5 ขั้นตอน การเลือกกองทุนรวม แบบเจาะลึกสำหรับมือใหม่

3 min read  

ฉบับย่อ

  • สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยู่นอกสายการเงิน ส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่ค่อยมีเวลาศึกษาเรื่องลงทุนมากเท่าไร ก็มักจะให้ความสนใจกับกองทุนรวม
  • ถึงแม้การลงทุนอื่นจะน่าสนใจ แต่เราก็เข้าไม่ถึง เช่น พันธบัตรรัฐบาล ที่ปกติต้องซื้อด้วยการประมูลและจำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก
  • การลงทุนในกองทุนรวมไม่ได้ยากอย่างที่คิด ถ้าเราได้ศึกษาหาความรู้ เราก็ไม่ต้องเสียเวลาไปลงทุนตามเพื่อน เพราะการลงทุนตามเพื่อนมีข้อเสียและความเสี่ยงที่เราอาจจะคาดไม่ถึง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

การเลือกกองทุนรวม ทำได้ยังไงบ้าง ? เพราะ กองทุนรวมเป็นสินค้าทางการเงินที่เหมาะกับคนที่ทำงานประจำหรือเป็นมนุษย์เงินเดือน เพราะเราจำเป็นต้องแบ่งเวลามาทำงานของตัวเอง และก็คงจะไม่มีเวลามาดูแลเรื่องการลงทุนสักเท่าไหร่

หลาย ๆ ครั้งก็มีการลงทุนบางประเภทที่เราก็เข้าไม่ถึง เช่น พันธบัตรรัฐบาล ที่โดยปกติต้องซื้อผ่านการประมูลและจำเป็นต้องใช้เงินหลายล้านบาท มนุษย์เงินเดือนแบบเรา ๆ ที่มีเงินเดือนหลักหมื่นคงไม่มีปัญญาเข้าถึง แต่เราก็สามารถลงผ่านกองทุนรวมได้ ซึ่งการลงทุนใน กองทุนรวม ก็มีมืออาชีพช่วยดูแลอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับนักลงทุนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่นอกสายการเงินที่ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาและติดตามเรื่องการลงทุนมากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะสนใจกองทุนรวม แต่คำถามยอดฮิตที่พี่ทุยเจอ คือ กองทุนไหนน่าลงทุนที่สุด ?

บทความนี้พี่ทุยจะพามาหาคำตอบกับขั้นตอนการเลือกกองทุนรวม ถึงแม้ว่าอาจจะเยอะหน่อย แต่พี่ทุยอยากให้อ่านจริง ๆ เพราะมันคุ้มค่ากับการเสียเวลาอ่านแน่นอน

การเลือกกองทุนรวม มีอะไรบ้าง

พี่ทุยสรุป ขั้นตอนการเลือกกองทุนรวมสำหรับมือใหม่มาให้ 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

1. การเลือกกองทุนรวม ก่อนซื้อต้องสำรวจตัวเองกันก่อน

ว่าเราต้องการอะไรจากการลงทุน ลองถามตัวเองสำคัญที่สุด อย่าไปตามคนอื่น เช่น อยากลงทุนในสินทรัพย์อะไร หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ ทองคำหรืออสังหาริมทรัพย์ แล้วต้องการปันผลมั้ย ความเสี่ยงที่รับได้เป็นยังไง ? และระยะเวลาในการลงทุนจะลงนานแค่ไหน ?

และที่สำคัญ ถึงแม้จะลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีมืออาชีพคอยดูแลอยู่ ก็ควรมีความรู้ความเข้าใจในลักษณะของ “สินทรัพย์” ที่กำลังจะลงทุนด้วย เพราะอย่าลืมว่าถ้าสินทรัพย์ที่เรากำลังจะลงทุน อยู่ในจังหวะที่ไม่เหมาะต่อการลงทุนหรืออยู่ในช่วงขาลงก็ยากที่กองทุนรวมจะได้กำไรเช่นกัน

ขั้นตอนแรกจึงต้องเริ่มต้นสำรวจที่ความต้องการของเราก่อนเสมอ เราจะได้รู้ว่าเราควรเลือกดูกองทุนประเภทไหน แล้วจะได้หยิบจับกองทุนรวมที่น่าสนใจมาเปรียบเทียบกันได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

2. ดูรายละเอียดกองทุนรวมผ่าน Fund Fact Sheet ทุกครั้ง

ดูได้จากสิ่งที่มีชื่อเรียกเท่ ๆ ว่า “Fund Fact Sheet” แต่ไม่ต้องสับสนหรือตกใจว่ามันยาก เพราะใน Fund Fact Sheet นั้นบอกเราเกือบทุกอย่าง ว่ากองทุนนั้นมันเป็นยังไง ไม่ว่าจะนำเงินที่เราลงทุนไปลงทุนในอะไร ขนาดกองทุน จ่ายปันผลมั้ย ขั้นต่ำที่ซื้อได้ครั้งละเท่าไร แล้วก็พวกค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็บอกด้วยทั้งหมดเช่นกัน

นอกจากนี้ก็ยังมีพวกอายุของกองทุน ว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะแค่ไหน สภาพคล่องของกองทุน บางกองก็ไม่สามารถขายได้ทันที ควรศึกษาให้ละเอียดหน่อย เพื่อสอดคล้องเป้าหมายการลงทุนของเรา พวกเอกสารก็โหลดได้จากหน้า Website ของ บลจ. ที่ดูแลกองทุนนั้นได้เลย ช่วงแรกอาจจะงง ๆ หน่อย สักพักเราจะอ่านได้คล่องมากขึ้นเอง

3. การเลือกกองทุนรวม ที่ดีต้องให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ

เคยซื้อหวยแล้วถูกบ้างมั้ย ? ตอนที่เราถูกเราคงรู้สึกว่าเรานี่โชคดีสุด ๆ ไปเลย สำหรับพี่ทุยคิดว่ากองทุนรวมก็เหมือนกัน บางกองทุนผลตอบแทนอาจจะดีมากอยู่แค่ 1 ปี ถ้าเป็นลักษณะนี้ก็สรุปไม่ได้ว่ากองทุนรวมนั้นดีจริง เพราะอาจจะแค่โชคดีก็เป็นไปได้

สิ่งที่พี่ทุยดูเสมอคือ “ผลตอบแทนย้อนหลัง” ถ้ามันดีมาอย่างสม่ำเสมอก็เป็นกองทุนที่น่าสนใจ และแน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้หาได้จาก Fund Fact Sheet ได้เช่นกัน

4. ถึงจะเป็นกองทุนก็มีความเสี่ยง

เมื่อขึ้นชื่อว่าการลงทุนแน่นอนว่าต้องมีความเสี่ยง ความเสี่ยงที่การลงทุนจะทำผลตอบแทนไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งกองทุนรวมก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน

ตัวเลขที่เราสามารถวัดค่าความเสี่ยงได้คือ Standard Deviation หรือ S.D. ค่ายิ่งสูง แปลว่า ยิ่งเสี่ยง แต่การใช้ตัวเลขตัวนี้เหมาะกับการเปรียบเทียบกองทุนรวมที่ลงทุนในแหล่งเดียวกันเท่านั้น เช่น กองทุนรวมหุ้นเหมือนกัน หรือกองทุนตราสารหนี้เหมือนกัน

พี่ทุยขอแนะนำ Sharpe Ratio ความหมายง่าย ๆ คือ ยิ่งสูงยิ่งดี หากดูกองทุนที่ประเภทเดียวกันแล้วกองทุนกองไหน Sharpe Ratio สูงกว่า แสดงว่ากองทุนรวมนั้นสามารถทำผลงานได้น่าสนใจกว่า

5. ตรวจสอบและติดตามอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้การลงทุนผ่านกองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนคอยปรับพอร์ตการลงทุนให้เราอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ห้ามลืมโดยเด็ดขาดเลยก็คือ “การตรวจสอบและติดตาม” กองทุนรวมที่เราลงทุนอย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่ากองทุนรวมที่เราเลือกลงทุนอยู่ยังเป็นกองทุนรวมที่ดีและสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า “มาตรฐานการดำเนินงาน (Benchmark)” และกองทุนคู่แข่งอยู่เสมอ หรือถ้ามีผลการดำเนินงานที่ต่ำลง เราก็ควรไปเจาะลึกดูพอร์ตการลงทุนของกองทุนรวมอีกครั้งหนึ่งว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้ววิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร

ถ้าตรวจสอบแล้วยังเป็นกองทุนที่ดีก็สามารถถือลงทุนต่อได้ แต่ถ้าดูแล้วไม่น่าไหว เราก็อาจจะขายแล้วเปลี่ยนไปเลือกกองทุนรวมที่ดี ข้อดีของการลงทุนผ่านกองทุนรวมก็คือ เราสามารถหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเองได้เสมอ

เห็นแล้วใช่มั้ยว่าการลงทุนใน กองทุนรวมไม่ได้ยากอย่างที่คิด ใคร ๆ ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวมได้ คนเราแค่กลัวในสิ่งที่เราไม่รู้เท่านั้นเอง พออ่านถึงตรงนี้เราก็มีความรู้พร้อมที่จะไปลงทุนกองทุนรวมแล้ว เวลาเลือกซื้อของยังเลือกแล้วเลือกอีก เลือกลงทุนทั้งทีก็ต้องเปรียบเทียบให้เต็มที่เพื่อให้เราได้ของดีที่สุดนั่นเอง

แต่สำหรับบางคนอาจจะยังลังเลอยู่อีกว่า เราจะเลือกกองทุนรวมหรือหุ้นดีกว่ากัน แต่ไม่ว่าจะเลือกอะไรก็ตาม เราก็ยังจำเป็นต้องศึกษาเรื่องการลงทุนเอาไว้ให้มาก เพราะถ้าเรารู้และมีข้อมูลมากเพียงพอแล้ว เราก็จะเลิกกลัวและกลายเป็นนักลงทุนที่เก่งและประสบความสำเร็จกับการลงทุนอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่ม

รับชมคลิป “4 ข้อดีของการลงทุนใน “กองทุน” ที่มือใหม่ควรรู้ !” ได้ที่นี่

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย