ครึ่งปีแรก 2019 "เศรษฐกิจไทย" ตอนนี้เป็นอย่างไร ?

ครึ่งปีแรก 2019 “เศรษฐกิจไทย” ตอนนี้เป็นอย่างไร ?

5 min read  

ฉบับย่อ

  • ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจากเดิม 3.8% เหลือเพียง 3.3% ในปี 2019 เนื่องจากการหดตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวและคาดว่าให้ปี 2020 จะกลับมาโตได้ที่ 3.7%
  • การส่งออกถูกกดดันหนักจากประเด็นเรื่องการทำสงครามการค้าที่เริ่มลุกลามไปเรื่อย ๆ มากกว่าแค่เรื่องของภาษี รวมถึงการที่นักท่องเที่ยวหายไปจากช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
  • จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมกับการเติบโตของไทยอยู่ที่ 1.0-4.0% ยังอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ไม่น่าเป็นห่วง
  • อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำพอสมควรแล้ว การกระตุ้นผ่านอัตราดอกเบี้ยด้วยการลดดอกเบี้ยลงมากกว่านี้อาจจะไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงกับระบบเศรษฐกิจมากจนเกินไป

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เมื่อวันก่อน แบงก์ชาติ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีแถลงข่าวเกี่ยวกับการใช้นโยบายการเงิน ก็คือ การมาเล่าว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบที่ผ่านมาใช้นโยบายการเงินแบบไหน (คง เพิ่ม หรือ ลด ดอกเบี้ย) ด้วยเหตุอะไร ซึ่งพี่ทุยบอกได้เลยว่ามีสาระอัดแน่นมาก ๆ และน่าสนใจมาก เพราะว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่ามุมมองต่อ “เศรษฐกิจไทย” ที่ กนง. มองเป็นอย่างไร มีประเด็นสำคัญๆ มีอะไรที่ต้องติดตาม ซึ่งในการแถลงนี้จะมีการเปิดโอกาสให้ผู้วิเคราะห์ต่าง ๆ ถามคำถามอีกด้วย

แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือ ผู้ว่าการฯ มาเป็นผู้ตอบคำถามด้วยตัวเอง บทความนี้พี่ทุยจะมาสรุปให้ฟังกันว่า “เศรษฐกิจไทย” ในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอย่างไร พร้อมกับเสริมการวิเคราะห์ของพี่ทุยตามสไตล์นักเศรษฐศาสตร์เข้าไปด้วยสักหน่อยละกัน

ครึ่งปีแรก 2019 เศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ?

พี่ทุย ขอเริ่มจากตัวเลขที่ใหญ่ที่สุดอย่าง GDP ก่อนละกัน แบงก์ชาติเค้ามองว่า GDP จะขยายตัวลดลงจาก 3.8 เป็น 3.3 % หรือแปลง่าย ๆ ก็คือ แบงก์ชาติมองว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีเท่าเดิมอีกแล้วปรับลดประมาณการลงตั้ง 0.5 % สำหรับพี่ทุยแล้วคิดว่าก็ค่อนข้างเยอะเหมือนกันนะ

ปกติที่พี่ทุยเคยติดตามมา ในช่วงที่ผ่านมา 3-4 ปีนี้ก็จะปรับกันทีละ 0.1 ไม่ก็ 0.2 เท่านั้นแหละ อันนี้ปรับลดทีเดียว 0.5 % ถือว่าเยอะเลย ซึ่งเทียบเท่ากับประมาณ 53,000 ล้านบาทเลยทีเดียว (คิดจากมูลค่า Real term ปี 2018) ยิ่งถ้าคิดเป็นราคาตลาดก็คงมากกว่านี้อีกนะ ซึ่งแบงก์ชาติมองว่าการปรับลดลงครั้งนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าและภาคท่องเที่ยว ตามที่พี่ทุยคาดการณ์ไว้เลย แต่ยังไงก็ตามก็ไม่ได้แย่มากเพราะว่าปีหน้าแบงก์ชาติก็มองว่า เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 3.7% พี่ทุยว่าค่อนข้างโอเคเลยไม่ได้มีปัญหาอะไร

ครึ่งปีแรก 2019 เศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ?

ที่มา: CEIC
หมายเหตุ: ตัวเลขมูลค่าการส่งออกของทุกประเทศ (ยกเว้นไทย) เป็น Customs Basis

คำถามสำคัญก็เลยมาตกที่ว่าทำไมการส่งออกสินค้าของเรามันถึงได้ลดลงขนาดนี้ ก็คงเดากันออกไม่ยาก แน่นอนว่าสาเหตุหลัก ๆ ก็คือ Trade War ซึ่งแบงก์ชาติก็ให้ความเห็นว่าเหตุการณ์มันรุนแรงมากขึ้นนะ เริ่มมีการใช้มาตรการที่มากกว่าภาษีแล้ว อย่างเช่น การแบน Huawei แล้วพี่ทุยว่าเริ่มดูลามมากขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไม่กี่วันก่อน ญี่ปุ่นก็ออกมาแบนเกาหลีใต้เหมือนกัน ซึ่งแบงก์ชาติก็ได้ออกมาเตือนเลยว่าตอนนี้เศรษฐกิจและการค้าโลกเป็นอะไรที่ผันผวนมาก ๆ คาดเดายากมาก พี่ทุยก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าเราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจริงทๆ นอกจากนี้ มีอีกประเด็นที่แบงก์ชาติเอาข้อมูลมาให้ดูกัน ก็คือ แม้ว่าการส่งออกของไทยมันจะแย่ลงแต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้วเราก็ถือว่ายังไม่ได้แย่มากนะ สังเกตจากเส้นกราฟได้เลย ประเทศอื่นนี้หัวทิ่มกว่าเราเยอะ นอกจากนี้แบงก์ชาติยังมองว่าครึ่งหลังของปีนี้ มูลค่าส่งออกน่าจะดีขึ้นได้ พี่ทุยก็แอบหวังเป็นแบบนั้นเหมือนกัน

ครึ่งปีแรก 2019 เศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ?

อีกตัวที่เป็นสาเหตุหลักก็คือภาคท่องเที่ยวของเรานั้นเอง ซึ่งแบงก์ชาติก็มองว่า ตัวที่ทำให้ภาคท่องเที่ยวแย่ลง หลัก ๆ มาจากนักท่องเที่ยวจีนเลยหากสังเกตกราฟดี ๆ จะเห็นเลยว่าเมื่อก่อนนักท่องเที่ยวจีนนี่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักของเรา ตอนนี้ แถบแดง ๆ ของจีนเริ่มไปอยู่แดนลบมาซักพักแล้ว มันก็หมายความว่าคนจีนมาเที่ยวไทยเราน้อยลง ซึ่งพี่ทุยว่ามันก็สอดคล้องกับข่าวที่ออกเมื่อวันก่อนนะที่ว่า GDP จีนโตที่ 6.2% ซึ่งน้อยสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาเลยมันก็หมายถึงว่าเศรษฐกิจจีนมันแย่จริง ๆ แต่ยังไงก็ตามภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้อยู่เฉย ๆ ภาครัฐได้ออกมาตรการสนับสนุนเต็มที่อย่างการขยายเวลายกเลิกค่าธรรมเนียม VISA ที่ด่าน ซึ่งพี่ทุยว่ามันก็น่าจะได้ผลดีแหละ ก็เหมือนที่ญี่ปุ่นให้เราไปโดยไม่ต้องขอ VISA

ครึ่งปีแรก 2019 เศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ?

ตัวที่ยังค่อนข้างโอเค คือ การบริโภคที่ยังโตได้อยู่ โดยแบงก์ชาติก็ได้โชว์รูปที่น่าสนใจอย่างรายได้จากภาคต่าง ๆ (ไม่รวมภาคการเกษตรนะ) จะเห็นว่าทุกหมวดก็ยังมีทิศทางที่ปรับขึ้นอยู่นั้นแหละ แต่จากกราฟก็จะเห็นว่าเริ่มหักหัวลงแล้วเหมือนกัน โดยเฉพาะภาคที่มันเกี่ยวกับการส่งออก ซึ่งพี่ทุยว่าอย่างภาคการผลิตนี่ดูจะเห็นชัดเจนกว่าภาคอื่น ๆ เลยว่าเริ่มชะลอแล้วจริง ๆ

ซึ่งแบงก์ชาติก็มีความเป็นห่วงเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและเป็นห่วงครัวเรือนกลุ่มฐานรากอีกด้วย สำหรับพี่ทุยก็มีความคิดเห็นเหมือนที่แบงก์ชาติเคยบอกนั้นแหละว่า ตอนนี้เศรษฐกิจมี “สองความเร็ว” แม้ตัวเลขโดยรวมจะยังดูดีแต่กลุ่มที่แย่อย่างกลุ่มฐานรากก็มีอยู่จริงซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศด้วยซ้ำ เลยทำให้คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจแย่นั่นเอง

อีกประเด็นที่พี่ทุยอยากจะพูดถึง คือ เรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งในตอนนี้แบงก์ชาติประเมินว่ายังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายพร้อมกับบอกว่า เป้าหมายเราเป็นแบบยืดหยุ่น ซึ่งพี่ทุยจะอธิบายให้ฟังง่าย ๆ แบบนี้ว่า แบงก์ชาติเนี่ยจะมีการกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 1.0- 4.0% ซึ่งเป็นอัตราที่ได้รับการศึกษามาแล้วว่าเหมาะสมกับการเติบโตของประเทศ หากเงินเฟ้อสูงไปมันก็ไม่ดีนะเหมือนประเทศเวเนซุเอลา หรือถ้าเงินเฟ้อต่ำมาก ๆ ก็จะเรียกว่าเงินฝืด คนก็ไม่ค่อยอยากใช้จ่าย มันก็ไม่ดีเหมือนกัน

ซึ่งแบบยืดหยุ่นที่ว่าเนี่ย มันก็หมายถึงว่า หากเงินเฟ้อขยับอยู่ในกรอบนี้ ก็ถือว่าโอเคเลย ขึ้นลงได้ ไม่มีปัญหา นอกจากนี้ก็ต้องดูปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย เช่น ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มเพราะอิหร่านทะเลาะกับสหรัฐฯ ราคาน้ำมันเลยพุ่งสูง ก็ไม่ควรจะไปยุ่งเพราะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน จริงก็เหมือนกับการดูหุ้นนั่นแหละ เดี๋ยวก็กลับมาที่เดิม โดยสรุปแล้วแม้เงินเฟ้อจะต่ำอยู่แต่ก็ถือว่าโอเคไม่ได้แย่อะไร

ครึ่งปีแรก 2019 เศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ?

ข้อมูล ณ​ วันที่ 11 ก.ค. 62 (อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง = อัตราดอกเบี้ยนโยบาย – อัตราเงินเฟ้อ)

อีกรูปที่พี่ทุยชอบมาก ๆ ก็คือการเปรียบเทียบกับระหว่าง “ดอกเบี้ยที่แท้จริง” (อัตราดอกเบี้ยลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ของประเทศต่าง ๆ เทียบกัน จะเห็นว่าของไทยเราค่อนข้างต่ำมาก ๆ แล้ว นอกจากนี้ยังมีรูปการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนมาให้ดูกันอีกด้วยซึ่งก็เห็นว่ามีลักษณะที่ค่อย ๆ เร่งขึ้นเหมือนกัน ซึ่งการก่อหนี้ที่สูงแบบนี้ก็จะส่งผลต่อความเสี่ยงในระบบการเงินของไทยอย่างแน่นอน

พี่ทุยขออธิบายง่าย ๆ แบบนี้ว่า ยิ่งหนี้สูงก็มีโอกาสที่คนจะเบี้ยวหนี้สูงตามไปด้วย หากเบี้ยวกันไปเบี้ยวกันมาสุดท้ายตลาดการเงินก็จะพังนั่นเอง พูดง่าย ๆ คือ เมื่อหนี้สูงก็เป็นปกติที่จะมีความเสี่ยงสูงนั่นเอง

นอกจากนี้แบงก์ชาติยังกล่าวถึงความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้านที่ต้องติดตาม เช่น พวกภาคอสังหาฯ สหกรณ์ออมทรัพย์และ พฤติกรรมแสวงหาผลกำไร หรือการที่นักลงทุนชอบไปลงทุนแบบเสี่ยง ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเยอะ ๆ เกิดเสียขึ้นมาทีนึงเจ็บหนักแน่นอน

ครึ่งปีแรก 2019 เศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ?

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดังนั้นโดยรวมแล้ว แบงก์ชาติจึงประเมินว่า แม้เศรษฐกิจจะแย่ลงแต่ว่าก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาได้อยู่ เงินเฟ้อก็ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ที่ต้องระวังก็คือ ความเสี่ยงที่ดูจะสูงขึ้นมาเหมือนกัน

ตามปกติแล้วจากทฤษฎีที่พี่ทุยเรียนมา หากเศรษฐกิจไม่ดีต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้น เงินเฟ้อต่ำก็ต้องลดดอกเบี้ย ความเสี่ยงภาคการเงินสูงการเพิ่มดอกเบี้ยมันจะช่วยได้ (ดอกเบี้ยสูงคนก็ไม่อยากกู้) จะเห็นว่ามันมีทิศทางที่สวนกันอยู่

ซึ่งแบงก์ชาติประเมินว่าดอกเบี้ยตอนนี้ค่อนข้างต่ำแล้ว ซึ่งก็จริงต่ำจริง ๆ นั่นแหละ และได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ส่วนเรื่องความเสี่ยง แบงก์ชาติก็พยายามใช้เครื่องมืออื่น ๆ มาช่วยแก้ปัญหานี้อยู่ อย่างพวกมาตรการ LTV ที่เพิ่งออกไป กนง. จึงตัดสินให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปก่อน

โดยสรุปแล้วแบงก์ชาติมองว่าเศรษฐกิจปีนี้แย่ลงจากการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่จะเริ่มปรับดีขึ้นเรื่อย ๆ การส่งออกที่แย่ลงถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ เราดูดีกว่าพอสมควร เงินเฟ้อเรายังค่อนข้างโอเคอยู่ แต่ยังมีเรื่องความเสี่ยงที่ต้องระวังให้มาก ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่แบงก์ชาติให้ความสำคัญ โดยแบงก์ชาติมองว่าอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ยังค่อนข้างเหมาะสม

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจด้านอื่น ๆ อีก อย่างเช่น เรื่องการดูแลค่าเงิน ไว้บทความต่อไป พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังอีกทีรับรองว่าสนุกแน่นอน รอติดตามกันไว้ได้เลย!

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply