เรียบร้อย เรียกว่าเข้าใจหัวอกของคนต้องการรถจริง ๆ และปลอดภัยสุด ๆ เข้ากับบริบทของสังคมได้เป็นอย่างดี โดยมีเงื่อนไขให้ขับได้ 10 กิโลเท่านั้นนะ

การปรับตัวของ Airbnb

อีกบริษัทที่หลายคนฟันธงว่าล่มแน่ ๆ อย่างธุรกิจที่พัก Airbnb ที่ดูเหมือนว่าจะพบทางตัน แน่นอนว่าหาก Airbnb ไม่ปรับตัวอะไรเลยปล่อยมันไปแบบนี้ เจ๊งแน่นอนพี่ทุยยืนยันได้ แต่ Airbnb ก็ไม่ได้นิ่งเฉยกลับสามารถพลิกวิกฤตในช่วงนี้ได้ โดยที่จากเดิมจะเป็นการให้บริการที่พักแก่นักท่องเที่ยวเป็นหลัก ตอนนี้ Airbnb ให้บริการที่พักแก่บุคลากรทางการแพทย์นั่นเอง เนื่องจากมีแนวความคิดว่า แพทย์หรือบุคลากรที่ต้องออกไปเผชิญหน้าสัมผัสกับโรคบ่อย ๆ ก็มีคนสำคัญอยู่ที่บ้านเหมือนกัน มีพ่อมีแม่มีลูกที่ไม่อยากให้เสี่ยงไปกับเราด้วย ทาง Airbnb จึงมาเติมเต็มในส่วนนี้และจัดหาที่พักให้กับคนเหล่านี้ ซึ่งตอนนี้เป็นลักษณะของการทำงานร่วมกับภาครัฐและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จึงให้บริการฟรี แต่พี่ทุยคิดว่าการทำแบบนี้ทำให้ชื่อของ Airbnb ยังคงเป็นที่จดจำอยู่และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนบางส่วนถึงความสามารถในการปรับตัวด้วย

การปรับตัวของ Dyson

มาต่อกันที่บริษัท Dyson บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังที่มีสินค้ายอดนิยมอย่าง ไดร์เป่าผม เครื่องฟอกอากาศ เครื่องดูดฝุ่น หากสังเกตดี ๆ จะพบว่า สินค้าเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งนั่นก็คือเกี่ยวกับการ “เป่าลม” นั่นเอง จริง ๆ แล้วบริษัทนี้มีจุดเด่นที่สามารถผลิตมอเตอร์ที่ใช้ในการเป่าหรือดูดได้อย่างยอดเยี่ยม ในช่วงนี้ Dyson จึงดัดแปลงมอเตอร์นี้เอาไปผลิตเป็นเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งพี่ทุยคิดว่ามันสุดยอดมาก

การปรับตัวของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อีกอันที่พี่ทุยคิดว่าสร้างสรรค์มาก ๆ คือบริษัทเบียร์ยี่ห้อหนึ่งในประเทศอังกฤษ อย่างที่ทราบกันดีว่าตอนนี้ร้านอาหาร ผับ บาร์ต่าง ๆ ทั่วโลกต้องหยุดกิจการ รวมถึงมีกฎห้ามสังสรรค์ ห้ามรวมกลุ่ม ทำให้รายได้การขายเบียร์ก็พลอยตกไปด้วย บริษัท Signature จึงได้ออกสินค้าที่ชื่อว่า Pub in a box โดยในกล่องนั้นจะมีเบียร์ มีแก้วเบียร์ มีขนมแกล้ม และที่สำคัญคือมีเพลง Spotify playlists มาให้ โดยเลือกให้เหมาะกับเบียร์แต่ละชนิดอีกด้วย เรียกว่าสั่งไปชุดเดียวสามารถจำลองการไปผับได้เลย พี่ทุยอยากบอกว่าที่เมืองนอก ฝรั่งเวลาจะดื่มเค้าชอบไปผับกันมาก อันนี้จึงนับว่าช่วยตอบโจทย์สำหรับนักดื่มได้เป็นอย่างดีเลย

การปรับตัวของ Netfilx

สุดท้ายพี่ทุยอยากบอกว่า ถึงแม้ธุรกิจบางอย่างจะไม่ได้ประสบปัญหามากนัก อย่าง Netflix ที่ดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยซ้ำ จากการที่คนอยู่บ้านกันทำให้ยอดคนติดตามเพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้น แต่บริษัทก็มิได้ชะล่าใจแต่อย่างใด เป็นที่ทราบกันดีว่า Netflix พยายามที่จะแข่งกับการไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์มาโดยตลอด ในตอนนี้ช่วงที่โรงภาพยนตร์ต้องปิด Netflix ก็ไม่อยู่เฉย ออกบริการใหม่ที่เรียกว่า Netflix Party ขึ้นมา โดยเป็นบริการที่ให้เราและเพื่อน ๆ ดูหนังไปพร้อมกันได้ และมีพื้นที่ให้ Chat ให้คุยกันได้ระหว่างดูหนังเลย การเพิ่มบริการนี้พี่ทุยคิดว่าเป็นการทดแทนการไปดูหนังด้วยกันกับเพื่อนที่โรงหนังชัด ๆ เรียกว่าช่วยเติมเต็มผู้คนที่โหยหาการเข้าสังคม โหยหากิจกรรมที่ได้ทำกับเพื่อน ๆ เหมือนสมัยก่อนได้อย่างดีเลย ฉลาดในการใช้วิกฤตและเติมเต็มพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคจริง ๆ

โดยสรุปพี่ทุยคิดว่า ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นหรือไม่ แต่จุดสำคัญที่ทำให้ธุรกิจจะสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี พี่ทุยคิดว่าธุรกิจเหล่านั้นต้องเข้าใจผู้บริโภคว่าต้องการอะไรเสียก่อน และรวมถึงเข้าใจจุดแข็งของตัวเองด้วย เพื่อที่จะเลือกแนวทางในการปรับตัวให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด และแน่นอนว่าการปรับตัวไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดวิกฤตหรอก แต่สามารถปรับตัวได้ตลอดเวลาเลย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply