ผลกระทบของนโยบาย "พรรคพลังประชารัฐ"

ผลกระทบของนโยบาย “พรรคพลังประชารัฐ”

4 min read  

ฉบับย่อ

  • นโยบายหลักที่พรรคพลังประชารัฐใช้หาเสียงช่วงที่ผ่านก็คือนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาท
  • ค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทยเรานั้นไม่ได้ถูกปรับขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังเลยมาตั้งแต่ปี 2556 ที่มีการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทจาก 220 บาท
  • การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาทนั้นส่งผลกระทบกับเงินเฟ้ออย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรงแบบเวเนซุเอลาที่หลายๆคนพูดถึงได้เลย
  • อีกนโยบายที่น่าจับตามองก็คือ ยกเว้นภาษีแม่ค้าออนไลน์ตลอด 2 ปี ซึ่งมีทั้งผลกระทบทางบวกและทางลบที่ต้องจับตามองกันต่อไป

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หลังจากที่เราได้นายกกันเป็นที่แน่นอนแล้วหลังจากการโหวตอย่างดุเดือดในช่วงที่ผ่านมา หลายคนก็น่าจะรู้กันดีแล้วว่านายกคนต่อไปอย่างเป็นทางการของเราก็คือ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แห่งพรรคพลังประชารัฐนั่นเอง ซึ่งในบทความนี้ พี่ทุยก็จะพามาย้อนดูกันหน่อยดีกว่าว่า “พรรคพลังประชารัฐ” เคยโฆษณานโยบายอะไรเอาไว้บ้าง หากทำจริงๆจะส่งผลกระทบอย่างไร

** บทความนี้วิเคราะห์ตามเนื้อหาของนโยบาย มิได้พาดพิงเป็นรายบุคคล

เริ่มที่นโยบายแรกที่สร้างความฮือฮาเรียกกระแสได้เป็นอย่างดี อย่างนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากใครยังจำกันได้จะพบว่า ประเทศไทยเราก็มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งใหญ่ในช่วงปี 2556 ไปกันแล้ว ในสมัยนั้นเป็นการขึ้นจากประมาณ 220 บาทเป็น 300 บาททั่วประเทศ จึงคิดเป็นการขึ้นมากกว่า 30 % เลยทีเดียว ซึ่งพี่ทุยว่าเยอะมากๆเลยนะ ลองเทียบกับบริษัทต่างๆดูก็ได้ พี่ทุยเชื่อเลยว่าส่วนใหญ่ก็ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานราวๆ 7-10% เท่านั้นแหละ

แต่ยังก่อน พี่ทุยก็อยากจะชี้ให้ดูอีกมุมเช่นกัน เรื่องแรกเลย เชื่อกันหรือไม่ว่าหากไม่มีนโยบายเช่นนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะปรับแค่ปีละ 2-10 บาทเท่านั้นเอง แล้วบางทีอาจไม่ได้ปรับขึ้นด้วยซ้ำ อย่างในปีล่าสุดได้มีการเสนอให้ขึ้น 2 บาท ใน 46 จังหวัด เท่ากับว่าขึ้นค่าแรงไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ แถมสุดท้ายมติไม่ผ่านซะด้วย

นอกจากนี้ เรื่องที่สอง เชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำปี 2561-2562 (ปี 62 ไม่ได้มีการปรับขึ้น) ล่าสุดยังอยู่ที่เฉลี่ยทั่วประเทศ 318 บาทอยู่เลย นั่นหมายความว่า ตั้งแต่ปี 2556 ที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ผ่านมา 5-6 ปีแล้ว ค่าแรงเพิ่งขึ้นเพียง 18 บาทเท่านั้น หรือปีละประมาณ 3 บาท คิดง่ายๆ คือปีละประมาณ 1% อันนี้พี่ทุยก็ว่าน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่เราเจอๆกัน

ผลกระทบของนโยบาย "พรรคพลังประชารัฐ"

อย่างไรก็ตาม พี่ทุยคิดว่าการที่แรงงานขั้นต่ำไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ก็เป็นการแสดงให้เห็นเช่นกันว่า เรายังมีอุปทานของแรงงานที่มากกว่าความต้องการอยู่ดีค่าแรงเลยไม่ได้เพิ่ม เหมือนของที่มีเยอะๆราคาก็จะถูก หลายคนก็คงคิดว่าส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบันประเทศเรามีการเปิดเสรีให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน แต่พี่ทุยอยากบอกว่าเป็นผลแค่ส่วนเดียวเท่านั้นแหละ เพราะหากสังเกตดีๆเราเพิ่งจะเปิดเสรีแรงงานมากๆ ในช่วง 2-3 ปีนี้เอง แต่ค่าแรงเราไม่ได้ขึ้นมาหลายปีแล้ว

มีอีกหลายคนที่กังวลเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรวมถึงคุณมิ่งขวัญด้วย นั่นก็คือ ถ้าเราขึ้นแล้วเราจะเป็นแบบเวเนซุเอลาหรือไม่ ซึ่งพี่ทุยก็เคยได้อธิบายไปแล้วว่า ประเทศไทยเราจะเป็นแบบเวเนซุเอลาหรือไม่ ไปตามอ่านกันได้เลย

พี่ทุยขอย้ำอีกครั้งว่าในสมัยที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นแต่ก็ไม่ได้สูงเกินขอบเขต ซึ่งในปัจจุบันพี่ทุยก็คิดว่าหากมีการขึ้นค่าแรงจริงๆก็คงทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่ในยุคที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ และกลุ่ม OPEC ไม่สามัคคีกันแบบนี้ คงไม่ได้ทำให้ราคาพุ่งขึ้นสูงมากนัก

พี่ทุยว่าผลของราคาน้ำมันแรงกว่าผลของการขึ้นค่าแรงเยอะ ดังนั้น พี่ทุยจึงคิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นเราก็คงจะเจอการขึ้นราคาของสินค้าบ้างไม่มากก็น้อย ส่วนบริษัทก็คงต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มจะชะลอตัวแบบนี้ ก็คงไม่ได้สามารถที่จะโยนต้นทุนให้ผู้บริโภคทั้งหมดได้ เรียกว่ารับกันไปคนละนิด เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขละกัน (ฮ่า)

ในมุมของพี่ทุยเห็นว่าตลกมากจริงๆ เวลาปรับขึ้นก็ขึ้นที่ละ 30 % เวลาไม่ขึ้นก็ไม่ขึ้นเลยหรือขึ้นแค่ 1 % พี่ทุยคิดว่าเรามาเจอกันตรงกลางมั้ย แต่ก็เข้าใจได้นะว่าเป็นผลจากการเมืองพอสมควรสำหรับเรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเนี้ย ส่วนตัวพี่ทุยคิดว่าปรับขึ้นได้แต่ไม่ใช่การกระโดดครั้งเดียวทีละเยอะๆแบบนี้ เพราะทำให้กิจการต่างๆปรับตัวลำบาก จนสุดท้ายการปรับตัวที่ง่ายที่สุดก็คือการขึ้นราคานั่นเอง

สุดท้ายก็วนกลับมาที่ผู้บริโภคอยู่ดี ซึ่งแรงงานก็นับเป็นผู้บริโภคนะ เรียกว่า รายได้เพิ่ม รายจ่ายก็เพิ่มอยู่ดี แต่ถ้าเราให้เวลาแก่ธุรกิจในการปรับตัว พี่ทุยเชื่อเลยว่าจะช่วยลดการขึ้นราคาตรงนี้ได้อย่างแน่นอน ซึ่งในทฤษฎีต่างๆของเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับตรงนี้มากเลยนะ เรียกว่า Speed of Adjustment หรือแปลง่ายๆว่า ความเร็วในการปรับตัว อาจจะขึ้นปี 7-10% ก็ได้ไม่ว่ากัน ซึ่งพี่ทุยคิดว่าการขึ้นค่าแรงแบบปรับค่อยเป็นค่อยไป จะเป็นการช่วยเรื่องความเป็นอยู่ของแรงงานซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้เป็นอย่างดีเลยแหละ รวมถึงอาจช่วยให้ระดับการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อีกนโยบายที่พี่ทุยอยากพูดถึงก็คงเป็น การเสนอให้ยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี อันนี้พี่ทุยไม่แน่ใจเหมือนกันว่า พ่อค้าแม่ค้าจะชอบหรือไม่ เพราะก็งดเว้นภาษีไปแค่ 2 ปีเท่านั้นเอง สุดท้ายก็กลับมาเก็บอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีการคาดการณ์จากแบบสำรวจต่างๆว่าคนไทยเรามีการซื้อของออนไลน์กันถึง 3.2 ล้านล้านบาทเลยนะ เยอะมากๆ ก.ไก่ล้านตัวเลย

ซึ่งหากมีการเก็บภาษีจริงๆ โดยเริ่มจากเก็บ VAT 7% แล้วกัน ก็จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากถึงกว่า 2 แสนล้านบาทเลย พี่ทุยจึงมองว่าในช่วง 2 ปีนี้ที่เขาจะยกเว้น ถือว่าเป็นช่วง Honeymoon ของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่หลังจากนี้พี่ทุยแนะนำว่าควรรองรับการเปลี่ยนแปลงไว้ด้วยนะ จะตั้งราคาอะไรก็อย่าลืมคิด VAT 7% เข้าไปด้วย และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างเราแน่นอน เพราะราคาสินค้าก็คงจะแพงขึ้นเล็กน้อย แต่ก็คิดว่ายังถูกกว่าการซื้อสินค้าจากหน้าร้าน เพราะการขายของออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าไม่ได้มีต้นทุนในการบริหารจัดการหน้าร้านนั่นเอง

ส่วนตัวพี่ทุยเชื่อว่านโยบายเหล่านี้ที่พรรคพลังประชารัฐใช้หาเสียง ยังไงก็ต้องมีออกมาแน่นอน (#เราจะทำตามสัญญา ฮ่า ) แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายส่วนใหญ่ที่พี่ทุยเห็นตอนนี้ก็ยังคงเน้นไปที่นโยบายประชานิยมที่เน้นการแจกเงิน การเพิ่มค่าแรงอยู่ดี ซึ่งนโยบายประชานิยมเหล่านี้ตามที่พี่ทุยได้บอกไปหลายครั้งแล้วว่ามีมาเรื่อยๆแหละ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวให้ได้ พี่ทุยแนะนำว่าช่วงนี้ให้ติดตามข่าวนโยบายเหล่านี้ให้ดี เพราะยังไงก็กระทบต่อเราอย่างแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หลังจากนี้ ถ้าหากว่ามีนโยบายเด็ดๆหรือนโยบายที่เกี่ยวกับการลงทุนใหญ่ๆ Mega Project (ที่พี่ทุยเฝ้ารอ) พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังอีก เพราะส่วนตัวลึกๆแล้ว พี่ทุยก็ไม่ค่อยชอบนโยบายระยะสั้นเท่าไหร่ เพราะมักจะเป็นการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ ไม่ได้เป็นการช่วยทำให้เกิดการผลิตทำให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืนสักเท่าไหร่ ถ้ามองในการพัฒนาแล้วก็จะทำให้การพัฒนาช้าไปด้วยถ้าใช้นโยบายระยะสั้นมากเกินไป แต่ก็เข้าใจได้ว่าการใช้นโยบายระยะสั้นจะเห็นผลรวดเร็ว ส่งผลทำให้คะแนนเสียงและฐานเสียงของพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นนั่นเอง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply