รัฐบาล คสช. กับเศรษฐกิจ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“รัฐบาล คสช.” กับเศรษฐกิจ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

5 min read  

ฉบับย่อ

  • จะดูว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีนั้นต้องดูที่ อัตราการเติบโตของ GDP เท่านั้น จะดูที่ตัวเลขของ GDP เพียงอย่างเดียวไม่ได้
  • หากจะดูว่าการเติบโตของ GDP มากหรือน้อยต้องเปรียบเทียบกับ Potential Output หรือ การเติบโตแบบเต็มที่เท่าที่เราจะทำได้
  • ที่เรารู้สึกว่าเศรษฐกิจแย่อาจจะเป็นเพราะ สิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจสองความเร็ว” ที่แบ่งประเทศไทยออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) ส่วนที่เติบโตได้เร็ว (2) ส่วนที่เติบโตได้น้อยหรือติดลบอยู่
  • ช่วงที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาเรื่อง “เศรษฐกิจสองความเร็ว” อย่างเรื่องการแจกเงินก็เป็นตัวช่วยในการลดความแรงของเศรษฐกิจสองความเร็วได้เหมือนกัน แต่ต้องระวังเพราะเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

วันก่อนพี่ทุยได้ตั้งโพลล์โหวตกันเล่นๆว่า เศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลชุดใหม่แต่นายกคนเดิมจะดีขึ้นหรือแย่ลงก็มีคนตอบกันมาเยอะมากๆ แต่ก่อนที่เราตอบคำถามนั้นได้เนี่ย พี่ทุยคิดว่าเราก็ควรที่จะรู้กันก่อนว่า เศรษฐกิจในสมัยนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร มีโครงการลงทุนหรือนโยบายสำคัญๆอะไรบ้าง และก็มีหลายคนถามพี่ทุยมาเช่นกันว่า ตัวเลขเศรษฐกิจอะไรก็ดูดีไปหมดเลยแต่ทำไมยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี บทความนี้พี่ทุยจะเล่าให้ฟังเองจะได้ดูกันเป็นว่าเศรษฐกิจตอนนี้เป็นยังไง แล้วก็ช่วยให้เราตอบคำถามได้อย่างถูกต้องว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือแย่ลง

พี่ทุยขอเริ่มจากตัวเลขเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ “อัตราการเติบโตของ GDP” ย้ำอีกครั้งว่าดูที่อัตราการเติบโตนะ ดูแต่ตัว GDP อย่างเดียวไม่ได้ !!

ซึ่งรัฐบาลชุดเก่าหรือ “รัฐบาล คสช.” ได้เริ่มต้นเข้ามาบริหารประเทศในช่วงกลางปี 2014 ซึ่งหากใครยังจำกันได้จะเห็นว่าเป็นช่วงที่ประเทศเรามีการเมืองที่วุ่นวายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มประท้วง มีงานมหกรรมกีฬาสี มีกลุ่มนกหวีด มือตบ ก็เลยไม่น่าแปลกใจเลยที่ GDP เราในปี 2013 และ 2014 จะโตแค่เพียง 2.7 และ 1.0 % เท่านั้นเอง ดังนั้นจะเห็นว่าในช่วงที่ได้เริ่มบริหารอย่างจริงๆจังๆ ตั้งแต่ปี 2015 – ปัจจุบัน GDP โตเฉลี่ยปีละ 3.7% ซึ่งถามว่าเยอะหรือไม่นั้น พี่ทุยว่ามันก็ดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้านั้นที่บ้านเมืองวุ่นวายแหละ แต่ก็ยังไม่ได้ดีมาก หากลองเทียบค่าเฉลี่ยในช่วงที่ประเทศไทยเราค่อนข้างปกติ อย่างช่วงปี 2000-2007 เราเคยโตได้เฉลี่ย 5.3% เลยนะ

รัฐบาล คสช. กับเศรษฐกิจ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

แต่ยังไงก็ตามการเปรียบเทียบแบบนี้เอาตรงๆพี่ทุยว่าก็ไม่ค่อยยุติธรรม เพราะในแต่ละช่วงเวลาเราก็อาจจะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเลยทำให้ “การเติบโต” ไม่เท่ากันได้ ทางที่ดีที่สุดพี่ทุยว่าก็ควรจะเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียกว่า Potential Output หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ก็คือ การเติบโตแบบเต็มที่เท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งการคิด Potential Output ก็คำนวณค่อนข้างยากเหมือนกัน

แต่ในความยากยังมีความโชคดี คือ Potential Output ไม่ได้เปลี่ยนบ่อยๆ ทั่วไปจะเปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากร ซึ่งนานๆจะเปลี่ยนที พี่ทุยเลยขอหยิบงานวิจัยของแบงก์ชาติที่เคยคำนวณไว้มาเล่าให้ได้อ่านกัน พบว่า ในช่วงปี 2014-2025 ประเทศไทยจะมี Potential output ประมาณ 3.9% ดังนั้นจะเห็นว่าการโตในช่วงที่ผ่านมาที่ 3.7% ก็นับว่ายังต่ำกว่า Potential Output เล็กน้อยและยังไม่ได้ดีมาก แต่ก็ไม่ได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอะไรขนาดนั้น ยิ่งในปีหลังๆ ประเทศไทยเราโตได้มากกว่า 4.0% พี่ทุยถือว่าโอเคเลยแหละ แต่ก็ต้องไปลุ้นว่าเราจะรักษาการเติบโตนั้นได้หรือไม่

แต่ก็ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งเช่นกันที่ พี่ทุยอยากพูดถึงให้เห็นภาพกันอีกนิดนึง เนื่องจากในปัจจุบันต้องบอกว่าโลกมันเชื่อมถึงกันมากขึ้น กระบวนการผลิตต่างๆก็เชื่อมโยงกัน การส่งออกสินค้าต่างๆหรือแม้กระทั่งคู่แข่งก็มีมากขึ้นทุกวัน จึงอาจเรียกได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านเรานี่แหละที่จะเป็นคู่แข่งของเรา ดังนั้น เราจึงควรจะเปรียบเทียบการเติบโตของเรากับภูมิภาคเราเพิ่มเติมด้วยไม่ควรจะดูแค่ตัวเองอีกต่อไป

แน่นอนว่าพี่ทุยไปส่องมาให้แล้วก็พบว่า จากงานศึกษาของ Asian Development Bank พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เอเชียเราจะมี Potential output มากกว่า 6% เลยทีเดียว นั่นก็แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของเราในช่วงที่ผ่านมายังน้อยกว่าประเทศอื่นๆอีกเยอะเลยนะ อย่างประเทศเพื่อนบ้านเรา ฟิลิปปินส์ หรือ เวียดนาม เขาก็โตกว่าเราเยอะเลย

จากตัวเลข GDP ที่พี่ทุยได้เล่าไปจะเห็นว่า ตัวเลขมันก็ไม่ได้แย่เท่าไหร่ มันก็ดีขึ้นจากอดีตตั้งเยอะ แต่ทำไมหลายๆคนจึงรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีเอาซะเลย นั่นก็เพราะว่าในตอนนี้มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจสองความเร็ว”

ถ้าจะอธิบายความหมายเพิ่มเติม อาจจะอธิบายได้ว่า เศรษฐกิจของไทยสามารถแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ (1) กลุ่มหนึ่งเติบโตได้ดีและนับเป็นเม็ดเงินส่วนใหญ่ที่ทำให้ GDP มันโตได้ กับ (2) กลุ่มที่โตไม่ค่อยดีแต่ดันมีคนอยู่ในกลุ่มนี้จำนวนมาก มาถึงตรงนี้หลายคนก็เดาได้แล้วแหละว่า กลุ่มที่โตไม่ค่อยดีก็คือ กลุ่มของเกษตรกร แรงงานต่างๆ หรือแม้กระทั่งพ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้คนเปลี่ยนไปซื้อของออนไลน์กัน ซึ่งจากจุดนี้แหละมันเลยทำให้ รัฐบาลได้มีบทบาทออกโครงการที่สร้างกระแสให้แก่สังคมเป็นอย่างมาก คือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั่นเอง

โดยส่วนตัวแล้วพี่ทุยคิดว่า โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมันก็นับว่าเป็นโครงการที่ทำให้รัฐบาลสามารถเลือกช่วยเหลือได้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น หรือเลือกช่วยกลุ่มที่มีปัญหาตรงๆ ซึ่งพี่ทุยถือว่ามีการแจกเยอะเหมือนกันในแต่ละเดือน รวมกันหลายๆรายการได้เกือบ 1,000 บาท/เดือน แต่ยังไงก็ตามโครงการนี้ก็ใช้งบประมาณสูงถึง 4 พันล้านบาทต่อเดือน หรือ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นงบประมาณที่ใกล้เคียงกับการสร้างรถไฟฟ้าสายย่อมๆสายหนึ่งเลย

โดยรวมแล้ว พี่ทุยมองเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี แต่เป็นการช่วยเหลือใน “ระยะสั้น” เท่านั้น แต่การลงทุนและใช้งบประมาณในระยะยาวก็สำคัญไม่แพ้กัน

รัฐบาล คสช. กับเศรษฐกิจ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

แต่ก็นับว่ายังโชคดีที่ในช่วงที่ผ่านมา เรามีโครงการลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายต่างๆที่ดำเนินงานต่อเนื่องจนเสร็จจนได้ ตอนแรกพี่ทุยก็กลัวจริงๆว่าโครงการอาจจะพับเก็บไป หรือการต่อขยายสนามบินสุวรรณภูมิที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แล้วถ้าถามว่าโครงการพวกนี้มันสำคัญยังไง พี่ทุยตอบเลยว่าโคตรสำคัญ

โครงการเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นพื้นฐานให้เศรษฐกิจมันโตต่อไปได้ ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือ ในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันเราก็พบว่าสนามบินเรามีความแออัดมาก รับนักท่องเที่ยวได้ไม่เต็มที่ คนจะมาก็มาไม่ได้เที่ยวบินเต็มแล้ว เขาว่ากันว่าที่เราเห็นๆนักท่องเที่ยวจีนเยอะแบบนี้ จริงๆยังรับเพิ่มได้อีกมาก เพราะว่าปัจจุบันคนจีนที่มี Passport มีจำนวนแค่ 10% เท่านั้นเอง แล้วถ้าอีก 90% เขามาเนี่ย บอกเลยว่าเที่ยวบินเราไม่พอแน่นอน ดังนั้น ถ้ามีการขยายสนามบิน มีการสร้างรถไฟฟ้าให้เดินทางได้สะดวกมันก็ทำให้เรารับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ เศรษฐกิจก็จะเติบโตต่อไปได้

และอีกโครงการลงทุนสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ การผลักดันโครงการ EEC หรือ Eastern Economic Corridor หรือชื่อภาษาไทยเรียกว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งก็คล้ายๆการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากๆ ซึ่งมันก็จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มากทีเดียว และทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่า โครงการนี้จะประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้ยังคงเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่หากทำได้จริงๆพี่ทุยว่าเราก็คงจะสามารถยกระดับเศรษฐกิจของเราให้เข้าไปใกล้ Potential Output ได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

โดยสรุปแล้วพี่ทุยคิดว่า ในช่วงที่ผ่านมาของ “รัฐบาล คสช.” ก็มีการเติบโตที่ดีกว่าช่วงที่บ้านเมืองวุ่นวาย แต่ก็ยังไม่ได้ดีมากหากเปรียบกับสิ่งที่ควรจะเป็น และยังด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากนัก นอกจากนี้ประเทศไทยยังเกิดสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจสองความเร็ว กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยไม่ได้รู้สึกเลยว่าเศรษฐกิจดี แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งเฉยซะทีเดียว ได้ออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาช่วย แต่ก็ยังโชคดีที่รัฐบาลไม่ได้ลืมที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ทีนี้หลายๆคนก็คงมีคำตอบในใจชัดขึ้นแล้วแหละกับคำถามที่ว่าเศรษฐกิจต่อไปจะดีขึ้นหรือแย่ลง

ส่วนตัวพี่ทุยคิดว่าประเทศไทยเรายังสามารถเติบโตได้มากกว่านี้อีกมาก หากโครงการการลงทุนต่างๆทำได้จริงๆ และการช่วยเหลือแบบอัดฉีดเงินแจกเงินเป็นเพียงการช่วยแค่ระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้นอย่าลืมหาความรู้พัฒนาตนเองด้วย เริ่มง่ายๆด้วยการติดตาม Money Buffalo ก็ได้ (ฮ่า) แล้วไว้พี่ทุยจะเอาความรู้ดีๆย่อยเรื่องเศรษฐกิจให้อ่านกันแบบง่ายๆมาฝากกันอีกนะ หรือใครอยากรู้เรื่องไหนเป็นพิเศษ คอมเมนท์ทิ้งไว้เลย เดี๋ยวพี่ทุยจะมาเล่าให้ได้อ่านกันอีก !

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply